backup og meta

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล กับข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 16/06/2022

    สารให้ความหวานแทนน้ำตาล กับข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

    สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือน้ำตาลเทียม คือ สารที่ใช้เติมในอาหารและเครื่องดื่ม สามารถให้รสชาติหวานได้เหมือนน้ำตาล แต่อาจไม่มีแคลอรี่หรือคาร์โบไฮเดรตเหมือนน้ำตาล จึงอาจเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลในเลือด เช่น โรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม การศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสารให้ความหวานแทนน้ำตาล อาจช่วยให้บริโภคสารชนิดนี้ได้เหมาะสมและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพได้

    สารให้ความหวานแทนน้ำตาล คืออะไร

    สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือน้ำตาลเทียม คือ สารที่ใช้เติมในอาหารและเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มรสหวานได้เหมือนน้ำตาล แต่อาจไม่มีแคลอรี่หรือคาร์โบไฮเดรตเหมือนน้ำตาล นิยมใช้ในอาหารและเครื่องดื่มที่ผ่านกระบวนการ เช่น น้ำอัดลม ขนมอบ ขนมหวานแช่แข็ง ลูกอม โยเกิร์ตแคลอรี่ต่ำ หมากฝรั่ง หรือบางคนอาจเติมสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในกาแฟ ชา และซีเรียลได้ด้วย

    ในปัจจุบัน มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration หรือ FDA) และกระทรวงสาธารณสุขไทยรับรองให้ใช้ได้อย่างปลอดภัย ดังนี้

  • แอสปาร์แตม (Aspartame) ให้ความหวานได้มากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 200 เท่า อย่างไรก็ตาม ระดับความหวานที่ได้อาจลดลงหากเติมในอาหารหรือเครื่องดื่มร้อนจัด ผู้ที่เป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria หรือ PKU) ซึ่งเป็นภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน ควรหลีกเลี่ยงสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดนี้
  • เอซีซัลเฟม โพแทสเซียม (Acesulfame Potassium) หรือที่เรียกว่า Ace-K หวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 200 เท่า นิยมใช้ร่วมกับสารให้ความหวานชนิดอื่น ๆ
  • สตีเวีย (Stevia) หรือหญ้าหวาน เป็นพืชที่ให้ความหวานได้มากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 300 เท่า พบได้ในรูปแบบใบสด ใบแห้ง หญ้าหวานผง น้ำเชื่อมหญ้าหวาน เป็นต้น
  • ซูคราโลส (Sucralose) หวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 600 เท่า
  • นีโอแตม (Neotame) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 7,000 เท่า
  • น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar Alcohol) หรือ โพลิไฮดริกแอลกอฮอล์ (Polyhydric alcohol) เช่น ไซลิทอล ไซลิทอล (Xylitol) ซอร์บิทอล (Sorbitol) ให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลทราย คือประมาณ 1.5-3 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม ในขณะที่น้ำตาลทรายให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม
  • สารให้ความหวานแทนน้ำตาลกับโรคเบาหวาน

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งจากประเทศออสเตรเลียที่เผยแพร่ใน HealthDay News เมื่อเดือนกันยายน ปี 2017 ระบุว่า การบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในปริมาณมาก อาจส่งผลต่อการตอบสนองต่อน้ำตาลของร่างกาย และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังสนับสนุนแนวคิดที่ว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลสามารถลดความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกาย และการบริโภคในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้พัฒนาเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ด้วย

    อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยขนาดเล็ก ที่มีกลุ่มตัวอย่าง 27 คน ดังนั้นจึงยังคงต้องการการศึกษาเพิ่มเติม แต่งานวิจัยชิ้นนี้ก็ได้เน้นย้ำข้อมูลที่ว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาล สามารถส่งผลต่อการตอบสนองของร่างกายต่อกลูโคส (Glucose) ได้

    นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Nature ได้ให้ข้อมูลว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ให้พลังงาน 0 กิโลแคลอรี่ เช่น แซ็กคาริน ซูคราโลส แอสปาร์แตม สามารถส่งผลกระทบต่อไมโครไบโอม (Microbiome) ในลำไส้ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ที่อาศัยอยู่ในระบบย่อยอาหาร จนอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หากร่างกายไม่สามารถรับมือกับน้ำตาลในปริมาณมาก อาจเกิดภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) และอาจพัฒนาเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

    ผู้ที่เป็นเบาหวาน กินสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้หรือไม่

    โดยทั่วไปแล้ว สารให้ความหวานแทนน้ำตาลถือว่าปลอดภัย และยังปลอดภัยสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีพลังงาน หรือให้พลังงานต่ำ ทั้งยังอาจไม่มีคาร์โบไฮเดรต จึงอาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานโดยไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด

    อย่างไรก็ตาม ดานา แองเจโล ไวท์ (Dana Angelo White) นักโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัย Quinnipiac ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้ข้อมูลว่า การกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาลก็เหมือนกับการกินน้ำตาลปกติ ถ้ากินมากเกินไป สามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ และถึงแม้ว่าหลายคนจะใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเพื่อการลดน้ำหนัก แต่หากไม่ควบคุมปริมาณการกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ก็สามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด และเพิ่มความเสี่ยงสุขภาพได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ตาบอด ทำให้เส้นประสาทและไตเสียหาย

    การบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในปริมาณมากและในระยะยาว จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการจึงมักจะแนะนำว่า ไม่ว่าจะเป็นการกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรืออาหารประเภทใดก็ตาม การกินในปริมาณที่พอดีถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 16/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา