backup og meta

คนท้องขึ้นเครื่องบินได้ไหม ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเดินทางขณะท้อง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    คนท้องขึ้นเครื่องบินได้ไหม ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเดินทางขณะท้อง

    ปัจจุบัน การเดินทางโดยเครื่องบินทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะสะดวกและใช้เวลาไม่นาน แต่สำหรับคุณแม่ท้อง ก็อาจมีข้อสงสัยว่า คนท้องขึ้นเครื่องบินได้ไหม โดยทั่วไป คนท้องที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 36 สัปดาห์ สามารถขึ้นเครื่องบินได้ตามปกติ แต่หากมีอายุครรภ์เกินจากนั้น สายการบินอาจไม่อนุญาตให้ขึ้นเครื่อง ทั้งนี้ คนท้องไม่ควรเดินทางด้วยเครื่องบินบ่อยและใช้เวลาบนเครื่องบินนานเกินไป เนื่องจากบนเครื่องบินมีออกซิเจนเบาบางกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อการหายใจและเป็นอันตรายต่อเด็กในท้องได้

    คนท้องขึ้นเครื่องบินได้ไหม

    โดยทั่วไป คนท้องที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 36 สัปดาห์ ถือว่าปลอดภัยสำหรับการขึ้นเครื่องบินและสามารถเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ได้ตามปกติ เนื่องจากมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดต่ำ และขนาดท้องยังไม่ขยายใหญ่จนทำให้รู้สึกอึดอัดเมื่อนั่งเก้าอี้โดยสาร ทั้งนี้ คนท้องที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ หรืออาจมากหรือน้อยกว่านั้นเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับระเบียบของแต่ละสายการบิน จำเป็นต้องแสดงเอกสารหรือใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันกำหนดคลอดและยืนยันว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายหากโดยสารเครื่องบินต่อเจ้าหน้าที่สายการบินจึงจะสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้

    คนท้องที่มีอาการแพ้ท้อง (Morning Sickness) ค่อนข้างรุนแรง มีอาการบ่อย และไม่สามารถควบคุมได้อาจต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยเครื่องบิน เพราะอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ขณะโดยสารเครื่องบิน และไม่สะดวกในการเดินทางมากนัก ส่วนใหญ่คนท้องจะมีอาการแพ้ท้องในช่วงไตรมาสที่ 1 หรือในช่วง 1-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

    คุณหมอผู้ดูแลครรภ์อาจไม่แนะนำให้คนท้องที่มีภาวะเสี่ยงทางสุขภาพบางประการเดินทางด้วยเครื่องบิน เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะรกเกาะต่ำ ภาวะแท้งคุกคาม เนื่องจากอาจทำให้ภาวะที่เป็นอยู่แย่ลง หรืออาจเกิดภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

    ความเสี่ยงจากการนั่งเครื่องบินตอนท้อง

    • ลิ่มเลือดอุดตัน

    การนั่งอยู่ในพื้นที่ที่มีความชื้นต่ำและมีอากาศไหลเวียนน้อยอย่างภายในเครื่องบินเป็นเวลานานหลายชั่วโมง อาจทำให้คนท้องเสี่ยงเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเสี่ยงบางประการ เช่น เคยเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันมาก่อน มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม เคยท้องมาแล้วหลายครั้ง มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งควรปรึกษาคุณหมอก่อนเดินทางด้วยเครื่องบิน คนท้องที่ขึ้นเครื่องบินควรขยับร่างกายบ่อย ๆ เช่น กระดกเท้า เหยียดขา ขยับเข่าไปมา ลุกเดินไปห้องน้ำ ใส่ถุงน่องซัพพอร์ต และควรดื่มน้ำให้เพียงพอ รวมไปถึงควรจำกัดการบริโภคคาเฟอีนที่อาจทำให้ขาดน้ำและปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น

    • ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น

    การขึ้นเครื่องบินอาจทำให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้นและหัวใจเต้นเร็วขึ้น แม้โดยทั่วไปจะอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย แต่คนท้องที่มีภาวะความดันโลหิตสูงควรปรึกษาคุณหมอหากต้องอยู่บนเครื่องบินเป็นเวลานานหรือเมื่อใช้เวลาเดินทางมากกว่า 4 ชั่วโมง

    คนท้องที่มีภาวะสุขภาพต่อไปนี้ คุณหมอมักจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการนั่งเครื่องบินไปต่างประเทศ หรือนั่งเครื่องบินเป็นเวลาหลายชั่วโมง

    • ท้องแรกและมีอายุเกิน 35 ปี
    • อุ้มท้องลูกแฝด
    • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือเสี่ยงแท้งบุตร

    คนท้องที่มีภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยเครื่องบิน

    • ปากมดลูกไม่แข็งแรง (Incompetent cervix) อาจทำให้เกิดการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้
    • ท้องมาแล้วหลายครั้ง
    • เป็นหรือเคยเป็นเบาหวานขณะท้อง
    • มีหรือเคยมีภาวะความดันโลหิตสูงขณะท้อง
    • มีหรือเคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษ
    • มีหรือเคยมีความผิดปกติเกี่ยวกับรก เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ
    • เคยแท้งบุตรมาก่อน
    • เคยท้องนอกมดลูก
    • เคยคลอดก่อนกำหนด

    แต่อย่างไรก็ตาม สายการบินมักไม่ได้ห้ามเดินทางก่อน 28 สัปดาห์ แม้เคยมีปัญหาทางสุขภาพมาก่อน และไม่ได้ต้องการเอกสารการตั้งครรภ์หรือใบรับรองแพทย์ หญิงตั้งครรภ์จึงควรปรึกษาคุณหมอให้แน่ใจก่อนเดินทางเพื่อความปลอดภัย

    การปฏิบัติตัวเมื่อต้องเดินทางขณะท้อง

    การปฏิบัติตัวเมื่อต้องเดินทางด้วยเครื่องบินขณะท้อง อาจมีดังนี้

    • คนท้องควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิดที่ทำให้เกิดลมหรือแก๊สในทางเดินอาหาร เช่น ถั่ว กะหล่ำปลี บรอกโคลี น้ำอัดลม เพราะอาจทำให้รู้สึกอึดอัดหรืออยากเข้าห้องน้ำขณะอยู่บนเครื่องบิน และหากมีอาการแพ้ท้องควรเตรียมยาแก้อาเจียนไปด้วย
    • คนท้องควรรัดเข็มขัดนิรภัยขณะนั่งเก้าอี้โดยสารตลอดเวลา โดยให้เข็มขัดอยู่ใต้หน้าท้องหรือบริเวณกระดูกสะโพก อย่าให้สายรัดม้วนหรือบิดจะได้ไม่รู้สึกอึดอัดและช่วยลดแรงกระแทกของเข็มขัดกับหน้าท้องหากเครื่องบินตกหลุมอากาศหรือเข้าสู่เขตสภาพอากาศแปรปรวน
    • ขณะอยู่บนเครื่องบิน ควรจิบน้ำเป็นระยะหากรู้สึกกระหายน้ำ เนื่องจากการขาดน้ำอาจทำให้เลือดไหลเวียนไปยังมดลูกได้ยากขึ้น และควรไปเข้าห้องน้ำทันทีที่รู้สึกปวดปัสสาวะ เพราะหากอั้นปัสสาวะบ่อยครั้งอาจเสี่ยงเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้
    • ควรเลือกที่นั่งแถวหน้าสุดที่มีพื้นที่ให้เหยียดขา ที่นั่งติดทางเดินที่สามารถลุกไปเข้าห้องน้ำได้สะดวก หรือที่นั่งบริเวณเหนือปีกเครื่องบินซึ่งเป็นจุดที่มีความสมดุลและมีแรงสั่นสะเทือนน้อย ทำให้กระทบกระเทือนท้องน้อยที่สุด และอาจช่วยลดอาการแพ้ท้องหรือวิงเวียนศีรษะได้
    • เตรียมเอกสารการฝากครรภ์เพื่อแสดงแก่เจ้าหน้าที่ก่อนขึ้นเครื่องบินทุกครั้ง และควรตรวจสอบเงื่อนไขในการเดินทางของแต่ละสายการบินก่อนจองบัตรโดยสาร เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในวันเดินทางจริง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา