backup og meta

ทำกิ๊ฟ หรือการทำเด็กหลอดแก้ว สำหรับคุณแม่มีบุตรยาก

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 25/04/2022

    ทำกิ๊ฟ หรือการทำเด็กหลอดแก้ว สำหรับคุณแม่มีบุตรยาก

    ทำกิ๊ฟ (Gamete Intrafallopian Transfer หรือ GIFT) หรือการทำเด็กหลอดแก้วในปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การทำ ICSI ( Intracytoplasmic Sperm Injection) และการทำ IVF ( In-Vito Fertilization ) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ุสำหรับรักษาผู้มีบุตรยาก เป็นวิธีรักษาทางเลือกที่เหมาะสำหรับคู่รักที่มีปัญหาในการมีลูก

    การทำเด็กหลอดเแก้ว

    ใปัจจุบัน การทำเด็กหลอดแก้วมีอยู่ 2 วิธี ดังนี้

    • IVF หรือ In-Vito Fertilization เป็นการคัดไข่ที่สมบูรณ์จากฝ่ายหญิงและอสุจิที่แข็งแรงจากฝ่ายชายมาผสมเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิกันเอง แล้วนำตัวอ่อนที่ได้ย้ายกลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป
    • ICSI หรือ Intracytoplasmic Sperm Injection เป็นการใช้เข็มดูดเลือกอสุจิที่มีความแข็งแรงที่สุด แล้วฉีดอสุจิเข้าไปในไข่ เมื่อเกิดการปฏิสนธิจนกลายเป็นตัวอ่อนค่อยย้ายกลับเข้าไปในโพรงมดลูก สำหรับการทำ ICSI เหมาะสำหรับคนไข้ที่อสุจิไม่แข็งแรง

    ทำกิ๊ฟ คืออะไร

    การทำกิ๊ฟ (Gamete Intrafallopian Transfer หรือ GIFT) เป็นวิธีนำเอาเชื้ออสุจิที่แข็งแรงและผ่านกาคัดเลือดแล้วกับไข่ที่สุกเต็มที่มาผสมกันภายนอกร่างกาย จากนั้นฉีดส่งกลับเข้าไปในท่อนำไข่ เพื่อทำการปฏิสนธิตามธรรมชาติ เป็นวิธีที่จะช่วยให้ไข่และอสุจิสามารถปฏิสนธิในตำแหน่งและช่วงเวลาที่เหมาะสม หลังจากผ่านกระบวนการปฏิสนธิตัวอ่อนจะเคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่และฝังตัวในโพรงมดลูกเหมือนกับการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นที่ยอมรับในกลุ่มศาสนาหรือวัฒนธรรมที่ไม่ประสงค์ใช้เทคโนโลยีสร้างตัวอ่อน แต่ในปัจจุบันวิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากขั้นตอนยุ่งยากกว่า และอัตราการตั้งครรภ์น้อยกว่าการทำ IVF และ ICSI

    ขั้นตอนการทำกิ๊ฟ

    การทำกิ๊ฟอาจมีขั้นตอน ดังนี้

    • ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายต้องเข้ารับการซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้นกับคุณหมอ รวมถึงเจาะเลือดตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อให้ทราบถึงโรคประจำตัวและสาเหตุที่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะมีบุตรยาก
    • ฝ่ายหญิงต้องอัลตราซาวด์ เพื่อตรวจความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ทั้ง 2 ข้าง และอาจจะต้องทำการฉีดสีเข้าโพรงมดลูกเพื่อตรวจดูท่อนำไข่ ต้องมีอย่างน้อย 1 ท่อที่ไม่ตีบตัน
    • ฝ่ายชายต้องได้รับการตรวจน้ำเชื้อเพื่อประเมินความแข็งแรงของอสุจิ
    • คุณหมอจะนำผลการตรวจของทั้งคู่เพื่อประเมินวิธีการรักษา จากนั้นจะให้ฝ่ายหญิงเริ่มฉีดยากระตุ้นไข่และนัดมาอัลตราซาวด์เป็นระยะเพื่อหาวันนัดเก็บไข่
    • หลังจากฉีดยาเพื่อให้ไข่ตกแล้ว วันที่นัดมาเก็บไข่คุณหมอจะใช้อัลตราซาวด์ทางช่องคลอดที่ติดอุปกรณ์ สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อทำการเก็บไข่
    • จากนั้นนำไข่ที่สุกเต็มที่และตัวอสุจิของฝ่ายชายที่ผ่านการคัดเลือกแล้วมาผสมกันตามวิธีที่คุณหมอเห็นว่าเหมาะสมสำหรับในแต่ละคู่แล้วรอการปฏิสนธิ
    • เมื่อได้ตัวอ่อนเรียบร้อยแล้ว จะนำตัวอ่อนที่ได้มาเพาะเลี้ยงต่อจนอายุ 3-5 วัน จากนั้น คุณหมอจะนัดย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกแล้วรอการฝังตัว และเจริญเติบโตตามธรรมชาติต่อไป

    ทำกิ๊ฟ เหมาะกับใคร

    การทำกิ๊ฟเหมาะสำหรับคู่รักที่มีปัจจัยเหล่านี้

    • คู่รักที่มีภาวะมีบุตรยาก
    • ฝ่ายหญิงที่มีปัญหาท่อนำไข่ตัน บวมน้ำ พิการแต่กำเนิด เคยผ่าตัดท่อนำไข่ออกไปทั้ง 2 ข้างหรือมีพังผืดบริเวณท่อนำไข่
    • ฝ่ายหญิงที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) จนมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Adhesion) และล้มเหลวจากการรักษาด้วยยาหรือผ่าตัด
    • ปัญหาไข่ไม่ตกเรื้อรังและล้มเหลวจากการรักษา หรือผู้ที่มีปริมาณไข่คงเหลือน้อย (Low Ovarian Reserve)
    • ปริมาณและคุณภาพของอสุจิของฝ่ายชายที่ไม่เหมาะสม เช่น น้ำเชื้อตัวอสุจิน้อย การเคลื่อนไหวต่ำ รูปร่างผิดปกติมาก ไม่พบตัวอสุจิในน้ำเชื้อ หรือไม่สามารถหลั่งน้ำเชื้อออกมาได้ เป็นต้น
    • คู่ที่มีข้อบ่งชี้ในการตรวจวินิจฉัยตัวอ่อนก่อนการฝังตัว
    • ใช้วิธีฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูกแล้วไม่ประสบความสำเร็จ
    • คู่ที่ต้องการเก็บรักษาเซลล์สืบพันธุ์หรือตัวอ่อน ก่อนการรักษามะเร็ง ด้วยยาเคมีบำบัดหรือฉายแสง

    ข้อดีและข้อเสียของการทำกิ๊ฟ

    ข้อดีของการทำกิ๊ฟ

    • ขั้นตอนเก็บไข่อาจใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล
    • ไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดในกรณีที่ท่อนำไข่มีปัญหา
    • เหมาะสำหรับแก้ไขปัญหาได้ทั้งด้านของไข่ฝ่ายหญิงและเชื้ออสุจิของฝ่ายชาย
    • ช่วยลดความเสี่ยงในการแท้งบุตร เพราะการทำเด็กหลอดแก้วสามารถตรวจคัดกรองความผิดปกติของตัวอ่อน ซึ่งมีโอกาสช่วยทำให้ตั้งครรภ์สำเร็จและลดอัตราการแท้งบุตรได้
    • กรณีคู่สมรสมีความเสี่ยงของโรคที่จะถ่ายทอดไปยังลูกได้ เช่น โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย  โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือมีประวัติโรคผิดปกติทางโครโมโซม เช่น ดาวน์ซินโดรม สามารถตัวหาความผิดปกติดังกล่าวของตัวอ่อน ก่อนที่จะทำการย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกได้ หรือในคู่ที่มีความเสี่ยงของโรคบางชนิดจะพบเฉพาะในบุตรเพศชาย เช่น ตาบอดสี โรคเลือดฮีโมฟีเลีย ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ก็สามารถทราบเพศของตัวอ่อนได้ก่อนเช่นกัน
    • ช่วยกำหนดช่วงเวลาที่จะวางแผนจะตั้งครรภ์ได้ เพราะการทำเด็กหลอดแก้ว สามารถเก็บรักษาตัวอ่อนแช่แข็งไว้ใช้ได้นานหลายสิบปี

    ข้อเสียของการทำกิ๊ฟ

    • มีความเสี่ยงต่อภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก
    • ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
    • อาจเกิดภาวะรังไข่บวม จากการได้รับฮอร์โมนกระตุ้นมากเกินไป
    • เกิดความเครียดเมื่อเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้วและเครียดจากความคาดหวัง
    • ในคนไข้บางรายอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา เช่น อาการปวดหัว ร้อนวูบวาบและอารมณ์แปรปรวน
    • ในขั้นตอนการเก็บไข่อาจมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น การติดเชื้อ เลือดออก
    • มีโอกาสตั้งครรภ์แฝด หากสุขภาพของคุณแม่ไม่แข็งแรง อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดหรือทารกมีน้ำหนักตัวน้อยได้

    อัตราความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้ว

    การทำเด็กหลอดแก้ว มีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สะสมสูง 40-50% ต่อรอบการรักษา ซึ่งมากกว่าวิธีพยายามโดยธรรมชาติหรือการฉีดเชื้อที่อัตราความสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 30% และมีอัตราความสำเร็จต่อการรักษาสูงมากถึง 70-80% ต่อรอบการรักษา

    อัตราความสำเร็จของการทำกิ๊ฟ

    อัตราความสำเร็จอาจเกิดขึ้นอย่างไม่เฉพาะเจาะจง ขึ้นอยู่กับอายุและสภาวะสุขภาพ โดยเฉลี่ยผู้หญิงอายุ 25-39 ปี ประมาณ 25-30% ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ด้วยวิธีทำกิ๊ฟ และ15.1% อาจไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อเทียบกับผู้หญิงอายุ 40-43 ปี ไม่ประสบความสำเร็จถึง 25.0% และ 44-45 ปี ไม่ประสบความสำเร็จถึง 31.0%

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 25/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา