backup og meta

คลอดลูก สัญญาณเตือน ความเสี่ยงและการดูแลตัวเอง

คลอดลูก สัญญาณเตือน ความเสี่ยงและการดูแลตัวเอง

การคลอดลูก มีทั้งการคลอดแบบธรรมชาติและการผ่าคลอด ซึ่งคุณหมออาจต้องพิจารณาสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ ก่อนตัดสินใจเลือกวิธีการคลอดที่เหมาะสมหากคุณแม่สังเกตพบสัญญาณเตือนการคลอดลูก เช่นเจ็บท้อง น้ำคร่ำไหล ควรรีบเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อทำการคลอดทันที

[embed-health-tool-due-date]

การคลอดลูก มีกี่แบบ

การคลอดลูกมีด้วยกัน 2 แบบ ดังนี้

การคลอดลูกแบบธรรมชาติ

เป็นวิธีการเบ่งคลอดลูกโดยไม่ใช้การผ่าตัด อาจมีการควบคุมลมหายใจเป็นจังหวะ เพื่อช่วยเพิ่มแรงในการเบ่งลูกออกมา การคลอดลูกแบบธรรมชาติอาจใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะสุขภาพของคุณแม่ การคลอดลูกแบบธรรมชาติมีหลายเทคนิคด้วยกันทั้งการคลอดลูกตามปกติ และการคลอดลูกในอ่างน้ำ เพื่อช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลาย และลดการบาดเจ็บ

การคลอดลูกแบบธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 คือระยะหดตัวและขยายตัวของมดลูก คุณแม่อาจรู้สึกว่ามดลูกมีการหดและขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 3-10 นาที ซึ่งอาจต้องรอจนกว่าจะปากมดลูกขยายกว้างถึง 10 เซนติเมตร เพื่อให้พอดีกับขนาดศีรษะของลูก จึงจะเริ่มทำการเบ่งคลอดคุณแม่อาจรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งเมื่อมีการหดตัวและขยายตัวของช่องคลอด บางคนอาจมีสารคัดหลั่งสีใส หรือมีเลือดออกมาเล็กน้อย คุณแม่อาจบรรเทาอาการเจ็บปวดและทำตัวให้ผ่อนคลายมากขึ้น ด้วยการเปิดฟังเพลงสบาย ๆ อาบน้ำ ลุกขึ้นเดิน
  • ระยะที่ 2 คือระยะที่ปากมดลูกขยายตัวเตรียมพร้อมคลอด เมื่อปากมดลูกขยายถึง 10 เซนติเมตร คุณหมอจะเริ่มให้คุณแม่กำหนดลมหายใจเข้า-ออก เพื่อเบ่งทารก ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง เมื่อศีรษะทารกโผล่ คุณหมอจะให้คุณแม่หยุดเบ่งและหายใจเข้าสั้น ๆ ทางจมูกและหายใจออกทางปาก เพื่อให้ทารกคลอดออกมาอย่างช้า ๆ ป้องกันช่องคลอดฉีกขาด
  • ระยะที่ 3 คือระยะการคลอด หลังจากที่ทารกคลอดมา คุณหมอจะเย็บแผลบริเวณปากช่องคลอด และอาจนวดท้องหน้าคุณแม่เพื่อช่วยกระตุ้นให้มดลูกหดตัวและขจัดรกที่ตกค้างออก ทำให้เลือดไหลน้อยลง

การผ่าคลอด

เป็นวิธีการทำคลอดในกรณีที่คุณแม่ต้องการกำหนดวันคลอดของลูก หรือคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ทารกไม่กลับหัว ปากมดลูกขยายไม่เพียงพอ สายสะดือย้อย รกเกาะต่ำ โดยคุณหมออาจเริ่มจากการทำความสะอาดหน้าท้อง และใส่สายสวนเข้าไปทางกระเพาะปัสสาวะเพื่อดูดปัสสาวะออก บางคนอาจผ่าตัดโดยการวางยาสลบ หรืออาจบล็อกหลังเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด จากนั้นจึงจะใช้มีดผ่าตัดกรีดตั้งแต่สะดือลงมาเป็นเส้นตรง หรือกรีดเป็นแนวยาวบริเวณท้องน้อย นำทารกออกจากท้อง จากนั้นจึงเย็บปิดแผลให้เรียบร้อย โดยปกติการผ่าคลอดมักใช้เวลาประมาณ 40-50 นาที

สัญญาณการคลอดลูก

สัญญาณเตือนเมื่อใกล้คลอด สังเกตได้ดังนี้

  • ปวดหลัง
  • ปวดท้องหรือท้องแข็งเป็นพัก ๆ
  • น้ำคร่ำไหล
  • มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด เนื่องจากปากมดลูกเริ่มเปิดขยาย
  • ปวดหน่วงบริเวณช่องคลอด เนื่องจากศีรษะทารกดันบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • รู้สึกอยากเข้าห้องน้ำบ่อยครั้ง เนื่องจากศีรษะทารกกดทับลำไส้

ความเสี่ยงหลังการคลอด

ความเสี่ยงหลังการคลอดที่พบบ่อย คืออาการตกเลือด ซึ่งเป็นภาวะที่มีเลือดออกทางช่องคลอดมากกว่าปกติ  ปกติแล้วมดลูกจะหดตัวเพื่อขจัดรกออกมาจากช่องคลอด แต่หากมดลูกไม่หดตัว เลือดที่อยู่ในบริเวณรกจะไหลออกมาในปริมาณมากนำไปสู่การตกเลือด ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ เสี่ยงเกิดอาการช็อก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้หรือเกิดการบาดเจ็บ 

นอกจากนี้ ยังอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก กล้ามเนื้อมดลูก และรอบ ๆ มดลูก หากสังเกตว่ามีไข้ อาการหนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดท้องน้อย มดลูกบวม ตกขาวมีกลิ่น หัวใจเต้นเร็ว ควรพบคุณหมอทันที เพื่อรับการรักษาและลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด ลิ่มเลือดในอุ้งเชิงกราน เส้นเลือดอุดตัน

การดูแลตัวเองหลังคลอดลูก

การดูแลตัวเองหลังคลอด มีดังนี้

  • พักผ่อนให้มาก ๆ เพื่อฟื้นฟูให้ร่างกายกลับมาแข็งแรง อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงดูทารกแรกเกิดอาจทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อย คุณแม่อาจขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างในการช่วยดูแลลูก เพื่อไม่ให้เหนื่อยล้ามากเกินไปจนเสียสุขภาพ
  • ออกกำลังกายในระดับเบาด้วยการเดิน เพื่อช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงาน กระชับกล้ามเนื้อส่วนแขนและขา และอาจช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงไวขึ้น
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว ผลไม้ น้ำผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เพื่อช่วยให้ฟื้นตัวหลังการคลอดลูก
  • งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลคลอดจะหาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำตามที่คุณหมอกำหนด นอกจากนี้ หากสังเกตว่ามีไข้ เลือดออกมาก มีอาการเจ็บปวด เบื่ออาหาร เหนื่อยล้า ซึมเศร้า หรือแผลบวม ควรเข้าพบคุณหมอทันที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Types of Delivery. https://www.webmd.com/baby/guide/delivery-methods. Accessed February 11, 2022       

Natural Childbirth Techniques. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/labor-and-birth/natural-childbirth-techniques/. Accessed February 11, 2022        

Cesarean delivery (C-section). https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/c-section/about/pac-20393655. Accessed February 11, 2022        

The stages of labour and birth. https://www.nhs.uk/pregnancy/labour-and-birth/what-happens/the-stages-of-labour-and-birth/. Accessed February 11, 2022        

Stages of labor and birth: Baby, it’s time!. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/labor-and-delivery/in-depth/stages-of-labor/art-20046545. Accessed February 11, 2022        

The New Mother: Taking Care of Yourself After Birth. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=the-new-mother-taking-care-of-yourself-after-birth-90-P02693. Accessed February 11, 2022        

Postpartum Hemorrhage. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=postpartum-hemorrhage-90-P02486. Accessed February 11, 2022        

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/11/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการใกล้คลอด ปวดหน่วง เป็นอย่างไร ควรบรรเทาอาการอย่างไร

คลอดลูกในน้ำ คืออะไร มีประโยชน์และความเสี่ยงอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา