ภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ไม่สูงพอที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้ภาวะก่อนเบาหวานยังเพิ่ม ปัจจัยเสี่ยง ที่จะพัฒนาเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งโดยทั่วไปภาวะก่อนเบาหวานจะไม่ปรากฏอาการออกมาให้เห็นแน่ชัด การหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เช่น ควบคุมอาหาร รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี อาจลดความเสี่ยงของการเป็นเบาหวานได้
ภาวะก่อนเบาหวาน คืออะไร
ภาวะก่อนเบาหวาน คือ ภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ไม่สูงพอที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ข้อมูลจากสมาคมเบาหวานนานาชาติ ชี้ว่า 1 ใน 3 คนเป็นภาวะก่อนเบาหวาน และ 9 ใน 10 คน มักไม่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงประสบกับภาวะก่อนเบาหวาน
โดยทั่วไปภาวะก่อนเบาหวานอาจไม่ปรากฏอาการออกมาให้เห็นแน่ชัด แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสดงออกมา ดังนี้
- สีผิวเปลี่ยนเข้มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ ข้อศอก เข่า ปัสสาวะบ่อย
- อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- ปัสสาวะบ่อย
- มองเห็นไม่ชัด
ปัจจัยเสี่ยง ภาวะก่อนเบาหวาน
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะก่อนเบาหวาน แต่อาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยง ดังต่อไปนี้
- น้ำหนักเกินมาตรฐาน
น้ำหนักเกินมาตรฐานหรือภาวะอ้วน คือ ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร เมื่อร่างกายมีการสะสมของไขมันมากกว่าปกติ อาจทำให้ฮอร์โมนอะดิโปเนคติน (Adiponectin) ที่สร้างจากเนื้อเยื่อไขมันในเลือดต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน และเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน
- รอบเอว
ผู้ที่มีรอบเอวมากกว่าปกติ โดยผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่า 40 นิ้ว และผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่า 35 นิ้ว อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน
- รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์
การรับประทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม นมปรุงแต่งรส ผลไม้แปรรูป อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน
- ขาดการออกกำลังกาย
ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะเวลาที่ออกกำลังกายร่างกายจะใช้น้ำตาลในเลือดเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน อาจช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
- คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากสมาชิกในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคเบาหวานมาก่อน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป
- ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นภาวะที่ส่งผลให้ผู้หญิงมีประจำเดือนผิดปกติ มีลักษณะทางร่างกายที่เปลี่ยนไป เช่น มีขนขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย สิวขึ้น ผมร่วง น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของภาวะก่อนเบาหวาน
- ปัญหาด้านการนอนหลับ
ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น การอดนอน นอนไม่เป็นเวลา นอนไม่หลับ อาจทำให้ระดับน้ำตาลสูงกว่าปกติ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะก่อนเบาหวาน และโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- มีกลุ่มอาการของโรคอ้วนลงพุง
ผู้ที่มีกลุ่มอาการของโรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ซึ่งสาเหตุที่เชื่อมโยงกับภาวะก่อนเบาหวานนั้น อาจมาจาก ความดันโลหิตสูง มีคอเลสเตอรอล และมีระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์มาก เมื่อถูกสะสมไว้มาก ๆ และไม่มีการปรับพฤติกรรมใด ๆ เพื่อแก้ไข อาจสามารถพัฒนาเข้าสู่โรคเบาหวานได้ในที่สุดเช่นเดียวกัน
การป้องกัน ภาวะก่อนเบาหวาน
วิธีดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะก่อนเบาหวาน อาจมีดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เน้นการรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือ 5 วัน/สัปดาห์ วันละ 30 นาที
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยมีค่าดัชนีมวลกายระหว่าง 18.5-22.90 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ควบคุมความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลภายในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และจำกัดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
[embed-health-tool-bmi]