คลอดก่อนกำหนด (Preterm Birth) หมายถึง ภาวะที่คุณแม่คลอดบุตรตอนอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด 37 สัปดาห์นี้ ซึ่งมักเกิดขึ้นกะทันหัน ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และในบางราย อาจเป็นอันตรายต่อแม่และทารกได้ โดยปกติแล้วอายุการตั้งครรภ์จนถึงวันคลอดจะอยู่ที่ประมาณ 40 สัปดาห์ หรือ 280 วัน เพราะหากทารกลืมตาดูโลกตอนอายุครรภ์น้อยอาจมีพัฒนาการที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่และเสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อนได้
[embed-health-tool-due-date]
สาเหตุที่อาจทำให้ คลอดก่อนกำหนด
คลอดก่อนกำหนด เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาสุขภาพของทารกในครรภ์ ปัญหาสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่มากกว่า 50% ของการคลอดก่อนกำหนดนั้นไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด มีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการก่อให้เกิดการคลอดกำหนดได้
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด
- เคยเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
- ตั้งครรภ์แฝด เช่น แฝดสอง แฝดสาม หรือมากกว่า
- ระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์ครั้งปัจจุบันห่างจากครั้งก่อนน้อยกว่า 6 เดือน
- ตั้งครรภ์โดยการทำเด็กหลอดแก้ว หรือไอวีเอฟ (In Vitro Fertilization หรือ IVF)
- รก มดลูก หรือปากมดลูกมีความผิดปกติ
- สูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด หรือใช้ยารักษาโรคอย่างไม่เหมาะสม
- เกิดการติดเชื้อหรือการอักเสบ โดยเฉพาะที่ถุงน้ำคร่ำ และอวัยวะส่วนล่างในอุ้งเชิงกราน เช่น ปากมดลูก ช่องคลอด
- เป็นโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
- มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ในช่วงก่อนตั้งครรภ์
- เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เครียดจัด เช่น คนในครอบครัวเสียชีวิต ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
- เคยแท้งบุตร หรือเคยทำแท้งหลายครั้ง
- มีอาการบาดเจ็บทางร่างกาย
วิธีป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด
แม้ภาวะคลอดก่อนกำหนดมักจะเกิดขึ้นแบบกะทันหัน แต่หากปฏิบัติตัวตามวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้
เข้าพบคุณหมอเป็นประจำ
หากสงสัยหรือรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด และเมื่อคุณหมอนัดตรวจครรภ์ ควรไปตามนัดทุกครั้ง หากมีเหตุให้ไปตามนัดไม่ได้ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ เจ้าหน้าที่จะได้กำหนดตารางนัดหมายใหม่ให้ และอย่าลืมเข้ารับการตรวจคัดกรอง เพื่อตรวจสอบสุขภาพของตัวเองและทารกในครรภ์ตามที่คุณหมอแนะนำด้วย
ป้องกันการติดเชื้อ
การติดเชื้อเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด จึงควรป้องกันการติดเชื้อทุกชนิด ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการเก็บหรือสัมผัสอุจจาระแมว ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ดิบ หรือนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์
ดูแลสุขภาพกายให้ดี
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ งดไขมันทรานส์ อาหารโซเดียมสูง หรืออาหารน้ำตาลสูง ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและอาการบวมน้ำ รับประทานวิตามินบำรุงครรภ์ตามที่คุณหมอสั่ง ออกกำลังกายตามคำแนะนำของคุณหมอ พยายามเพิ่มน้ำหนักให้ได้ 11-15 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์
ดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรง
คุณแม่ต้องไม่ลืมดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น การฝึกโยคะ การเดิน การนั่งสมาธิ หากรู้สึกซึมเศร้าหรือวิตกกังวลผิดปกติ ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที
ดูแลสุขภาพของทารกในครรภ์
นอกจากจะดูแลสุขภาพของตัวคุณเองแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ควรสุขภาพของทารกในครรภ์ ด้วยการไม่สูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ยาเสพติด หากมีพฤติกรรมดังกล่าว ควรรีบเลิกให้ได้โดยเร็วที่สุด
หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีปัญหาสุขภาพอื่นอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ควรควบคุมโรคที่เป็นอยู่ให้ดีและแจ้งให้คุณหมอทราบเพื่อแนะนำได้ถูกต้อง หรือหากอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีการใช้ความรุนแรง หรือมีการทำร้ายร่างกาย อาจต้องออกมาจากความสัมพันธ์นั้น ก่อนจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเองและทารกในครรภ์