การตั้งครรภ์แบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 หรือไตรมาสสุดท้าย คุณแม่มักจะมีอาการเจ็บท้องที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าใกล้คลอดแล้ว การทราบวิธีสังเกตอาการเจ็บท้องเตือนและเจ็บท้องคลอดอาจช่วยให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เจ็บท้องเตือนกี่วันคลอด อาจขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ปวดท้องมาก ควรรีบไปพบคุณหมอทันที เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์
[embed-health-tool-due-date]
เจ็บท้องเตือนกี่วันคลอด
เจ็บท้องเตือนกี่วันคลอด อาจขึ้นอยู่กับประเภทของอาการเจ็บท้องและภาวะสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละคน อาการเจ็บท้องมี 2 ประเภท ได้แก่ อาการเจ็บท้องหลอกหรือเจ็บท้องเตือน เป็นอาการเจ็บท้องที่ยังไม่มีการคลอดลูก และอาการเจ็บท้องจริง เป็นอาการที่แสดงว่าใกล้ถึงครบกำหนดคลอด ซึ่งควรเตรียมพร้อมในการไปโรงพยาบาล
วิธีสังเกตอาการเจ็บท้องเตือนและเจ็บท้องคลอด
อาการเมื่อเจ็บท้องเตือน และเจ็บท้องคลอด อาจมีดังนี้
อาการเจ็บท้องเตือน อาการที่อาจบ่งชี้ว่าเป็นอาการเจ็บท้องเตือน มีดังนี้
- มีอาการคล้ายปวดประจำเดือน แต่ไม่มีเลือดหรือมูกปนเลือดออกมาจากช่องคลอด
- มดลูกบีบตัวแบบเป็น ๆ หาย ๆ ไม่สม่ำเสมอ
- การบีบตัวของมดลูกจะบรรเทาลงและหายไป หากเปลี่ยนท่าทาง หรือนอนพักผ่อน
อาการเจ็บท้องคลอด สัญญาอาการที่อาจบ่งชี้ว่าเป็นอาการเจ็บท้องคลอด มีดังนี้
- มดลูกบีบรัดตัวสม่ำเสมอ ครั้งละประมาณ 30-60 วินาที ทิ้งช่วงเวลาห่างกันประมาณครั้งละ 5-20 นาที และบีบตัวถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
- เมื่อลุกขึ้นเดิน เปลี่ยนท่าทาง อาการมดลูกบีบรัดตัวไม่บรรเทาลง แต่อาจปวดมากกว่าเดิม
- ปวดที่ส่วนบนของมดลูกก่อน รวมถึงบริเวณหลังและท้องส่วนล่าง
- ใช้มือสัมผัสบริเวณท้องจะรู้สึกว่าท้องแข็งเท่ากันทั่วทั้งท้อง
- ปากมดลูกเริ่มเปิดขยาย
นอกจากนี้ อาจมีสัญญาณเตือนใกล้คลอด เช่น มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด มีน้ำสีใส ๆ ไหลออกมาจากช่องคลอด หรือที่เรียกว่า น้ำคร่ำแตกหรือน้ำเดิน ควรไปโรงพยาบาลเพื่อเตรียมตัวคลอด
การดูแลตนเองหลังคลอด
วิธีดูแลตัวเองหลังคลอดที่เหมาะสม อาจมีดังนี้
- นอนหลับพักผ่อน นอนหลับให้มากที่สุดเพราะลูกน้อยอาจตื่นขึ้นมาทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ทั้งนี้ ควรพักผ่อนพร้อมกับลูกเมื่อลูกนอนหลับ คุณแม่จะได้ไม่เหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียเกินไป
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบทั้ง 5 หมู่ รวมถึงผัก ผลไม้ที่มีกากใยเพื่อป้องกันอาการท้องผูก
- ดูแลแผลหลังคลอด ควรรักษาความสะอาด เพื่อป้องกันแผลอักเสบและติดเชื้อ
- ควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 เดือน เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูเต็มที่
- ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดิน เพื่อฟื้นฟูอวัยวะภายในร่างกาย แต่ไม่ควรยกของหนัก
- ไปตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอนัดทุกครั้ง
- ขอความช่วยเหลือจากญาติ พี่น้อง หากรู้สึกว่าเลี้ยงลูกเองไม่ไหว
- เฝ้าระวังภาวะซึมเศร้าของคุณแม่หลังคลอด