backup og meta

คนท้อง ท้องเสีย เกิดจากอะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    คนท้อง ท้องเสีย เกิดจากอะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

    คนท้อง ท้องเสีย เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง การไวต่ออาหารบางชนิด การติดเชื้อ เป็นต้น หากคนท้องมีอาการท้องเสียเพียงเล็กน้อย การดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเปล่าและของเหลวให้มาก ๆ รับประทานอาหารอ่อน จะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ แต่หากมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ท้องเสียติดต่อกันนานเกิน 2 วัน มีไข้ ถ่ายเหลวมีมูกเลือดปน ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

    คนท้อง ท้องเสีย เกิดจากอะไร

    อาการท้องเสียของคนท้องอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง อาจทำให้กระบวนการย่อยอาหารทำงานช้าลง และบางครั้งอาจทำให้มีอาการท้องเสียได้
  • ความไวต่ออาหาร คนท้องบางคนไวต่ออาหารบางชนิดมากขึ้น ทำให้เมื่อรับประทานแล้วมีอาการท้องไส้ปั่นป่วนหรือท้องเสียได้ง่าย แม้ว่าก่อนท้องจะไม่เคยเป็นมาก่อนก็ตาม
  • การปรับเปลี่ยนอาหาร เมื่อทราบว่าตั้งท้อง คนท้องอาจเปลี่ยนอาหารที่รับประทานกะทันหัน ร่างกายจึงปรับตัวไม่ทันจนอาจทำให้ไม่สบายท้อง หรือทำให้ คนท้อง ท้องเสีย ได้
  • ใกล้ถึงกำหนดคลอด อาการท้องเสียของคนท้องอาจเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อนคลอด เนื่องจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่าพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) เพื่อกระตุ้นให้มดลูกบีบรัดตัว แต่ก็อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน
  • การติดเชื้อ คนท้องอาจติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรตา (Rotavirus) หรือแบคทีเรีย เช่น เชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella) ที่ส่งผลให้ท้องเสียได้
  • อาการท้องเสียในคนท้อง เป็นอันตรายไหม

    อาการท้องเสียและอาการอื่น ๆ อย่างการอาเจียน ที่มักเกิดขึ้นพร้อมกัน อาจทำให้คนท้องเกิดภาวะขาดน้ำได้ หากรู้สึกอ่อนเพลียควรรับประทานเกลือแร่ หรือโออาร์เอส (ORS หรือ Oral Rehydration Salts) เพื่อทดแทนการสูญเสียเกลือแร่ และดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ร่างกายมีของเหลวเพียงพอ ป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงที่อาจทำให้ระดับน้ำคร่ำลดลง จนส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ นำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด หรือทารกพิการแต่กำเนิด รวมถึงอันตรายจากภาวะขาดน้ำในคนท้องที่อันตรายจนเกิดภาวะช็อกได้

    นอกจากนี้ การรับประทานอาหารบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย เช่น อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารทะเลดิบ นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างแบคทีเรียลิสเทอเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes) ที่ทำให้เกิดโรคลิสเทริโอซิส (Listeriosis) ซึ่งทำให้เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การแท้ง ภาวะทารกตายคลอด (Stillbirth) ได้ด้วย

    วิธีบรรเทาอาการเมื่อคนท้อง ท้องเสีย

    ตามปกติแล้วอาการท้องเสียจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน โดยคนท้องสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อบรรเทาอาการท้องเสียได้ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ งดทำกิจกรรมทางกายหนัก ๆ ที่ทำให้รู้สึกเหนื่อย
  • ดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำผลไม้บ่อย ๆ อย่างน้อย 8-12 แก้ว/วัน หรือ 1.9-2.8 ลิตร หรือรับประทานอาหารประเภทน้ำซุป เพื่อให้ร่างกายได้รับของเหลวเพียงพอ
  • รับประทานน้ำเปล่าผสมผงเกลือแร่ เมื่อมีอาการอ่อนเพลียเนื่องจากท้องเสียหรืออาเจียน
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่มผสมโซดา น้ำอัดลม เพราะอาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลงได้
  • กินอาหารรสอ่อนและมีเส้นใยอาหารน้อย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปฟักทอง ไข่ตุ๋น เกี๊ยวน้ำ
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เช่น ส้มตำ ยำปูดอง รวมถึงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เช่น อาหารฟาสต์ฟูด เบเกอรี เพราะอาจทำให้อาการท้องเสียรุนแรงขึ้น
  • วิธีป้องกัน คนท้อง ท้องเสีย

    วิธีป้องกันคนท้อง ท้องเสีย อาจทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำจากแหล่งที่เสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรค
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจากร้านข้างทางที่ไม่สามารถตรวจสอบมาตรฐานด้านสุขอนามัยได้
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่ปอกเปลือกไว้แล้ว ควรล้างผลไม้ให้สะอาดและปอกเปลือกเองก่อนนำมารับประทานทุกครั้ง
    • หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดี
    • ล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำ ทั้งก่อนเตรียมอาหาร รับประทานอาหาร รวมถึงหลังใช้ห้องน้ำ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคที่มือซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกาย และทำให้คนท้อง ท้องเสีย หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา