คนท้องท้องผูก เป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยมักพบในอัตราสามในสี่ของคนท้อง เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน แรงดันในท้อง และการไหลเวียนของโลหิต รวมทั้งขนาดมดลูกที่ใหญ่ขึ้นจนไปกดทับลำไส้ใหญ่จึงอาจถ่ายได้ไม่สุด อาจทำให้คนท้องอึดอัดและรู้สึกไม่สบายตัว อย่างไรก็ตาม คนท้องท้องผูกเป็นปัญหาสุขภาพที่สามารถรับมือและแก้ไขได้ เพราะมีหลากหลายวิธีที่จะช่วยให้คนท้องท้องผูกขับถ่ายได้สะดวกขึ้น
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
อาการท้องผูก คืออะไร
ปัญหาท้องผูก หมายถึง การเบ่งอุจจาระลําบาก มีปัญหาถ่ายอุจจาระได้น้อยกว่า 3 คร้ังต่อสัปดาห์ อาการท้องผูกส่วนใหญ่มักไม่ได้ส่งผลให้เกิดอันตราย แต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง สำหรับผู้ที่ท้องผูก จะมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- ต้องเบ่งมากกว่าปกติ
- อุจจาระเป็นก้อนแข็ง (lumpy or hard stool)
- รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด
- มีความรู้สึกว่าถ่ายไม่ออกเนื่องจากมีสิ่งอุดกั้นบริเวณทวารหนัก
- ต้องใช้นิ้วมือช่วยในการถ่ายอุจจาระ
ท้องผูกเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
สาเหตุของอาการท้องผูกแบ่งได้แป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. สาเหตุที่เกิดจากโรคทางกาย
โรคทางกายที่สามารถเป็นสาเหตุของอาการท้องผูกเรื้อรังได้แก่
- เบาหวาน
- ต่อมไทรอยด์ทํางานน้อยกว่าปกติ
- ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง
- โรคทางระบบประสาทต่าง ๆ เช่น ได้รับบาดเจ็บหรือมีโรคที่สมองหรือไขสันหลัง
2. สาเหตุจากการใช้ยาบางชนิด
มียาหลายชนิดที่ทําให้เกิดอาการท้องผูก ยาที่ทําให้เกิดอาการท้องผูกได้มีดังต่อไปนี้
- กลุ่มยาทางจิตเวช ที่สําคัญและพบบ่อย ได้แก่ ยาที่รักษาอาการซึมเศร้า
- ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดและน้ำย่อย ซึ่งจะทําให้การบีบตัวของทางเดินอาหารน้อยลง ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ ยาลดการบีบเกร็งของลําไส้ที่ใช้แก้ปวดท้อง เช่น ยาบุสโคพาน (Buscopan) ยารักษาโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s) เช่น ยาเลโวโดปา (Levodopa) และยาแก้แพ้บางชนิด เช่น คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine)
- ยากันชัก เช่น ยาไดแลนติน (Dilantin)
- ยาลดความดันโลหิต ได้แก่ ดิลไทอะเซม (Diltiazem) เวอราปามิล (Verapamil) โคลนิดีน (Clonidine)
- ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน หรือ อนุพันธ์ของมอร์ฟีน เช่น พาราเซตามอลชนิดที่มีส่วนผสมของ โคเอดีน (Codeine)
- ธาตุเหล็ก ที่มีอยู่ในยาบํารุงเลือด
- ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแคลเซียมหรืออะลูมิเนียม
- ยาแก้ปวดกลุ่มเอนเสด (NSAIDs) เช่น ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ไพร็อกซิแคม (Piroxicam) อินโดเมทาซิน (Indomethacin)
- ยาอื่น ๆ เช่น คอเลสไทรามีน (Cholestyramine)
3. เกิดจากการอุดกั้นของลําไส้
การอุดกั้นของทางเดินอาหารสามารถทําให้เกิดอาการท้องผูกได้ ซึ่งภาวะดังกล่าว ได้แก่
- มะเร็งหรือเนื้องอกของลําไส้ใหญ่และทวารหนัก
- ลําไส้ตีบตัน (stricture)
- ลําไส้บิดพันกัน (volvulus)
- ความผิดปกติที่ทวารหนัก
- การลดน้อยลงของปมประสาทบริเวณลําไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Hirschprung’s disease)
4.สาเหตุจากการทํางานของลําไส้หรือกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ
- การบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักไม่ประสานกับการเบ่ง
- การเคลื่อนไหวของลําไส้ใหญ่น้อยกว่าปกติหรือมีการเคลื่อนไหวไม่ประสานกันทําให้อุจจาระ เคลื่อนไหวภายในลําไส้ใหญ่ช้ากว่าปกติ
- ภาวะลําไส้แปรปรวน
วิธีป้องกันคนท้องท้องผูก
คนท้องท้องผูกนั้นสามารถป้องกันและรับมือได้ ต้องหมั่นดูแลและรักษาสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรง เพราะร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปรวมทั้งทารกในครรภ์ที่ต้องได้รับการเอาใจใส่มากกว่าภาวะปกติ โดยสามารถปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ ดังนี้
รับประทานกากใยเพิ่มขึ้น
อาหารที่มีกากใยสูง ช่วยป้องกันคนท้องท้องผูก และช่วยให้คนท้องได้รับวิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ คนท้องควรรับประทานอาหารที่มีกากใย ปริมาณ 25 ถึง 30 กรัมต่อวัน เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่แข็งแรง อาหารต่าง ๆ เช่น ผักผลไม้สด ถั่ว เลนทิล ธัญพืช ลูกพรุน และขนมปังธัญพืช โดยอาจหั่นราสเบอร์รี่ แอปเปิ้ล กล้วย ลูกฟิค และสตรอเบอร์รี่ลงไปในจานสลัด หรือเพิ่มข้าวโพดปิ้ง กะหล่ำดาว และแครอท เป็นเครื่องเคียงในมื้ออาหาร
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำให้เพียงพอ เป็นสิ่งสำคัญระหว่างการตั้งครรภ์ นั่นหมายถึง การดื่มน้ำมากกว่าปกติสองเท่า ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 1.5 ลิตรทุกวัน ซึ่งจะช่วยให้อุจจาระนิ่ม และเคลื่อนที่ผ่านระบบขับถ่ายได้ดี
รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ
เนื่องจากการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ทำให้กระเพาะทำงานหนัก จึงทำให้ระบบการย่อยทำงานหนักขึ้น คนท้องจึงควรแบ่งมื้ออาหารเป็นห้าหรือหกมื้อต่อวัน เพื่อจัดการกับอาการท้องผูก อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดเวลาการย่อยของกระเพาะอาหาร และลำเลียงอาหารไปยังลำไส้ได้อย่างเหมาะสม
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยลดอาการท้องผูกได้ เนื่องจากการเคลื่อนไหวเป็นการกระตุ้นลำไส้ คนท้องควรออกกำลังกายสามครั้งต่อสัปดาห์ (ใช้เวลาประมาณ 20 ถึง 30 นาทีต่อครั้ง) ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับชนิดของการออกกำลังกายที่ปลอดภัยสำหรับคนท้องและทารกในครรภ์
ใช้ยาทำให้อุจจาระนิ่ม
หากวิธีการทางธรรมชาติไม่ได้ผล ควรปรึกษาคุณหมอ โดยคุณหมออาจสั่งยาเพื่อทำให้อุจจาระนิ่ม อย่างเช่น โคเลส (Colace) ให้รับประทานช่วงสั้น ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องผูกในหญิงตั้งครรภ์ (การใช้ยานานเกินไป อาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ หรือความสมดุลของอิเลกโตรไลต์เปลี่ยนแปลง)
ผ่อนคลายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
เมื่อเข้าห้องน้ำ ให้หายใจเข้าลึก และหายใจออก เพื่อให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานผ่อนคลาย แต่อย่าทำให้ตึง ในขณะนั่ง จิกปลายเท้า เพื่อยกเข่าให้สูงขึ้น หรือวางเท้าบนเก้าอี้เตี้ย ๆ เพื่อให้เท้าสูงจากพื้น วิธีการนี้จะทำให้คนท้องอยู่ในท่าสควอท ซึ่งเป็นท่าที่ดีต่อการนั่งขับถ่าย