backup og meta

คนท้องห้ามกินอะไร และการดูแลตัวเองก่อนคลอด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    คนท้องห้ามกินอะไร และการดูแลตัวเองก่อนคลอด

    การกินอาหารในช่วงตั้งท้องถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ดังนั้น คุณแม่ตั้งท้องหลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า คนท้องห้ามกินอะไร เพื่อให้ปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกายของตัวเองและทารกในท้อง โดยหลักการทั่วไปคือการเลือกรับประทานอาหารที่สดสะอาด ถูกสุขลักษณะคล้ายกับคนทั่วไปแต่อาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดหรือบางกลุ่มในคนท้องที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ จำกัดอาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ รวมถึงอาหารหรือยาเวชภัณฑ์บางอย่างที่ควรหลีกเลี่ยงในบางช่วงอายุครรภ์ เพราะอาจทำให้เกิดกับอันตรายกับทารกในท้องได้

    คนท้องห้ามกินอะไร

    คนท้องควรกินอาหารที่หลากหลายและอุดมไปด้วยสารอาหารที่ครบ 5 หมู่ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ และไขมัน เพื่อช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองของทารก อย่างไรก็ตาม ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง ดังนี้

    • อาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เช่น ชีส นมวัว นมแพะ นมแกะ ครีม เนื่องจากอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียลิสเทอเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes) ที่สามารถนำไปสู่การแท้งบุตร ภาวะตายคลอด (Stillbirth) หรือทารกเจ็บป่วย
    • อาหารดิบไม่ผ่านการปรุงสุก อาจเสี่ยงติดเชื้อโปรโตซัวท็อกโซพลาสมา กอนดีไอ (Toxoplasma Gondii) ที่นำไปสู่โรคไข้ขี้แมว (Toxoplasmosis) ซึ่งสามารถทำให้ติดต่อไปถึงทารกในท้องได้
    • ไข่ดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ อาจเสี่ยงติดเชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella) ส่งผลให้คุณแม่มีไข้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย รวมถึงอาจส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือเสียชีวิตในท้อง
    • อาหารทะเลและปลาบางชนิดที่อาจปนเปื้อนสารปรอท เช่น หอยดิบ ปลาทูน่า ปลาอินทรีย์ ที่อาจทำให้คุณแม่ไม่สบาย มีอาการอาหารเป็นพิษ และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในท้องได้
    • ผักหรือผลไม้ที่ปลูกติดดิน เช่น ผักสลัด ถั่วงอก สตรอว์เบอร์รี่ เนื่องจากอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดิน ดังนั้น ก่อนกินจึงควรล้างทำความสะอาดก่อนเสมอ
    • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางสมองของทารกในท้อง
    • ถั่วลิสง โดยทั่วไปถั่วสามารถรับประทานได้ แต่สำหรับคุณแม่ที่มีอาการภูมิแพ้ หรือคุณหมอวินิจฉัยว่าเสี่ยงเป็นภูมิแพ้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้สูง เพราะอาจทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบได้
    • คาเฟอีน ยังไม่มีการวิจัยยืนยันที่แน่ชัดว่าคาเฟอีนเป็นอันตรายต่อการตั้งท้องอย่างไร แต่เพื่อความปลอดภัยจึงควรจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มหรือกินอาหารที่มีคาเฟอีน โดยไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม/วัน
    • อาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีวิตามินเอเป็นส่วนประกอบ เช่น ยาลดการเป็นสิว โดยเฉพาะการบริโภคในช่วงไตรมาสแรกอาจจะมีความเสี่ยงการเกิดความผิดปกติต่อทารกในท้องได้

    การดูแลตัวเองก่อนคลอด

    การดูแลตัวเองในระหว่างตั้งท้องจะช่วยให้สุขภาพของคุณแม่และทารกในท้องแข็งแรง รวมถึงเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนคลอด ซึ่งอาจทำได้ดังนี้

    • ฝากครรภ์เพื่อตรวจสุขภาพทารกในท้องและสุขภาพของคุณแม่ รวมถึงควรเข้าพบคุณหมอตามนัดหมายอยู่เสมอ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารกในท้องและความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งท้อง
    • รับประทานอาหารแบบแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนัก เพื่อป้องกันอาการกรดไหลย้อนและลดความรุนแรงของอาการแพ้ท้อง รวมทั้งช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารก โดยควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม เหล็ก กรดโฟลิก (Folic Acid) และวิตามินซี
    • รักษาน้ำหนักให้เหมาะสมในระหว่างตั้งท้อง โดยคุณแม่ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15 กิโลกรัม หรือเฉลี่ยประมาณ 12.5 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับดัชนีมวลกายของแต่ละคนด้วย
    • กินยาตามใบสั่งคุณหมออย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวหรือต้องกินวิตามินเสริมระหว่างตั้งท้อง
    • งดสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดในระหว่างตั้งท้อง เพื่อป้องกันความผิดปกติของทารกในท้อง
    • ออกกำลังกายอยู่เสมอ เช่น โยคะ ออกกำลังกายอุ้งเชิงกราน เพื่อเสริมความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่ได้มีข้อห้าม
    • จัดการกับความเครียด เพื่อสุขภาพจิตที่ดีของคุณแม่และทารกในท้อง ด้วยการหากิจกรรมยามว่างที่ชอบเพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น พูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อน วาดรูป ฟังเพลง อ่านหนังสือ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา