backup og meta

คนท้องกินยาแก้แพ้ได้ไหม เมื่อเกิดอาการแพ้ควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    คนท้องกินยาแก้แพ้ได้ไหม เมื่อเกิดอาการแพ้ควรดูแลตัวเองอย่างไร

    อาการภูมิแพ้เป็นปัญหาที่อาจรบกวนการนอนหลับและการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งคนท้องที่มีอาการภูมิแพ้อาจเกิดข้อสงสัยว่า คนท้องกินยาแก้แพ้ได้ไหม เพราะการกินยาบางชนิดในขณะตั้งท้องอาจเป็นอันตรายต่อทารกในท้อง รวมถึงยังอาจเสี่ยงทำให้ทารกมีภาวะพิการแต่กำเนิดและส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารกในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันอย่างชัดเจนว่าคนท้องกินยาแก้แพ้ได้ไหม ดังนั้น หากคนท้องมีอาการภูมิแพ้ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา นอกจากนี้ ควรดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นในขณะตั้งท้องได้

    คนท้องกินยาแก้แพ้ได้ไหม

    คนท้องบางคนที่มีอาการภูมิแพ้กำเริบอาจมีคำถามว่า คนท้องกินยาแก้แพ้ได้ไหม ซึ่งมีการวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ใน Journal of Pharmacology and Pharmacotherapeutics เมื่อเดือนเมษายน-มิถุนายน พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับยาต้านฮีสตามีนที่ใช้ระหว่างตั้งท้อง พบว่า การใช้ยาแก้แพ้สูตรดั้งเดิมในการรักษาอาการแพ้ในคนท้อง อาจมีความปลอดภัยต่อการตั้งท้องและอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะพิการแต่กำเนิดของทารกในท้องน้อยกว่าการใช้ยาแก้แพ้สูตรใหม่

    อย่างไรก็ตาม คนท้องไม่ควรซื้อยาแก้แพ้กินเอง แต่ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรับยาแก้แพ้ที่เหมาะสม

    ประเภทของยาแก้แพ้

    ยาแก้แพ้อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

    • ยาแก้แพ้สูตรดั้งเดิม เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ซินนาริซีน (Cinnarizine) ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) โปรเมทาซีน (Promethazine) เดกซ์คลอเฟนิรามีน (Dexchlorpheniramine) ไทรเพเลนนามีน (Tripelennamine) เป็นยาแก้แพ้ที่ออกฤทธิ์กดประสาทและทำให้ง่วงนอน แต่อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ปากแห้ง ตาพร่ามัว ท้องผูก
    • ยาแก้แพ้สูตรใหม่ เช่น อะคริวาสทีน (Acrivastine) เซทิริซีน (Cetirizine) เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) เลโวเซทิริซีน (Levocetirizine) ลอราทาดีน (Loratadine) เป็นยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วงซึมน้อย ไม่กดประสาท แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น หัวใจเต้นเร็ว ไวต่อแสง

    การใช้ยาบางชนิดหรือบางกลุ่มในขณะตั้งท้องอาจมีผลข้างเคียงหรือเป็นอันตรายต่อทารกในท้อง จึงต้องเลือกใช้ด้วยความระมัดระวัง แต่ในข้อมูล ณ ปัจจุบันพบว่า กลุ่มยาแก้แพ้ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันในการเพิ่มความเสี่ยงหรืออันตรายต่อทารกในครรภ์อย่างชัดเจน หากมารดาที่ตั้งครรภ์มีอาการแพ้และมีความจำเป็นต้องใช้ยา ก็สามารถที่จะใช้ได้ โดยปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการแพ้ตั้งแต่ต้นคงจะดีที่สุดสำหรับคนท้อง โดยวิธีต่อไปนี้จึงอาจช่วยลดโอกาาสการเกิดการแพ้ได้

    • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ขนสัตว์ สะเก็ดผิวหนังของสัตว์ อาหาร เกสรดอกไม้ ฝุ่น เชื้อรา ดังนั้น จึงควรสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ทราบว่าตัวเองแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด และจะได้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้อาการกำเริบได้
    • ทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะห้องนอน ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน เพื่อขจัดฝุ่นละออง หรือสิ่งสกปรกที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ เพื่อช่วยเสริมวิตามินและแร่ธาตุที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย
    • พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากร่างกายจะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและปรับสมดุลร่างกายในระหว่างนอนหลับ
    • ใช้เครื่องทำความชื้นหรือทำให้อากาศภายในบ้านชื้น เนื่องจากความชื้นอาจช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองภายในจมูก นอกจากนี้ การใช้น้ำเกลือพ่นจมูกอาจช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้
    • ใช้สเปรย์สเตียรอยด์พ่นจมูก อาจช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองและอาการคัดจมูกได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา