backup og meta

คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 20/07/2022

    คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

    ว่าที่คุณแม่หลายคนอาจมีความสงสัยว่า คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม และสามารถฉีดวัคซีนชนิดไหนได้บ้าง ที่จะสามารถช่วยปกป้องว่าที่คุณแม่จากโรคโควิด-19 โดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อตนเองและทารกในครรภ์ เพื่อความปลอดภัยจึงควรปรึกษาคุณหมอ และตรวจสุขภาพเบื้องต้นว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ฉีดวัคซีนได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดแขนบริเวณที่ฉีดเล็กน้อย ซึ่งอาจหายได้เองภายใน 2-3 วัน

    คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

    คนท้องสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ เมื่อมีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะคนท้องที่มีอายุมาก มีน้ำหนักเกิน เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19  เพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการเจ็บป่วยเมื่อติดไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังอาจช่วยสร้างแอนติบอดีใหม่ที่ช่วยปกป้องทารกในครรภ์จากไวรัสโควิด-19

    หากคนท้องติดไวรัสโควิด-19 โดยไม่มีการฉีดวัคซีนอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงดังนี้

    • อาการป่วยรุนแรง โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ที่อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
    • คลอดก่อนกำหนด
    • การเสียชีวิตทั้งมารดาและทารกในครรภ์

    คนท้องฉีดวัคซีนโควิดชนิดใดได้บ้าง

    วัคซีนโควิด-19 ที่เหมาะกับคนท้อง มีดังนี้

  • ไฟเซอร์ (Pfizer-BioNTech) เป็นวัคซีนชนิด mRNA โดยการใช้สารพันธุกรรมของไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ซึ่งจะสร้างลักษณะคล้ายกับไวรัส ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันจดจำและสามารถสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมารับมือกับการติดเชื้อไวรัสในอนาคตได้ โดยควรฉีดให้ครบ 2 โดส แต่ละโดสห่างกัน 3-8 สัปดาห์
  • โมเดอร์นา (Moderna) เป็นวัคซีนชนิด mRNA เช่นเดียวกับวัคซีนไฟเซอร์ ที่อาจช่วยกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อไวรัส และอาจช่วยลดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง โดยควรฉีดให้ครบ 2 โดส แต่ละโดสห่างกัน 4-8 สัปดาห์
  • แอสตราเซเนก้า (AstraZeneca) เป็นวัคซีนชนิดไวรัล เวคเตอร์ (Viral Vector) ซึ่งเป็นวัคซีนที่นำพันธุกรรมของไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) มาใส่เข้าไปในส่วนหนามของไวรัส เมื่อวัคซีนนี้เข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เซลล์ในร่างกายเลียนแบบลักษณะของไวรัส และกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดี้เพื่อมาต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยควรฉีดให้ครบ 2 โดส แต่ละโดสห่างกัน 8-12 สัปดาห์
  • อย่างไรก็ตาม คนท้องสามารถเลือกฉีดวัคซีนเองได้ โดยการศึกษาข้อมูลแต่ละชนิดของวัคซีน เข้ารับการตรวจสุขภาพ และขอคำปรึกษาจากคุณหมอก่อนรับวัคซีน อีกทั้งยังควรแจ้งให้คุณหมอทราบเกี่ยวกับยาที่แพ้ ยาที่กำลังใช้ และโรคประจำตัว เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหลังฉีดวัคซีน

    ผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนโควิด

    ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนโควิด มีดังนี้

    • มีไข้ หนาวสั่น
    • ปวดศีรษะ
    • ปวดข้อ
    • อาจมีอาการบวม แดง และอาการปวดกล้ามเนื้อในบริเวณที่ฉีดวัคซีน
    • เหนื่อยล้า

    อาการข้างต้นอาจหายได้ภายใน 2-3 วันหลังฉีดวัคซีน แต่หากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติ หรือมีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรเข้าพบคุณหมอทันที

    • ทารกในครรภ์เคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ หรือคุณแม่ไม่รู้สึกว่าทารกมีการเคลื่อนไหว
    • มีเลือดออกจากช่องคลอด
    • ปวดศีรษะอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน
    • หายใจถี่ หอบ
    • มีไข้สูง
    • เหนื่อยล้าอย่างรุนแรง
    • เจ็บหน้าอก
    • ไอเป็นเลือด
    • มีเลือดออกใต้ผิวหนัง หรือมีรอยช้ำ
    • ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ

    การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในคนท้อง

    การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในคนท้อง อาจทำได้ดังนี้

    • รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครบทุกโดส
    • สวมหน้ากากอนามัย
    • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย
    • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร
    • ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ หรืออาจใช้เจลแอลกอฮอล์ที่มีส่วนประกอบของแอลกฮอล์อย่างน้อย 70% ขึ้นไป
    • หลีกเลี่ยงการนำมือไปสัมผัสดวงตา จมูก และปาก โดยที่ยังไม่ได้ล้างมือ เพราะอาจมีการปนเปื้อนของไวรัส
    • ทำความสะอาดพื้นที่ที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ เช่น สวิตช์ไฟ กลอนประตู ราวจับบันได

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 20/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา