backup og meta

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 18

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 18

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 18 เริ่มขยายใหญ่ขึ้น โดยมักมีขนาดตัวเท่ากับพริกหยวก หนักประมาณ 200 กรัม และยาวประมาณ 14 เซนติเมตร โดยวัดจากศีรษะถึงปลายเท้า คุณแม่อาจรู้สึกได้ว่าลูกดิ้น หาวหรือแม้แต่กำลังสะอึก ซึ่งพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสัญญาณที่ดีสะท้อนพัฒนาการต่าง ๆ ว่าลูกน้อยกำลังเติบโตอย่างแข็งแรง

[embed-health-tool-due-date]

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 18

ลูกจะเติบโตอย่างไร

สำหรับพัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 18 ทารกในครรภ์จะมีขนาดตัวเท่ากับพริกหยวก โดยมีหนักประมาณ 200 กรัม และสูงประมาณ 14 เซนติเมตร โดยวัดจากศีรษะถึงปลายเท้า

ลูกน้อยเริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้น อาจรู้สึกถึงการกลิ้งไปกลิ้งมา บิดตัว และเตะเท้า รวมถึงอาจรู้สึกได้ว่าลูกน้อยกำลังหาวหรือแม้แต่กำลังสะอึก ซึ่งพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งบ่งบอกว่าลูกน้อยกำลังเติบโตอย่างแข็งแรง

หูของทารกในครรภ์สามารถฟังเสียงได้แล้ว คุณแม่ควรเริ่มสานสัมพันธ์กับลูกน้อย ด้วยการพูดคุย หรือร้องเพลงให้ลูกฟัง เพราะลูกจะรู้สึกสบายใจและอุ่นใจขึ้นเมื่อได้ยินเสียงที่คุ้นเคย ควรหลีกเลี่ยงเสียงดัง หากคุณแม่ใช้เครื่องช่วยฟังก็จะสามารถฟังเสียงหัวใจเต้นของทารกน้อยในครรภ์ได้ชัดเจน 

นอกจากนี้ ทารกในครรภ์อาจจะยังเปิดเปลือกตาไม่ได้ แต่ก็สามารถเคลื่อนไหวดวงตาได้เล็กน้อย เพื่อตอบสนองต่อแสงได้บ้างแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต

ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

เมื่อหน้าท้องเริ่มขยายใหญ่ขึ้น อาการปวดหลังก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากจุดศูนย์ถ่วงเกิดความเปลี่ยนแปลง ทำให้หลังช่วงล่างแบกรับน้ำหนักเอาไว้มากขึ้น อีกเหตุผลนึงก็คือ ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ทำให้กระดูกเชิงกรานขยาย สามารถป้องกัน หรือบรรเทาอาการปวดหลังในขณะตั้งครรภ์ได้ด้วยเคล็ดลับเหล่านี้

  • หลีกเลี่ยงการนั่งนาน ๆ  ไม่ควรนั่งอยู่กับที่นานเกิน 1 ชั่วโมง ควรลุกเปลี่ยนอิริยาบถ หรือยืดเส้นยืดสายบ้าง เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อและข้อต่อเกร็งตึงจนเกินไป และให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น หากจำเป็นต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน ควรหาเก้าอี้เตี้ยๆ หรือลังกระดาษที่สามารถรับน้ำหนักได้ มาวางไว้ใต้โต๊ะทำงาน แล้วนั่งเอาขาพาดไว้ เพื่อช่วยลดแรงกดบริเวณหลัง
  • หลีกเลี่ยงการยืนนาน ๆ หากคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องยืนล้างชามหรือทำอาหารอยู่ในครัว ควรสวมรองเท้าใส่ในบ้าน หรือยืนบนผ้าหรือพรมหนา ๆ เพื่อช่วยลดแรงกดบนร่างกายและบริเวณหลัง
  • หลีกเลี่ยงการก้มหรือแบกของหนัก หากเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ท่ายกของที่ถูกต้อง นั่นคือ ยืนแยกขาให้ได้ความกว้างเท่ากับไหล่ เพื่อจะได้ทรงตัวได้ดีขึ้น จากนั้นจึงค่อย ๆ ย่อเข่าลงแทนการก้มตัวแบบขาตรง แล้วค่อยยกของขึ้น หรือหากต้องหิ้วถุงใส่ของ ควรเฉลี่ยน้ำหนักของทั้งสองข้างให้เท่ากันด้วย

ข้อควรระวังสำหรับพัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 18

บางครั้งคุณแม่ตั้งครรภ์อาจรู้สึกอยากกินอาหารรสเผ็ด ๆ หรือรสจัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะอาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกหรือกรดไหลย้อนได้  เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ ระบบย่อยอาหารจะทำงานได้ไม่ค่อยดี ฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ความสามารถในการเผาผลาญอาหารลดลง รวมถึงการหดตัวของกล้ามเนื้อในกระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานได้ไม่เป็นปกติ จึงทำให้ย่อยอาหารที่ย่อยยาก ๆ ได้ช้าลง จึงควรแบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็ก ๆ แล้วรับประทานให้บ่อยขึ้นตลอดทั้งวัน วิธีนี้จะช่วยป้องกันอาการแสบร้อนกลางอกได้

การพบหมอ

ควรปรึกษาแพทย์อย่างไรบ้าง

อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นเนื่องจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับดวงตา คุณแม่ตั้งครรภ์อาจมองเห็นจุด หรืออะไรลอยไปลอยมา รวมถึงมองเห็นภาพพร่ามัว และดวงตาแห้ง เนื่องจากร่างกายผลิตน้ำตาน้อยลง ซึ่งถือว่าเป็นอาการที่พบได้ในผู้หญิงท้องส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม หากปัญหาดวงตารบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือแย่ลง โดยเฉพาะปัญหาตาพร่ามัว ควรปรึกษาคุณหมอทันที เพราะการมองเห็นภาพพร่ามัว อาจเป็นสัญญาณของการเกิดปัญหาของเหลวตกค้าง ซึ่งเป็นอาการที่ควรได้รับการรักษา

นอกจากนี้โรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ และโรคความดันโลหิตสูง ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เห็นภาพพร่ามัวได้เช่นกัน

การทดสอบที่ควรรู้

ในสัปดาห์นี้ คุณหมออาจแนะนำให้ทำอัลตร้าซาวด์ในไตรมาสที่สอง หรือที่เรียกว่าอัลตร้าซาวด์ระดับ ซึ่งเป็นการอัลตร้าซาวด์ตรวจดูอวัยวะส่วนต่าง ๆ และนิยมทำในช่วงที่มีอายุครรภ์ตั้ง 18 ถึง 22 สัปดาห์ การอัลตร้าซาวด์ในไตรมาสที่สองไม่ว่าจะเป็นแบบ 3-D หรือ 4-D จะช่วยให้มองเห็นพัฒนาการของทารกได้อย่างชัดเจนขึ้น ทั้งยังอาจมองเห็นภาพลูกน้อย หรือภาพวิดีโอในขณะที่เขาเคลื่อนไหวได้อย่างสมจริงด้วย

รายละเอียดที่มีมากขึ้นจากการทำอัลตร้าซาวด์ระดับ 2 นั้นจะช่วยให้สามารถวัดขนาดตัวและอวัยวะต่างๆ รวมทั้งวัดปริมาณน้ำคร่ำ และประเมินตำแหน่งของรกได้ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกน้อยมีเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ อย่างเพียงพอ

สุขภาพและความปลอดภัย

ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์

  • สารอันตรายในอาหารทะเล

ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ถือเป็นปลาอุดมไปด้วยไขมันดีอย่างโอเมก้า 3 ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม  ควรบริโภคปลาและอาหารทะเลอื่น ๆ ในปริมาณที่เหมาะสม

เพราะถึงแม้อาหารทะเลจะมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็อาจมีสารพิษเจือปน เช่น ไดออกซิน ปรอท ยาฆ่าแมลง หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับสารพิษเหล่านี้มากเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ โดยปลาทะเลที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น ปลาอินทรีย์ ปลาฉนาก และปลาไทล์ (Tilefish)

  • อาการหมดแรง

หากปัญหาในการหายใจหรือรู้สึกเหนื่อยง่าย ควรหยุดพักจากการทำกิจกรรมที่ทำอยู่ ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม หรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากเกินกำลังของตัวเอง เพราะจะทำให้ทั้งตนเองและลูกน้อยรู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง และส่งผลเสียต่อสุขภาพ

เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เหมือนในช่วงก่อนตั้งครรภ์ หากต้องทำงานหรือทำกิจกรรมใดนาน ๆ ก็ควรพักช่วงสั้น ๆ เป็นระยะ

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ทำงานประจำ หากรู้สึกอ่อนเพลียจนทนไม่ไหว ควรลางานเพื่อพักฟื้น และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรฝืนไปทำงาน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Poppy seed to pumpkin: How big is your baby?.

http://www.babycenter.com/slideshow-baby-size. Accessed May 10, 2022.

Pregnancy calendar week 18. http://kidshealth.org/parent/pregnancy_center/pregnancy_calendar/week18.html. Accessed May 10, 2022.

Your Pregnancy Week by Week: Weeks 17-20. https://www.webmd.com/baby/guide/your-pregnancy-week-by-week-weeks-17-20. Accessed May 10, 2022.

Your pregnancy at 18 weeks. https://www.medicalnewstoday.com/articles/302731. Accessed May 10, 2022.

Week-by-week guide to pregnancy. https://www.nhs.uk/start4life/pregnancy/week-by-week/2nd-trimester/week-18. Accessed May 10, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 19 ของการตั้งครรภ์


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา