backup og meta

ก้อนเลือด 1 เดือน ภาวะแท้งขณะตั้งครรภ์ระยะแรก

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 16/08/2023

    ก้อนเลือด 1 เดือน ภาวะแท้งขณะตั้งครรภ์ระยะแรก

    ก้อนเลือด 1 เดือน หรือ ก้อนมูกเลือดที่ออกมาจากช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ได้ 1 เดือน อาจเกิดจากภาวะผิดปกติขณะตั้งครรภ์ เช่น ภาวะแท้งบุตร ภาวะท้องลม ภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะแท้งคุกคาม หากพบว่าตัวเองมีก้อนเลือด หรือมีของเหลว ไหลออกจากช่องคลอดไม่ว่าในช่วงระยะไหนของการตั้งครรภ์ ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาให้เร็วที่สุด

    ก้อนเลือด 1 เดือน เกิดจากอะไร

    คน ท้อง มี ก้อนเลือด 1 เดือน เป็นอาการที่มีเลือดหรือก้อนเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดในขณะตั้งครรภ์ได้ 4 สัปดาห์หรือ 1 เดือน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ เช่น

    • การสูญเสียการตั้งครรภ์หรือการแท้งบุตร (Miscarriage) เป็นภาวะผิดปกติการของตั้งครรภ์ที่ทำให้สูญเสียตัวอ่อนในครรภ์ มักเกิดขึ้นในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ สาเหตุหลักมาจากความผิดปกติของโครโมโซม ทำให้ทารกในครรภ์หยุดเจริญเติบโตและอาจทำให้มีก้อนเลือดและเนื้อเยื่อบางส่วนไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งอาจมีทั้งกรณีที่หลุดออกมาอย่างสมบูรณ์ และกรณีที่มีชิ้นส่วนของเนื้อเยื่อตกค้างอยู่ในมดลูกและจำเป็นต้องขูดลอกออก
    • ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened abortion) เป็นภาวะผิดปกติขณะตั้งครรภ์ที่อาจทำให้มีมูกเลือดหรือเลือดสดไหลออกมาจากช่องคลอด ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ภาวะแท้งคุกคามส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยการตรวจภายในเพื่อหาความผิดปกติและรักษาตามอาการ ผู้มีภาวะแท้งคุกคามมักเลือดหยุดไหลได้เองและดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้เป็นปกติ
    • ภาวะตั้งครรภ์ที่ตัวอ่อนไม่ฝังตัว (Chemical pregnancy) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังการฝังตัวของตัวอ่อน แต่ไม่มีการเจริญเติบโตต่อ และแท้งออกมาก่อน 5 สัปดาห์ ทำให้มีลิ่มเลือดหรือก้อนเลือดไหลออกจากช่องคลอด มักเกิดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ที่ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยการอัลตราซาวด์ไม่ได้และต้องยืนยันผลการตั้งครรภ์จากการตรวจเลือดและปัสสาวะเท่านั้น บางกรณี อาจเกิดภาวะแท้งในขณะที่คุณแม่อาจไม่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์
    • ภาวะท้องลม (Blighted Ovum) เป็นการตั้งครรภ์โดยที่ไม่มีตัวอ่อน เกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนฝ่อตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจนเหลือเพียงถุงตั้งครรภ์ที่อาจต้องขูดออกมาจากมดลูกให้หมด โดยในช่วง 6 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ อาจเกิดภาวะแท้งธรรมชาติที่ถุงตั้งครรภ์หลุดออกมาทั้งถุงได้โดยไม่ต้องขูดมดลูก
    • ภาวะตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy) เป็นภาวะตั้งครรภ์ผิดปกติที่รกและทารกในครรภ์ไม่เจริญเติบโตตามปกติ และเกิดถุงน้ำจำนวนมากในมดลูก เมื่ออัลตราซาวด์แล้วจะไม่พบน้ำคร่ำและเนื้อเยื่อของทารก และจะมีเนื้อเยื่อและเลือดสีน้ำตาลเข้มถึงสีแดงสดไหลออกทางช่องคลอดคล้ายกับอาการแท้งบุตร ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ขึ้นไป
    • ภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนฝังตัวอยู่บริเวณนอกมดลูก เช่น ท่อนำไข่ แทนที่จะฝังตัวในผนังมดลูกตามปกติ อาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูกมักเกิดขึ้นระหว่างสัปดาห์ที่ 4-12 ของการตั้งครรภ์ อาจทำให้มีเลือดสีแดงสดหรือสีแดงเข้มไหลออกจากช่องคลอด หรือมีเลือดออกในช่องท้องทำให้มีอาการปวดท้องร่วมด้วย

