backup og meta

เจ็บท้องคลอด เจ็บแบบไหน ได้บ้าง ควรบรรเทาอาการอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 29/08/2023

    เจ็บท้องคลอด เจ็บแบบไหน ได้บ้าง ควรบรรเทาอาการอย่างไร

    เจ็บท้องคลอด เป็นอาการใกล้คลอดที่ร่างกายจะส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่า ทารกในครรภ์ใกล้คลอดออกมาแล้ว แต่คุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่า เจ็บท้องคลอด เจ็บแบบไหน ได้บ้าง อาการเจ็บท้องคลอดนั้นมีทั้งอาการเจ็บท้องจริงและเจ็บท้องหลอก ซึ่งคุณแม่ควรศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของอาการเจ็บท้องต่าง ๆ  เอาไว้ เพื่อสังเกตตัวเองและจะได้เตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ

    เจ็บท้องคลอด เจ็บแบบไหน ได้บ้าง

    อาการเจ็บคลอดมีทั้งอาการเจ็บท้องจริงและเจ็บท้องหลอก ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นมักมีดังนี้

    เจ็บท้องจริง

    มักจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า ฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนที่จะช่วยกระตุ้นมดลูกให้เกิดการบีบรัดตัวออกมา ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณที่บอกว่า ใกล้ถึงเวลาคลอด โดยอาการเจ็บท้องจริงมักจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ หากคุณแม่มีอาการเจ็บท้องจริงเริ่มเกิดขึ้นในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ เป็นสัญญาณที่บอกว่าอาจจะเกิดการคลอดก่อนกำหนด

    อาการเจ็บท้องจริงจะทำให้มดลูกส่วนบนเกิดอาการตึง ๆ ในการดันตัวทารกลงไปที่ช่องคลอด เพื่อเตรียมตัวคลอด รวมทั้งยังอาจทำให้คอมดลูกบางลง เพื่อช่วยให้ทารกเคลื่อนตัวผ่านออกมาได้ อาการเจ็บท้องจริงอาจทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บปวดเหมือนระลอกคลื่น คือ เริ่มจากความเจ็บปวดเล็กน้อย และเพิ่มขึ้นจนถึงระดับสูงสุด จากนั้นจะหายไปในที่สุด ถ้าใช้มือสัมผัสบริเวณท้องในระหว่างที่มดลูกมีการบีบตัวอาจรู้สึกว่าท้องแข็ง ๆ

    สำหรับสัญญาณเตือนที่อาจบ่งบอกได้ว่าเป็นอาการเจ็บท้องจริง คือ มดลูกจะบีบรัดตัวอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุก ๆ 5 นาที จากนั้นอาการจะเกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เป็นทุก ๆ 2 นาที และทุก ๆ 1 นาที โดยอาการเจ็บท้องจะปวดมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ ยังอาจมีสัญญาณเตือนอื่น ๆ เกิดขึ้นด้วย เช่น มีมูกเลือดไหลออกมาเวลาที่เข้าไปใช้ห้องน้ำ มีของเหลวไหลออกมาจากช่องคลอด รู้สึกเหมือนทารกในครรภ์จะตกลงมาจากท้อง

    เจ็บท้องหลอก

    เป็นอาการเจ็บท้องที่อาจทำให้คุณแม่เข้าใจว่า ใกล้ถึงเวลาคลอด ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจมีอาการคล้ายกับเจ็บท้องจริง และอาจทำให้คอมดลูกบางลง แต่จะไม่นำไปสู่การคลอดลูก โดยอาการเจ็บท้องหลอกมักเริ่มเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีอาการเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ มักเกิดขึ้นในช่วงบ่ายหรือช่วงค่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากวันที่ใช้กำลัง ยืนหรือเดินเยอะ ๆ และอาการเจ็บท้องหลอกจะเกิดบ่อยขึ้นเมื่อใกล้ถึงวันคลอด ซึ่งอาจทำให้รู้สึกตึง ๆ บริเวณช่องท้อง มักไม่ใช่อาการเจ็บปวด แต่อาการเจ็บปวดอาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน

    สำหรับสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าเป็นอาการเจ็บท้องหลอก คือ อาการมดลูกบีบรัดตัวมักเป็น ๆ หาย ๆ ไม่มีความรุนแรงขึ้น มักหายไปเมื่อเปลี่ยนท่าทางหรือปัสสาวะออกจนหมด

    เจ็บท้องคลอด เจ็บแบบไหน ควรไปพบคุณหมอ

    อาการเจ็บท้องคลอดมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เนื่องจากการมีระดับฮอร์โมนเพิ่มสูงขึ้น เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการคลอดลูก โดยอาการเจ็บท้องคลอดที่ควรไปพบคุณหมอ อาจมีดังนี้

    • อาการเจ็บท้องเกิดขึ้นสม่ำเสมอ ห่างกัน 5-10 นาที และถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
    • เจ็บท้องแต่ละครั้งนานประมาณ 30-60 วินาที
    • เจ็บท้องหรือปวดท้องส่วนล่าง บริเวณอุ้งเชิงกราน หลังส่วนล่างบริเวณบั้นเอว แล้วอาจร้าวลามไปยังต้นขา โดยมักจะเป็นทั่ว ๆ ท้อง
    • อาการเจ็บท้องรุนแรงขึ้น จนไม่สามารถพูดคุยหรือเดินไปมาได้
    • อาการเจ็บท้องไม่ทุเลาลงแม้จะเปลี่ยนทางท่า หรือเอนตัวลงนอน

    วิธีบรรเทาอาการเจ็บท้องคลอด

    หากเกิดอาการเจ็บท้องคลอด วิธีเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้

    • หากิจกรรมทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากอาการเจ็บท้องคลอด เช่น ดูหนัง อ่านหนังสือ ฟังเพลง นอนหลับ
    • ฝึกหายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ เป็นจังหวะ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย
    • อาบน้ำบ่อย ๆ หรืออาจแช่ตัวในอ่างน้ำอุ่น เพื่อบรรเทาอาการเจ็บท้องคลอด และอาจช่วยลดความเครียดและความกังวลที่เกิดขึ้นได้
    • ให้คนรอบข้างช่วยนวดบริเวณมือ เท้า ไหล่ และหลัง ในระหว่างที่มดลูกบีบรัดหรือขยายตัว เพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายจากอาการเจ็บท้องคลอด
    • หากมีอาการคลื่นไส้เกิดขึ้น อาจใช้น้ำมันหอมระเหยหรือดมยาดม เพื่อช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น
    • หากอาการเจ็บท้องคลอดเกิดขึ้นถี่และสม่ำเสมอมากขึ้นเรื่อย ๆ มีอาการน้ำเดิน หรือมีมูกเลือดออกจากช่องคลอด ควรไปพบคุณหมอเพื่อประเมินระยะของการเข้าสู่ระยะคลอด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 29/08/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา