backup og meta

คลอด เอง กับ ผ่า คลอด มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

คลอด เอง กับ ผ่า คลอด มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

วิธีการคลอดบุตรมี 2 วิธี คือ คลอด เอง กับ ผ่า คลอด ซึ่งมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปแล้วคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรที่จะสามารถคลอดเองทางธรรมชาติได้ ยกเว้นแต่ว่าจะมีข้อห้ามในการคลอดทางช่องคลอด หรือมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอด ซึ่งต้องประเมินจากหลายปัจจัย เช่น ภาวะสุขภาพของคุณแม่ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ตำแหน่งของทารกหรือตำแหน่งของรกในครรภ์ เป็นต้น ดังนั้น คุณแม่แต่ละคนจึงต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพครรภ์ตามนัดหมายอยู่เสมอ และปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับวิธีการคลอดที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและทารกในครรภ์

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

คลอด เอง กับ ผ่า คลอด ต่างกันอย่างไร

คลอดเองกับผ่าคลอดมีความแตกต่างกัน โดยการคลอดเองเป็นวิธีคลอดแบบธรรมชาติทางช่องคลอดที่ไม่ใช้ยาและใช้อุปกรณ์ในการช่วยคลอดเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งจะการคลอดเองจะต้องรอให้ปากมดลูกขยายตัวเต็มที่ คือ ประมาณ 8-10 เซนติเมตร พร้อมกับการเบ่งคลอดที่อาจสร้างความรู้สึกเจ็บปวดขณะคลอด โดยคุณแม่จะต้องผ่อนคลายร่างกายและควบคุมการหายใจ จากนั้นเบ่งคลอดอย่างเป็นจังหวะจนกว่าทารกจะคลอดออกมา ซึ่งการคลอดเองนี้จะสามารถทำได้ในกรณีที่ไม่มีข้อห้ามในการคลอดทางช่องคลอด เช่น ภาวะทารกตัวใหญ่ ภาวะรกเกาะต่ำ คุณแม่ที่เคยผ่านการผ่าตัดคลอดมาก่อน หรือกรณีมีเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่ที่บังช่องทางคลอด เป็นต้น

สำหรับการผ่าคลอดเป็นการผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง โดยคุณหมอจะกรีดช่องท้องในแนวนอนใกล้กับหัวหน่าว หรือกรีดแนวตั้งบริเวณสะดือไปจนถึงกระดูกหัวหนาว ซึ่งจะกรีดลึกเข้าไปจนถึงมดลูกเพื่อนำตัวทารกออกมาทางหน้าท้อง

จะเห็นได้ว่า คลอดเองกับผ่าคลอดมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณหมอจะประเมินภาวะครรภ์และแนะนำวิธีการคลอดที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์มากที่สุด เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว

คลอดเอง มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

การคลอดเอง มีข้อดีทั้งต่อร่างกายและจิตใจของคุณแม่ ดังนี้

  • กระตุ้นความรู้สึกผูกพันระหว่างแม่กับลูก การคลอดเองจะช่วยให้คุณแม่ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และรู้สึกมีส่วนร่วมในการคลอดด้วยการออกแรงเบ่ง จึงทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันกับลูกมากขึ้น
  • การฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว การคลอดเองช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวได้เร็ว สามารถลุกขึ้นและเคลื่อนไหวร่างกายได้เร็วกว่าการผ่าคลอด รวมถึงอาจช่วยให้การไหลเวียนของเลือดเป็นปกติ และแผลคลอดหายเร็วกว่าการผ่าคลอด
  • ลดความเสี่ยงที่เกิดจากการผ่าตัดคลอด ตั้งแต่ ความเสี่ยงจากการระงับความรู้สึก เช่น การบล็อคหลัง การดมยาสลบ ความเสี่ยงในการบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียงในช่องท้องจากการผ่าตัด รวมทั้งการคลอดเองมักจะมีการเสียเลือดในระหว่างการคลอดที่น้อยกว่าการผ่าตัดคลอดด้วย
  • ปลอดภัยต่อทารก การคลอดเองอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตต่ำที่เกิดจากการใช้ยาระหว่างผ่าคลอด ทำให้ทารกได้รับออกซิเจนได้ตามปกติ ซึ่งส่งผลดีต่อการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และการทำงานของระบบประสาท รวมทั้งทารกจะได้รับภูมิคุ้มกันในโรคติดเชื้อบางอย่างจากการคลอดทางช่องคลอดมารดาเพิ่มเติมด้วย

อย่างไรก็ตาม การคลอดเองก็อาจมีข้อเสีย ดังนี้

  • ความรู้สึกเจ็บปวดในระหว่างคลอด เนื่องจากการคลอดเองเกิดการหดรัดตัวของมดลูกกระตุ้นให้ปากมดลูกเปิดหมดและต้องใช้แรงเบ่งของคุณแม่ในการเบ่งคลอด ยาแก้ปวดที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บครรภ์คลอดอาจออกฤทธิ์ควบคุมการเจ็บปวดได้ไม่มากเท่าที่ควร จึงทำให้คุณแม่เกิดความเจ็บปวดในระหว่างกระบวนการคลอดได้
  • ความเครียด ในระหว่างการคลอดอาจเกิดความเครียด ความวิตกกังวล และความเหนื่อยล้า
  • อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น การบาดเจ็บต่อช่องทางคลอด

ผ่าคลอด มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

การผ่าคลอด มีข้อดีต่อคุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีข้อห้ามในการคลอดเองทางช่องคลอดจนไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้ ดังนี้