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด ก้อนเลือด 1 เดือน

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดก้อนเลือด 1 เดือนอาจมีดังนี้

    ปัญหาโครโมโซมผิดปกติ

    อาการแท้งบุตรในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยส่วนใหญ่มักเกิดในช่วง 12 สัปดาห์แรก มักเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดลักษณะเฉพาะของทารก เช่น ผม สีตา หากโครโมโซมของทารกมีจำนวนมากหรือน้อยกว่าปกติ อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะท้องลม ภาวะตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก โดยปกติแล้ว ปัญหาความผิดปกติของโครโมโซมมักไม่เกิดขึ้นซ้ำในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ทั้งนี้ ผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไปอาจมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาโครโมโซม เช่น ทารกเป็นโรคดาวน์ซินโดรม การแท้งบุตร ภาวะตายคลอด (Stillbirth) มากกว่าผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า เนื่องจากระบบสืบพันธุ์เสื่อมถอยลง จำนวนไข่และคุณภาพของไข่ก็ลดลงไปด้วย

    ปัญหาสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์

    • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในเทียม โรคหนองใน โรคซิฟิลิส การติดเชื้อเอชไอวี
    • โรคเรื้อรังที่ควบคุมได้ไม่ดี เช่น โรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง
    • ปัญหาเกี่ยวกับมดลูกหรือปากมดลูก เช่น เนื้องอกมดลูก ภาวะปากมดลูกเปิดกว้างและขยายก่อนกำหนดคลอด (Cervical insufficiency)
    • โรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อตนเอง (Autoimmune Diseases) เช่น โรคไทรอยด์ โรคลูปัส
    • ปัญหาการแข็งตัวของเลือดที่ขัดขวางการไหลเวียนเลือดไปยังรก
    • การติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus Infection) ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มไวรัสเริม ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง

    สัญญาณและอาการของการแท้งในระยะแรก

    สัญญาณและอาการแสดงของการแท้งบุตรของแต่ละคนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระยะของการตั้งครรภ์ของคุณแม่ หากสูญเสียทารกในครรภ์ไปตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ ปริมาณเลือดและเนื้อเยื่อที่ออกจากช่องคลอดจะน้อยกว่าขนาดของตัวอ่อนที่มีอายุครรภ์มากกว่า โดยอาการแท้งในระยะแรกของการตั้งครรภ์ อาจมีดังนี้

    • มีจุดเลือดออกหรือมีเลือดออกจากช่องคลอด
    • ปวดท้องหรือหลังส่วนล่าง
    • มีเนื้อเยื่อ ก้อนเมือก รวมไปถึงของเหลว ออกมาจากช่องคลอด
    • มีตกขาวสีคล้ำคล้ายกากกาแฟไหลออกจากช่องคลอด
    • อาการแพ้ท้องที่เคยมีหายไป เช่น อาการเต้านมคัดตึง ความรู้สึกคลื่นไส้

    วิธีป้องกันภาวะแท้งขณะตั้งครรภ์

    การแท้งบุตรเป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ แต่การดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งขณะตั้งครรภ์ได้

    • ฝากครรภ์ (Prenatal care) เพื่อรับการดูแลสุขภาพครรภ์จากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอด ซึ่งจะช่วยให้ทราบถึงพัฒนาการของทารกและตรวจสอบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ หากพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถรักษาได้ทันท่วงที
    • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพซึ่งอาจส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด
    • รับประทานวิตามินเสริมและอาหารเสริมที่จำเป็นทั้งก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ โดยทั่วไป สำหรับคุณแม่ที่วางแผนตั้งครรภ์และต้องการให้ทารกมีพัฒนาการที่แข็งแรงสมบูรณ์ หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เคยมีประวัติคลอดบุตรผิดปกติ หรือแท้งบุตร ให้รับประทาน Folic 400 ไมโครกรัม หรือ 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน  แต่ถ้าเคยคลอดบุตรผิดปกติ ให้รับประทาน 4000 ไมโครกรัม หรือ 4 มิลลิกรัมต่อวันตั้งแต่ 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ ถึงอายุครรภ์ 3 เดือน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการสร้างท่อหลอดประสาทเพื่อสร้างอวัยวะที่สมบูรณ์ และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะพิการแต่กำเนิดของทารกได้
    • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและสัมพันธ์กับส่วนสูงของตัวเอง ซึ่งสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้จากการวัดค่าดัชนีมวลกาย (BMI) คุณแม่ไม่ควรมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ เกินเกณฑ์ หรือเป็นโรคอ้วน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำเนิด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 16/08/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา