คุณแม่ตั้งท้องจามบ่อย ถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากละเลย ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอันไม่พึงประสงค์ทั้งแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้เช่นกัน สำหรับสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์จามบ่อย ได้แก่ เยื่อจมูกอักเสบช่วงตั้งครรภ์ ภูมิแพ้ รวมถึงอาการไม่สบายระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งนี้ อาการจามช่วงตั้งครรภ์อาจหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด แต่หากนานกว่านั้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจัยหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
[embed-health-tool-due-date]
สาเหตุที่ทำให้คุณแม่ตั้งท้องจามบ่อย
-
เยื่อจมูกอักเสบช่วงตั้งครรภ์
การตั้งครรภ์สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายได้มากมาย รวมไปถึงอาการเยื่อจมูกอักเสบช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปกับคุณแม่ที่กำลังท้อง เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์การไหลเวียนของเลือดในเยื่อบุผิวจะเพิ่มขึ้น หลอดเลือดฝอยในโพรงจมูกจึงขยายตัว และมีการผลิตน้ำมูกเพิ่มขึ้น แม่ท้องจึงมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล รวมไปถึงทำให้แม่ท้องจามบ่อยขึ้นด้วย โดยอาการเยื่อจมูกอักเสบช่วงตั้งครรภ์นี้มักจะเกิดในช่วงสัปดาห์ที่ 8 ของการตั้งครรภ์ และสามารถเป็นติดต่อกันได้ยาวนานกว่า 6 สัปดาห์
-
ความเจ็บป่วย
ในช่วงตั้งครรภ์ ระบบภูมิคุ้มกันของคุณแม่จะอ่อนแอลงทำให้เสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ที่พบบ่อยได้แก่ ไข้หวัดธรรรมดา และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งทำให้แม่ท้องมีอาการไอจามบ่อยขึ้น แม้จะเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในคนท้อง แต่หากแม่ท้องจามบ่อยร่วมกับมีไข้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายกับแม่และลูกในท้องได้
-
ภูมิแพ้
อาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ถือเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหญิงที่เป็นโรคภูมิแพ้ตั้งครรภ์ อาการของโรคภูมิแพ้จะยิ่งหนักขึ้น ทำให้คุณแม่ที่กำลังตั้งท้องจามบ่อยขึ้น
คุณแม่ตั้งท้องจามบ่อย ลูกในท้องจะเป็นอันตรายไหม
โดยปกติแล้วการจามตอนท้องมักไม่เป็นอันตรายกับแม่และทารกในครรภ์ และมักจะหายได้เองภายในเวลา 2-3 สัปดาห์หลังคลอด แต่หากการจามที่เกิดขึ้นเป็นอาการของโรคบางชนิด เช่น ไข้หวัดใหญ่ หอบหืด ก็อาจเป็นอันตรายกับคุณแม่และลูกในท้องได้เช่นกัน เมื่อคุณแม่เป็นไข้หวัดใหญ่ หายใจไม่สะดวก ย่อมทำให้ทารกในครรภ์ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และอาจส่งผลให้เกิดการแท้งลูก ลูกที่คลอดออกมาน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ หรือคลอดก่อนกำหนดได้
อีกหนึ่งอาการที่คุณแม่ต้องประสบก็คือ อาการปวดท้องแปลบ ๆ ที่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว โดยอาการดังกล่าวเรียกว่า อาการปวดบริเวณหัวหน่าวจากการตึงตัวของเส้นเอ็นยึดมดลูก หรืออาการปวดหน่วงท้องน้อย (round ligament pain) ที่เกิดขึ้นเพราะเส้นเอ็นยึดมดลูกยืดตัวออก แต่ไม่ต้องเป็นกำงวลไปเพราะไม่ได้เป็นอันตรายกับทารกในครรภ์แต่อย่างใด
จามแล้วปัสสาวะเล็ด ปัญหาที่คุณแม่ตั้งท้องต้องเจอ
ปัสสาวะเล็ด เป็นปัญหาที่คนตั้งท้องส่วนใหญ่ต้องเจอในตอนจาม เนื่องจากมดลูกที่เจริญเติบโตขึ้นกดทับกระเพาะปัสสาวะในตอนจามจนทำให้มีปัสสาวะเล็ดออกมา ทำให้คุณแม่ท้องรู้สึกอายหรือไม่สบายตัว แต่ก็สามารถลดอาการนี้ได้ด้วยการออกกำลังกายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน หรือการฝึกขมิบช่องคลอด (Kegel Exercise) ที่จะช่วยให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรงขึ้น หรืออาจใส่แผ่นอนามัยเพื่อป้องกันไม่ให้ปัสสาวะเลอะกางเกงชั้นในก็ได้เช่นกัน
จามตอนท้องจัดการอย่างไรได้บ้าง
สำหรับคุณแม่ท้อง การจะกินยารักษาโรคถือเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจและระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะยาที่กินย่อมส่งผลถึงลูกในท้องด้วย จึงไม่ควรกินยาลดอาการจาม แต่ควรใช้วิธีธรรมชาติแทน เช่น
- ใช้น้ำเกลือล้างจมูก
- ใช้เครื่องทำความชื้น
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
- ใช้เครื่องกรองอากาศ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
- กินอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เช่น ฝรั่ง ส้ม เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากรู้สึกว่าแม่ท้องจามบ่อย เพราะโรคที่รุนแรง เช่น ไข้หวัดใหญ่ หอบหืด ควรรีบไปพบคุณหมอทันที โดยเฉพาะเมื่อมีอาการร่วมเหล่านี้
- อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 38.8 องศาเซลเซียส
- หายใจติดขัด
- เจ็บหน้าอก
- หายใจหรือไอแบบมีเสียงฟืดฟาดหรือเสียงหวีด (Wheezing cough)
- ไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว
- น้ำมูกมีสี
- เบื่ออาหาร หรือนอนไม่หลับ
- ปวดศีรษะรุนแรง