เบาหวานชนิดที่ 2 อาการ สาเหตุ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 18/12/2022

เบาหวานชนิดที่ 2 อาการ สาเหตุ และการรักษา

เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus) เป็นภาวะเรื้อรังที่ส่งผลต่อการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด เกิดจากร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามปกติ อีกทั้งภาวะที่ร่างกายสังเคราะห์อินซูลิน (Insulin) ได้ไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เช่นกัน

คำจำกัดความ

เบาหวานชนิดที่ 2 คืออะไร

เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus) เป็นภาวะเรื้อรังที่ส่งผลต่อการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด เกิดจากร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามปกติ นอกจากนี้ ภาวะที่ร่างกายสังเคราะห์อินซูลิน (Insulin) ได้ไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เช่นกัน

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่อาจควบคุมอาการของโรคได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกาย และการควบคุมน้ำหนัก แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีตามต้องการ ก็อาจต้องใช้อินซูลินหรือยารักษาเบาหวานร่วมด้วย

เบาหวานชนิดที่ 2 พบได้บ่อยได้แค่ไหน

เบาหวานชนิดที่ 2 อาจพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก แต่ในปัจจุบัน เด็กป่วยเป็นโรคอ้วนซึ่งถือเป็นโรคที่เสี่ยงเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ได้มาก จึงอาจส่งผลให้จำนวนเด็กที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี การดูแลสุขภาพให้ดีอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

อาการ

อาการของเบาหวานชนิดที่ 2

สัญญาณและอาการของเบาหวานชนิดที่ 2 มักเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ บางครั้งผู้ป่วยอาจเป็นเบาหวานมานานหลายปีโดยไม่รู้ตัว โดยอาการที่พบได้ทั่วไปของเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่

  • กระหายน้ำมากขึ้นและปัสสาวะบ่อย น้ำตาลส่วนเกินในกระแสเลือด ทำให้เนื้อเยื่อสูญเสียน้ำ อาจทำให้กระหายน้ำ ดื่มบ่อยน้ำ และปัสสาวะมากกว่าปกติ
  • หิวบ่อยขึ้น เมื่ออินซูลินไม่เพียงพอ การดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ กล้ามเนื้อ และอวัยวะต่าง ๆ อาจป็นไปได้ยากขึ้น ส่งผลให้ไม่มีพลังงานและอาจทำให้รู้สึกหิวบ่อย
  • น้ำหนักลดลง แม้จะหิวบ่อยจนรับประทานมากขึ้น แต่น้ำหนักก็อาจลดลง เพราะร่างกายเผาผลาญกลูโคส (Glucose) มาใช้เป็นพลังงานไม่ได้ เลยต้องใช้พลังงานจากกล้ามเนื้อและไขมันแทน จึงอาจส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลง
  • อ่อนเพลีย หากเซลล์ไม่มีน้ำตาล อาจทำให้อ่อนเพลีย และหงุดหงิดง่าย
  • มองเห็นไม่ชัด หากน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป น้ำในเลนส์ดวงตาอาจแห้งลง และส่งผลให้มองเห็นไม่ชัด
  • แผลหายช้าหรือติดเชื้อบ่อย เบาหวานชนิดที่ 2 ส่งผลต่อความสามารถในการรักษาและต้านการติดเชื้อ
  • ผิวบางจุดคล้ำขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 บางรายอาจมีผิวบริเวณคล้ำขึ้น หรือหนังด้านขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหลังคอและรักแร้

สาเหตุ

สาเหตุของเบาหวานชนิดที่ 2

เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากร่างกายดื้อต่ออินซูลิน หรือตับอ่อนสังเคราะห์อินซูลินได้ไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติได้ น้ำตาลจึงสะสมอยู่ในกระแสเลือดมากเกินไป และเกิดเป็นเบาหวานชนิดที่ 2

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 มีหลายประการ เช่น

  • น้ำหนักเกิน ภาวะน้ำหนักเกินอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเบื้องต้นของเบาหวานชนิดที่ 2 ยิ่งร่างกายมีเนื้อเยื่อไขมันมากเท่าไร เซลล์ก็อาจยิ่งดื้อต่ออินซูลินมากขึ้นเท่านั้น
  • การกระจายตัวของไขมัน หากร่างกายสะสมไขมันไว้ในช่องท้องเป็นหลัก ความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 จะสูงกว่าการสะสมไขมันไว้ในบริเวณอื่น เช่น สะโพก ต้นขา
  • การไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ยิ่งเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้น เนื่องจาก ร่างกายไม่ได้ทำการเผาผลาญไขมัน ดังนั้น ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะช่วยควบคุมน้ำหนัก กระตุ้นการเปลี่ยนกลูโคสเป็นพลังงาน และทำให้เซลล์ไวต่ออินซูลินมากขึ้น
  • ประวัติครอบครัว ความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 จะเพิ่มขึ้น หากพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
  • อายุ ความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะเพิ่มขึ้น เมื่อมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออายุเกิน 45 ปี เนื่องจากคนวัยนี้เริ่มออกกำลังกายน้อยลง สูญเสียมวลกล้ามเนื้อมากขึ้น และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น แต่ในปัจจุบัน อัตราการเกิดโรคเบาหวานในเด็ก วัยรุ่น และวัยหนุ่มสาวก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

การวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยเบาหวานชนิดที่ 2

หากคุณหมอสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 คุณหมออาจให้เข้ารับการตรวจร่างกายและการตรวจวินิจฉัยโรค ดังต่อไปนี้

  • การตรวจฮีโมโกลบิน A1C เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การทดสอบน้ำตาลสะสมในเลือด (Glycosylated Hemoglobin Test) การทดสอบนี้เป็นการวัดระดับกลูโคสในเลือดโดยเฉลี่ยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา การทดสอบนี้ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร และคุณหมอสามารถวินิจฉัยได้ตามผลการทดสอบ
  • การตรวจกลูโคสในพลาสม่า จำเป็นต้องอดอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ เพื่อวัดปริมาณกลูโคสในพลาสม่า
  • การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล คุณหมอจะเจาะเลือด จากนั้น จะให้ผู้ป่วยดื่มสารละลายกลูโคสในปริมาณที่กำหนด และเจาะเลือดอีกครั้งเมื่อครบ 2 ชั่วโมง เพื่อนำเลือดไปทดสอบว่าร่างกายจัดการกลูโคสก่อนและหลังดื่มได้ดีเพียงใด

การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2

การรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเกี่ยวข้องกับการจัดการระดับน้ำตาลในเลือด หลายคนอาจรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร และจัดการความเครียด ทำให้สุขภาพดีขึ้น หรือบางคนอาจต้องรับประทานยาร่วมด้วย ซึ่งวิธีการรักษาเบาหวานอาจทำได้ดังนี้

  • การลดน้ำหนัก

เมื่อน้ำหนักตัวลดลง ระดับน้ำตาลในเลือดก็อาจลดลงไปด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ผู้ป่วยควรลดน้ำหนักลงให้ได้อย่างน้อย 7% ของน้ำหนักตัว เช่น หากน้ำหนัก 82 กิโลกรัม ก็ควรลดน้ำหนักให้ได้ 5.9 กิโลกรัม เมื่อน้ำหนักลดลงก็อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น

  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

การรับประทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงให้น้อยลง กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น รวมถึงการบริโภคไฟเบอร์เพิ่มขึ้น ถือเป็นเคล็ดลับในการรับประทานอาหารที่ดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2

หากไม่ทราบว่าควรรับประทานอาหารชนิดใด ควรงด หรือลดอาหารชนิดใด อาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ นักโภชนาการ เพื่อให้ได้รับคำตอบที่เหมาะสมกับตนเองที่สุด

  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง 30-60 นาที หรือออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นสูง 15-30 นาทีเป็นประจำทุกวัน อาจช่วยให้ร่างกายรับมือกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ดีขึ้น

รูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดิน การเต้น การว่ายน้ำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายแบบแรงต้าน (Resistance Exercise) เช่น การยกน้ำหนัก โยคะ สัปดาห์ละ 2 วัน

  • การเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือด

แผนการเฝ้าระวังของผู้ป่วยแต่ละคนขึ้นอยู่กับอาการและระดับความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยบางรายอาจต้องตรวจและบันทึกระดับน้ำตาลในเลือดวันละหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้อินซูลิน ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องการ

  • การใช้ยาเบาหวาน หรือการฉีดอินซูลิน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 บางรายอาจต้องใช้ยาเบาหวาน หรือฉีดอินซูลินด้วย โดยยาที่นิยมใช้ในการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 อาจได้แก่

    • ยาเมตฟอร์มิน (Metformin) เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน จึงส่งผลให้ร่างกายใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย แต่อาจลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงของยาด้วยการรับประทานยาหลังอาหารทันที
    • ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) เพื่อช่วยให้ร่างกายหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้น ยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ทำให้น้ำหนักตัวขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
    • ยากลุ่มเมกลิทิไนด์ (Meglitinides) เพื่อช่วยให้ร่างกายหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้น แต่ยากลุ่มนี้แตกต่างจากยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียตรงที่ออกฤทธิ์เร็วกว่า แต่ก็หมดฤทธิ์เร็วกว่าด้วย

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับเบาหวานชนิดที่ 2

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองตามเคล็ดลับต่อไปนี้ อาจช่วยให้รับมือกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นรับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรี่ต่ำ อาหารที่มีไฟเบอร์สูง และกินผัก ผลไม้ และธัญพืชเต็มเมล็ดให้มากขึ้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ควรออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางวันละ 30-60 นาที หรือออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นสูงวันละ 15-30 นาที
  • ตรวจวัดระดับของน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ โดยอาจต้องตรวจน้ำตาลในเลือด 4-8 ครั้ง/วัน หากมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ ทั้งอาหารเหลวและอาหารแข็ง ควรปรึกษาคุณหมอทันที
  • หากระดับของน้ำตาลในเลือดแปรปรวน โปรดติดต่อคุณหมอทันที
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี
  • ตรวจสุขภาพเท้าทุกวัน หากพบความผิดปกติใด ๆ ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 18/12/2022

โฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

โฆษณา
โฆษณา
โฆษณา