10 อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    10 อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

    โรคเบาหวาน คือ ภาวะสุขภาพเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนน้ำตาลในกระแสเลือดให้เป็นพลังงาน หากเป็นเบาหวาน ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลให้เป็นพลังงานได้เท่าที่ควร ซึ่งหลายคนอาจอยากทราบว่า อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีอะไรบ้าง เพื่อจะได้สังเกตตัวเองและสามารถรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยป้องกันโรคเบาหวานหรือบรรเทาอาการของโรคที่เกิดขึ้นได้

    10 อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน

    อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 ชนิดที่ 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีความคล้ายคลึงกันอยู่หลายอาการ ดังนี้

  • หิวและเหนื่อยล้ามากกว่าปกติ เพราะร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินที่มีหน้าที่ในการส่งน้ำตาลกลูโคสไปยังเซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน ส่งผลให้ร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอ จนมีอาการหิวและเหนื่อยล้ามากกว่าปกติ
  • ปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำ เนื่องจากไตทำงานหนักขึ้นเพื่อขับน้ำตาลส่วนเกินในเลือดออกทางปัสสาวะ ส่งผลให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อยขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับความกระหายน้ำที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะร่างกายต้องการน้ำเพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปจากการขับปัสสาวะ
  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกร่างกายไม่สามารถส่งน้ำตาลกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายขาดพลังงานจนอาจเริ่มกระบวนการเผาผลาญไขมันและกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว
  • ตาพร่ามัว เนื่องจากระดับของเหลวในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เลนส์ตาบวมและเปลี่ยนแปลงรูปร่าง จนส่งผลกระทบต่อการมองเห็น
  • แผลหายช้าและติดเชื้อง่าย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและเป็นแหล่งอาหารของเชื้อรา จึงทำให้เชื้อราเจริญเติบโตมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอจนติดเชื้อได้ง่ายขึ้นและแผลหายช้าลง
  • ปากแห้งและผิวแห้ง เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำมากจากการขับปัสสาวะที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ปริมาณน้ำลายลดลงจนทำให้ปากแห้ง นอกจากนี้ เมื่อร่างกายขาดน้ำก็อาจทำให้ผิวแห้งและเกิดอาการคันได้ด้วย
  • คลื่นไส้ อาเจียน เมื่อร่างกายหันมาเผาผลาญไขมันและกล้ามเนื้อมากขึ้น ก็อาจทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis หรือ DKA) ส่งผลให้เกิดอาการไม่สบายท้องและมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
  • คันอวัยวะเพศ การขับปัสสาวะที่มีน้ำตาลสูงอาจทำให้เชื้อราชนิดไม่ดีบริเวณอวัยวะเพศเจริญเติบโตได้ดี จนทำให้เกิดอาการคันที่อวัยวะเพศได้
  • ปวดหรือชาบริเวณมือ เท้า หรือขา เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงจึงส่งผลให้เส้นประสาทเกิดความเสียหายอย่างหนักจนเกิดอาการชาและเจ็บปวดขึ้น
  • สีผิวเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบริเวณคอ ข้อพับ ขาหนีบ และรักแร้ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากภาวะดื้อต่ออินซูลินที่อาจทำให้สีผิวเปลี่ยนแปลง หรือผู้ป่วยเบาหวานบางคนที่มีขนาดตัวใหญ่ จนอาจทำให้ผิวหนังเสียดสีกันมากขึ้นจนสีผิวเปลี่ยนไป
  • การดูแลตัวเองของผู้ป่วยเบาหวาน

    ผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ รับประทานยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการบางอย่างได้ ดังนี้

    • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เน้นรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช และอาหารที่มีเส้นใยสูง ซึ่งอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันดี วิตามินและเกลือแร่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน และควรหลีกเลี่ยงอาหารน้ำตาลและไขมันสูงที่อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายอาจช่วยลดไขมันสะสม ช่วยลดน้ำหนักส่วนเกิน และลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมให้สุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย
    • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังตื่นนอน ก่อนรับประทานอาหาร หลังรับประทานอาหาร และก่อนนอน เพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด และยังอาจช่วยควบคุมการรับประทานอาหารได้
    • ใช้ยารักษาเบาหวานตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และเข้าพบคุณตามนัดหมายอยู่เสมอ เพื่อติดตามอาการและตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจช่วยป้องกันการลุกลามของโรคที่อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น รวมถึงอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 3 สัปดาห์ก่อน

    โฆษณา
    โฆษณา
    โฆษณา
    โฆษณา