  • ภาวะคลอดยาก เกิดจากปากมดลูกไม่ขยายเท่าที่ควรเป็นระยะเวลานาน หากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายได้ จึงจำเป็นต้องผ่าคลอดทันที
  • ความผิดปกติของทารกในครรภ์ บางกรณีอัตราการเต้นของหัวใจทารกอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นขณะอยู่ในครรภ์หรือในระหว่างการรอคลอด การผ่าคลอดจึงอาจเป็นวิธีที่ปลอดภัย
  • ทารกไม่กลับหัวหรืออยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ จนไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้อย่างปลอดภัย
  • ท้องลูกแฝด การผ่าคลอดอาจปลอดภัยและรวดเร็วกว่า โดยเฉพาะหากมีภาวะทารกคนในคนหนึ่งไม่กลับหัว
  • ภาวะรกเกาะต่ำ เป็นภาวะที่รกอยู่บริเวณผนังมดลูกส่วนล่างหรือใกล้ปากมดลูกมากเกินไป ส่งผลให้เลือดออกทางช่องคลอดมากหากมีการเจ็บครรภ์คลอด จึงจำเป็นต้องผ่าคลอด
  • สายสะดือย้อย เป็นภาวะที่สายสะดือหย่อนลงมาอยู่ด้านข้างหรือห้อยย้อยลงมาต่ำกว่าทารก จนอาจทำให้ส่วนร่างกายของทารกไปกดเบียดสายสะดือทารกจนเป็นอันตรายได้
  • ปัญหาสุขภาพของคุณแม่ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีรอยโรคที่อวัยะเพศชัดเจน การติดเชื้อเอชไอวีที่มีปริมาณเชื้อในร่างกายสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดที่ควรหลีกเลี่ยงการเบ่งคลอด
  • เคยผ่าคลอดมาก่อนหรือเคยผ่าตัดที่เกี่ยวกับมดลูกมาก่อน คุณหมออาจแนะนำให้ผ่าคลอดซ้ำ เพื่อป้องกันการเกิดมดลูกแตกที่รอยแผลเดิมของมดลูกหากมีการเจ็บครรภ์คลอดธรรมชาติ
  • การอุดตันภายในช่องคลอด เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นเมื่อช่องคลอดมีเนื้องอกขนาดใหญ่ กระดูกเชิงกรานหัก หรือทารกมีขนาดหัวใหญ่ผิดปกติ จนอาจทำให้ช่องคลอดอุดตันและคลอดเองได้ยาก จึงจำเป็นต้องผ่าคลอด

อย่างไรก็ตาม การผ่าคลอดอาจมีข้อเสียบางประการที่อาจสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนี้

  • ความเสี่ยงต่อทารก ทารกที่ถูกกำหนดวันเวลาผ่าคลอดอาจมีแนวโน้มที่ระบบทางเดินหายใจ หรือระบบอื่น ๆ ในร่างกายยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ซึ่งอาจทำให้ช่วงแรกของการคลอดทารกหายใจเร็วผิดปกติ นอกจากนี้ ทารกอาจบาดเจ็บหรือมีรอยขีดข่วนจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าคลอดได้
  • ลดความดันโลหิต ยาที่ใช้ในระหว่างการผ่าคลอดอาจทำให้ความดันโลหิตลดลง ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดที่มีออกซิเจนไปถึงทารกน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่ออัตราการเต้นหัวใจของทารก การทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง การหายใจ และการทำงานของตับทารก
  • การติดเชื้อ หลังจากผ่าคลอดอาจมีความเสี่ยงที่แผลจะติดเชื้อ ติดเชื้อที่เยื่อบุโพรงมดลูก หรือติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
  • การฟื้นตัวช้า การผ่าคลอดอาจใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่าการคลอดเองเนื่องจากการผ่าคลอดถือเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่มีแผลทางหน้าท้องยาวถึงประมาณ 10 เซนติเมตร นอกจากนี้ ก็ทำให้มีแผลเป็นบริเวณหน้าท้องอีกด้วย
  • ความเสี่ยงจากการระงับความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นการระงับความรู้สึกโดยการบล็อคหลังหรือการดมยาสลบ ก็อาจจะทำให้มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้
  • การเสียเลือดมาก การผ่าคลอดอาจทำให้มีเลือดออกมากทั้งในระหว่างการผ่าคลอดและหลังคลอด เนื่องจากเสี่ยงต่อการบาดเจ็บต่อเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก หรือการหดรัดตัวของมดลูกในกรณีผ่าตัดคลอดโดนส่วนใหญ่อาจจะหดตัวได้ไม่ดีเท่าในรายที่คลอดเอง
  • อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ในอนาคต โดยการผ่าคลอดอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดภาวะรกเกาะต่ำ รกเกาะติดแน่น หรือมดลูกฉีกขาดตามรอยแผลผ่าตัดในครรภ์ต่อ ๆ ไปได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

C-section. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/c-section/about/pac-20393655. Accessed August 23, 2022

Caesarean section. https://www.nhs.uk/conditions/caesarean-section/#:~:text=A%20caesarean%20section%2C%20or%20C,just%20below%20your%20bikini%20line. Accessed August 23, 2022

Why Natural Childbirth?. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1595040/. Accessed August 23, 2022

Natural Childbirth. https://kidshealth.org/en/parents/natural-childbirth.html. Accessed August 23, 2022

Caesarean section. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/caesarean-section. Accessed August 23, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/01/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

วินาทีคลอดลูก ขั้นตอนและการเตรียมตัว มีอะไรบ้าง

คลอดลูก สัญญาณเตือน ความเสี่ยงและการดูแลตัวเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 18/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา