backup og meta

ทำแท้ง ถูกกฏหมายหรือไม่ และข้อเท็จจริงที่ควรรู้

ทำแท้ง ถูกกฏหมายหรือไม่ และข้อเท็จจริงที่ควรรู้

ทำแท้ง คือ การยุติการตั้งครรภ์ซึ่งทำได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ปัจุจุบัน ในประเทศไทยสามารถทำแท้งได้ถูกกฎหมาย ทั้งนี้ ต้องมีเหตุผลจำเป็นซึ่งพิสูจน์ได้ว่าการตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงตั้งครรภ์ หรือมีเหตุผลทางการแพทย์รับรองว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติอย่างร้ายแรง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุครรภ์ แต่หากเป็นเหตุผลอื่น จำเป็นต้องทำแท้งภายในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ นอกจากนั้น ยังมีข้อเท็จจริงอื่น ๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำแท้ง

[embed-health-tool-ovulation]

การ ทำแท้ง คืออะไร

การทำแท้ง หมายถึง การยุติการตั้งครรภ์ โดยใช้กระบวนการทางแพทย์เพื่อเข้ามาแทรกแซงการตั้งครรภ์นั้น ๆ ในประเทศไทย การทำแท้งนั้นถูกกฎหมายแล้ว แต่ต้องมีเหตุผลจำเป็นซึ่งพิสูจน์ได้ว่าการตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงตั้งครรภ์ หรือมีเหตุผลทางการแพทย์รับรองว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติอย่างร้ายแรง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุครรภ์ รวมทั้งเหตุผลด้านการตั้งครรภ์ซึ่งเกิดจากความผิดทางเพศ เช่น โดนข่มขืนแล้วตั้งท้อง รวมทั้งการยินยอมและยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ของหญิงตั้งครรภ์ แต่ต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น หากทำแท้งด้วยตนเองหรือทำแท้งเถื่อน โดยเฉพาะหากมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ถือว่าผิดกฏหมายต้องได้รับโทษ

การทำแท้งมีอยู่หลายประเภท ทั้งการผ่าตัด และการใช้ยา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกวิธีการทำแท้งโดยขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ หากอายุครรภ์น้อย กระบวนการทำแท้งจะง่ายและปลอดภัยกว่า

การเตรียมตัวก่อนการทำแท้ง

ก่อนการทำแท้ง ต้องนัดพบกับคุณหมอเพื่อเข้ารับการประเมินและตรวจร่างกายดังต่อไปนี้

  • ปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับเหตุผลของ การทำแท้ง และสอบถามความแน่ใจในการตัดสินใจทำแท้ง
  • ให้ข้อเสนอในการพูดคุยและปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำ
  • ปรึกษากับแพทย์และพยาบาลถึงวิธีการทำแท้งที่เหมาะสม รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง
  • ตรวจครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่าตั้งครรภ์จริง ๆ หากมีอายุครรภ์มากอาจจะใช้การอัลตราซาวด์
  • ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตรวจเลือด และระดับของธาตุเหล็ก เพื่อดูว่ามีภาวะโลหิตจางหรือไม่
  • ให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการทำแท้ง
  • หากหญิงตั้งครรภ์ต้องการทำแท้ง ต้องเซ็นรับรองความสมัครใจ และนัดหมายวันที่จะมาทำแท้งให้เรียบร้อย

ประเภทของการทำแท้ง

การทำแท้ง สามารถทำได้โดยการใช้ยาและการผ่าตัด มีรายละเอียด ดังนี้

การทำแท้งโดยการใช้ยา

การทำแท้ง โดยการใช้ยา แพทย์จะให้ยาสำหรับยุติการตั้งครรภ์มาใช้ วิธีการนี้ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดและดมยาสลบ โดยอาจมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • เริ่มจากการใช้ยาไมเฟพริสโตน (Mifepristone) เพื่อทำให้ฮอร์โมนตั้งครรภ์หยุดทำงาน หลังจากใช้ยานี้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
  • ภายใน 24-48 ชั่วโมงให้หลัง ต้องใช้ยาอีกหนึ่งตัวคือ ยามีโซโพรซอล (Misoprostol) ซึ่งมีทั้งรูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทาน ยาอมใต้ลิ้น หรือยาสอดช่องคลอด ภายใน 4-6 ชั่วโมง ยานี้จะทำให้เยื่อบุมดลูกสลายตัว ทำให้ตัวอ่อนไหลออกจากช่องคลอดมาพร้อมกับเลือด มีลักษณะคล้ายประจำเดือน และแท้งลูกในที่สุด ในช่วงนี้จำเป็นต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

โอกาสการทำแท้งสำเร็จด้วยวิธีนี้ สำหรับหญิงที่มีอายุครรภ์ภายในช่วงระยะเวลา 10 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ อยู่ที่ประมาณ 90% ขึ้นไป หากมีอายุครรภ์มากกว่า 10 สัปดาห์ อาจต้องใช้ยามีโซโพรซอลมากกว่า 1 ครั้ง ในบางกรณี วิธีการใช้ยาเพื่อทำแท้งนี้อาจจะไม่ได้ผล และจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อทำแท้งร่วมด้วย

การทำแท้งโดยการผ่าตัด

การทำแท้งโดยการผ่าตัดนั้นมักจะได้ผลเกือบ 100% และมีอยู่ 2 วิธีดังต่อไปนี้

  • การดูดมดลูกด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ เป็นวิธีสำหรับผู้ที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 15 สัปดาห์ โดยแพทย์จะให้ยาเพื่อให้ปากมดลูกอ่อนตัวลง ทำให้ง่ายต่อการเปิดปากมดลูก จากนั้นใช้ยาชาหรือยาสลบเพื่อบรรเทาอาการปวด ตามด้วยการสอดท่อเข้าไปในมดลูกผ่านทางช่องคลอด และใช้เครื่องดูดสุญญากาศ เพื่อดูดเอาเนื้อเยื่อ และตัวอ่อนออกออกมาจากมดลูก การดูดมดลูกนั้นจะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที จากนั้น ในบางราย อาจกลับบ้านได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง
  • การขยายและขูดมดลูก ใช้สำหรับครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 15 สัปดาห์ขึ้นไป แพทย์จะใช้เครื่องมือพิเศษอย่างคีมปากยาว สอดเข้าไปในมดลูก และขูดเนื้อเยื่อและตัวอ่อนออกจากมดลูก โดยแพทย์จะต้องขยายมดลูกก่อนเป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนการผ่าตัด เพื่อให้สามารถสอดคีมเข้าไปได้ วิธีการนี้ใช้เวลาประมาณ 10-20 นาทีในการขูดมดลูก

ทำแท้ง ปลอดภัยแค่ไหน

การทำแท้ง ทั้งที่โรงพยาบาลและการใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์ ต่างก็เป็นวิธีที่ปลอดภัย อาจกล่าวได้ว่า การทำแท้งนั้นเป็นหนึ่งในกระบวนการทางการแพทย์ที่ปลอดภัยที่สุด การทำแท้งอย่างถูกต้องภายใต้การดูแลของแพทย์และพยาบาลที่ได้รับการอบรมมานั้น จะต้องผ่านมาตรฐานและแนวทางในการดูแลอย่างถูกต้อง

แม้ว่าการทำแท้งภายใต้การดูแลของแพทย์ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพที่ร้ายแรง แต่อาจมีความเสี่ยงได้เช่นกัน ได้แก่

  • การทำแท้งมีโอกาสที่จะไม่ได้ผล ส่งผลให้ยังคงมีการตั้งครรภ์อยู่
  • มีเนื้อเยื่อตกค้างภายในมดลูก
  • มีเลือดคั่งในมดลูก
  • ตกเลือดอย่างรุนแรง
  • ติดเชื้อ
  • ปากช่องคลอด มดลูก และอวัยวะอื่นๆ บาดเจ็บ
  • แพ้ยา

หากระหว่าง การทำแท้ง ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถือว่าปลอดภัยต่อร่างกาย หรือการตั้งครรภ์ในอนาคต การทำแท้งนั้นไม่ถือว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง หรือส่งผลกระทบต่อการเจริญพันธุ์ รวมทั้งไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต เช่น การพิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนด

การดูแลตัวเองหลัง ทำแท้ง

หลังทำแท้ง อาจเกิดผลข้างเคียงเล็กน้อยจากยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้อง และมีเลือดออกจากช่องคลอด อาการเหล่านี้มักไม่รุนแรง และเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือนหลังจากการทำแท้ง สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • นอนพักผ่อนให้เต็มที่
  • พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ออกแรงมาก หรือการทำงานหนัก
  • สำหรับอาการปวดท้อง ควรใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อจัดการกับอาการปวดต่าง ๆ
  • สวมผ้าอนามัย จนกว่าอาการตกเลือดจะหยุดลง
  • หากมีอาการตกเลือดอย่างรุนแรง ปวดท้องอย่างรุนแรง มีสารคัดหลั่งแปลก ๆ จากช่องคลอด หรือเป็นไข้ ควรรีบติดต่อแพทย์ในทันที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What facts about abortion do I need to know? https://www.plannedparenthood.org/learn/abortion/considering-abortion/what-facts-about-abortion-do-i-need-know. Accessed October 27, 2022.

Abortion. https://www.nhs.uk/conditions/abortion/what-happens/. Accessed October 27, 2022.

What Are the Types of Abortion Procedures? https://www.webmd.com/women/abortion-procedures#2. Accessed October 27, 2022.

Abortion. https://www.who.int/health-topics/abortion#tab=tab_1. Accessed October 27, 2022.

เปิดกฎหมายอาญาแก้ไขใหม่ #ทำแท้งปลอดภัย ได้ในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์. https://ilaw.or.th/node/5816. Accessed October 27, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/10/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฮอร์โมนความเครียด ทำให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ไหม

แท้งลูก วิธีรับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ และการก้าวข้ามความสูญเสีย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา