backup og meta

วินาทีคลอดลูก ขั้นตอนและการเตรียมตัว มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 18/02/2023

    วินาทีคลอดลูก ขั้นตอนและการเตรียมตัว มีอะไรบ้าง

    วินาทีคลอดลูก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อชีวิตของคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่การที่มดลูกเริ่มหดตัว ปากมดลูกขยายตัวเต็มที่พร้อมคลอด และการจัดการหลังคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคลอดธรรมชาติ คุณแม่อาจต้องผ่านช่วงเวลาที่เจ็บปวดระหว่างคลอดอย่างยาวนานหลายชั่วโมง ดังนั้น การเตรียมตัวก่อนคลอด เพื่อทราบถึงวิธีการจัดการกับความเจ็บปวดระหว่างคลอด จึงอาจช่วยลดความเครียดในวินาทีคลอดลูกได้

    วินาทีคลอดลูกหมายถึงช่วงเวลาใดบ้าง

    วินาทีคลอดลูก เป็นวินาทีสำคัญที่ทารกกำลังจะออกมาลืมตาดูโลก โดยผ่านกระบวนการคลอดในขั้นตอนเหล่านี้

    ระยะที่ 1 การหดตัวของมดลูก

    ปากมดลูกค่อย ๆ เปิดออกและนิ่มลง ซึ่งการหดตัวนี้อาจจะเกิดขึ้นก่อนคลอดเป็นเวลาหลายวันหรือหลายชั่วโมง ในระยะนี้คุณแม่ควรผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ ตั้งตัวตรงเมื่อนั่งหรือยืนและเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง

    การฝึกหายใจ การนวด หรืออาบน้ำอุ่นอาจช่วยบรรเทาอาการปวดในระยะแรกของการคลอดได้

    ปากมดลูกจะขยายตัวเต็มที่ประมาณ 10 เซนติเมตร ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง และอาจเร็วกว่านั้น 5 ชั่วโมง สำหรับการตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 หรือ 3 ในทุก ๆ 15 นาที พยาบาลอาจใช้หูฟังตรวจการเต้นหัวใจทารก เพื่อเช็คอัตราและจังหวะหัวใจทารกว่าเป็นปกติหรือไม่

    ระยะที่ 2 ปากมดลูกขยายตัวเต็มที่เตรียมพร้อมคลอด

    เมื่อปากมดลูกขยายเต็มที่ทารกจะเคลื่อนตัวลงไปทางช่องคลอดเพื่อไปยังปากช่องคลอด คุณแม่อาจรู้สึกปวดท้องและอาจต้องการเบ่งคลอด ซึ่งระยะเบ่งคลอดของลูกคนแรกไม่ควรนานเกิน 3 ชั่วโมง และสำหรับลูกคนที่ 2 ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง ช่วงเวลาเบ่งคลอดอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดเป็นเวลานานกว่าระยะเวลาจริง

    ในระหว่างการคลอดคุณหมอจะฉีดยาชา เพื่อลดอาการเจ็บปวดก่อนการผ่าตัดช่องคลอด เพื่อง่ายต่อการคลอดทารกทางช่องคลอด

    เมื่อศีรษะของทารกเกือบจะโผล่ออกมา คุณหมออาจบอกให้คุณแม่หยุดเบ่ง หายใจเข้าสั้น ๆ และหายใจออกทางปาก เพื่อให้ผิวหนังและกล้ามเนื้อระหว่างช่องคลอดและทวารหนักค่อย ๆ ขยายออก ทำให้ทารกสามารถคลอดออกมาอย่างช้า ๆ และนุ่มนวล

    หลังจากการคลอดเสร็จสิ้น คุณแม่สามารถให้นมทารกได้ทันทีตามต้องการ ซึ่งทารกควรได้รับอาหารมื้อแรกภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด

    ระยะที่ 3 การจัดการหลังคลอดลูก

    หลังจากวินาทีคลอดลูก คุณหมออาจแนะนำการรักษา 2 วิธี เพื่อช่วยให้มดลูกหดตัวและให้รกออกจากช่องคลอด และป้องกันการตกเลือดหลังคลอด ดังนี้

  • Active Management คุณหมอจะฉีดยาออกซิโตซิน (Oxytocin) ที่บริเวณต้นขาเมื่อคลอดบุตรหรือหลังจากคลอดบุตรไม่นาน จะทำให้มดลูกหดตัวเร็วขึ้น ข้อดีของวิธีนี้จะช่วยให้รกออกมาเร็วขึ้นและลดความเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอดได้
  • Physiological Management เป็นวิธีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยคุณแม่อาจต้องเบ่งรกออกมาเอง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าที่รกจะหลุด หากรกไม่หลุดคุณแม่อาจเสียเลือดมาก คุณหมออาจแนะนำให้ใช้วิธี Active Management เพื่อลดความเสี่ยงจากการตกเลือดหลังคลอด
  • การเตรียมตัวสำหรับวินาทีคลอดลูก 

    ก่อนวินาทีคลอดลูกคูณแม่อาจใช้วิธีเหล่านี้ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลดอาการเจ็บปวดระหว่างคลอด ดังนี้

    • การออกกำลังกาย ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่น เพิ่มความอดทน และเตรียมพร้อมร่างกายสำหรับความเครียดระหว่างคลอด เช่น โยคะ การเดิน การนวด
    • การฝึกหายใจ เป็นเทคนิคหายใจขณะคลอดสำหรับผู้ที่คลอดธรรมชาติ เพื่อช่วยควบคุมจังหวะเบ่งและลดอาการเจ็บปวดระหว่างคลอด
      • หายใจช้า ในระหว่างที่มดลูกเริ่มหดตัวในระยะแรก โดยหายใจเข้าช้า ๆ ทางจมูกและหายใจออกทางปาก พยายามผ่อนคลายส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทุกครั้งที่หายใจออก
      • หายใจเร็ว เมื่อการหดตัวของมดลูกรุนแรงขึ้น โดยเริ่มหายใจด้วยจังหวะสม่ำเสมอและผ่อนคลายความตึงเครียด หาจุดสนใจและเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด เมื่อการหดตัวเริ่มรุนแรงขึ้นให้หายใจตื้น ๆ ด้วยอัตรา 1 ลมหายใจต่อวินาทีทางปากเบา ๆ พยายามผ่อนคลายคอและไหล่ให้มากที่สุด
      • หายใจแบบแปรผัน มักใช้เมื่อเข้าสู่การคลอดระยะที่ 2 เริ่มด้วยหายใจในจังหวะสม่ำเสมอ หายใจเข้าทางปากเบา ๆ ด้วยอัตรา 5-20 ครั้ง ทุก 10 วินาที พยายามเป่าลมหายใจออกทางปากให้ยาวขึ้นและชัดเจนยิ่งขึ้นทุก ๆ ลมหายใจที่ 4 หรือ 5
  • การเบ่งคลอด เป็นขั้นตอนการหายใจเพื่อเบ่งคลอดเมื่อมดลูกขยายเต็มที่ เริ่มต้นด้วยหายใจอย่างสม่ำเสมอ ให้นึกภาพทารกที่เคลื่อนผ่านช่องคลอด จากนั้น เมื่อเกิดแรงกระตุ้นรุนแรงให้กดหัวและโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย กลั้นหายใจในขณะเบ่งคลอดและหายใจออกช้า ๆ เพื่อผ่อนคลาย และอาจเริ่มการเบ่งในครั้งต่อไปในจังหวะเดียวกัน
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 18/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา