backup og meta

ปัญหาภูมิคุ้มกันในทารกคลอดก่อนกำหนด ที่ควรรู้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    ปัญหาภูมิคุ้มกันในทารกคลอดก่อนกำหนด ที่ควรรู้

    ปัญหาภูมิคุ้มกันในทารกคลอดก่อนกำหนด เป็นภาวะแทรกซ้อนชนิดหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในทารกที่คลอดก่อนกำหนด และอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อสุขภาพทารกในระยะยาวได้

    การคลอดก่อนกำหนดคืออะไร

    การคลอดก่อนกำหนด คือ ทารกคลอดก่อนกำหนดจริงประมาณ 3 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ซึ่งทารกที่คลอดกำหนดหลายคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา ยิ่งทารกคลอดก่อนกำหนดเร็วเท่าใด ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นเท่านั้นด้วยเช่นกัน และหนึ่งในนั้นคือ ปัญหาภูมิคุ้มกันในทารกคลอดก่อนกำหนด ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อย

    ระบบภูมิคุ้มกันในทารก

    ระบบภูมิคุ้มกันประกอบไปด้วย เซลล์ โปรตีน เนื้อเยื่อ และอวัยวะที่ป้องกันการติดเชื้อ เมื่อเวลาผ่านไประบบภูมิคุ้มกันได้สัมผัสกับแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราต่าง ๆ จากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะพัฒนาแอนติบอดี (โปรตีนที่มีความสามารถในการกำจัดเชื้อโรค) เพื่อปกป้องร่างกายจากสิ่งที่บุรุกเข้ามาและพัฒนาเป็นภูมิคุ้มกันเชื้อนั้น ๆ  ตัวอย่างเช่น เด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใส หลังจากการติดเชื้อครั้งแรกระบบภูมิคุ้มกันจะพัฒนาแอนติบอดีและสร้างภูมิคุ้มกัน หากในอนาคตได้สัมผัสกับไวรัสตัวเดิมเด็กจะไม่เป็นอีสุกอีใสอีก

    โดยปกติทารกในครรภ์จะได้รับแอนติบอดีจากการผลิตแอนติบอดีของแม่ผ่านทางรกในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ทำให้ทารกมีภูมิต้านทานโรคตั้งแต่แรกเกิด แต่สำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจยังไม่ได้รับแอนติบอดีจากแม่อย่างเพียงพอ จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงและเสี่ยงต่อการติดเชื้อเมื่ออยู่นอกมดลูก นอกจากนี้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจมีปัญหาในการผลิตเซลล์และโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว และแอนติบอดี ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ทารกมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องได้

    การติดเชื้อในทารก

    ปัญหาภูมิคุ้มกันในทารกคลอดก่อนกำหนด เป็นปัญหาที่ทารกคลอดก่อนกำหนดมักมีระดับของแอนติบอดีต่ำ ซึ่งเป็นโปรตีนในเลือดที่ทำหน้าเป็นระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันการติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด ทารกจะได้รับแอนติบอดีจากแม่ผ่านทางรกแต่สำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะได้รับแอนติบอดีที่น้อยกว่า ทำให้ทารกมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อหลังคลอดสูง โดยเฉพาะการติดเชื้อในเลือด หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อีกทั้งการใช้อุปกรณ์ในการรักษาทารกคลอดก่อนกำหนด อย่างเช่น เครื่องช่วยหายใจ สายสวนในหลอดเลือด จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียที่ร้ายแรงได้

    ภาวะติดเชื้อระยะเริ้มต้น

    ทารกสามารถติดเชื้อในระยะเริ้มต้นได้หากทารกได้มีการสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียบางชนิดระหว่างคลอด ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

    • เยื้อหุ้มทารกแตกก่อนกำหนด (น้ำเดินก่อนกำหนด)
    • การติดเชื้อในมารดา เช่น การติดเชื้อภายในมดลูกและมีภาวะน้ำคร่ำอักเสบ (Chorioamnionitis)
    • การติดเชื้อสเตรปโทคอกคัสในช่องคลอดมารดา (group B streptococcus : GBS)
    • การคลอดก่อนกำหนด

    แบคทีเรียทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในทารกแรกเกิดที่พบบ่อยที่สุด คือ Escherichia coli และ GBS ซึ่งทารกสามารถติดเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ระหว่างผ่านช่องคลอด ดังนั้นการตรวจคัดกรองก่อนคลอดจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากพบว่ามารดามีการติดเชื้อ GBS แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาในขั้นตอนต่อไป

    ภาวะติดเชื้อในระยะหลัง

    ทารกแรกเกิดสามารถติดเชื้อระยะหลังได้หากมีการสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียบางชนิดในโรงพยาบาล ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

    • คลอดก่อนกำหนด
    • การใช้สายสวนในเลือดแดง หลอดเลือดดำ หรือการสวนกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน
    • การใช้เครื่องช่วยหายใจที่สอดเข้าไปในจมูกหรือปากของทารกแรกเกิด
    • การรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน

    อาการของภาวะติดเชื้อในทารก

    อาการที่อาจบอกว่าทารกติดเชื้อในกระแสเลือด ดังนี้

    • อุณหภูมิร่างกายไม่คงที่
    • มีไข้
    • ภาวะหายใจลำบาก
    • หยุดหายใจขณะหลับ
    • สีผิวซีด
    • การไหลเวียนเลือดไม่ดี
    • แขนขาเย็น
    • ท้องบวม
    • อาเจียน ท้องเสีย อาการชัก
    • โรคดีซ่าน
    • โรคปอดบวม
    • ทารกไม่สามารถย่อยน้ำนมแม่ได้ / ดูดนมได้น้อยลง

    ทั้งหมดนี้คืออาการที่อาจบอกว่าทารกมีภาวะติดเชื้อ แต่ในทารกบางคนอาจมีอาการอื่น ๆ ที่แตกต่างออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อที่ส่งผลต่ออาการของทารกด้วย

    หมายเหตุ กรณีทารกคลอดก่อนกำหนด ต้องได้รับการวินิจฉัยและตรวจรักษาอย่างละเอียดจากกุมารแพทย์ จึงแนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์เจ้าของไข้ถึงแนวทางการดูแลรักษา ซึ่งแต่ละรายอาจแตกต่างกันไปตามอายุครรภ์และความรุนแรงของโรค

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา