backup og meta

น้ำหนัก คน ท้อง เกินกว่าเกณฑ์ ส่งผลต่อทารกในครรภ์อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    น้ำหนัก คน ท้อง เกินกว่าเกณฑ์ ส่งผลต่อทารกในครรภ์อย่างไร

    ผู้ที่กำลังเตรียมตั้งท้องควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ น้ำหนัก คน ท้อง โดยเฉพาะน้ำหนักที่เกินกว่าเกณฑ์ในขณะท้อง เพราะอาจเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพคุณแม่และทารกในท้องได้ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ โรคเบาหวานขณะท้อง ทารกตัวโตกว่าปกติ ทารกพิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนด ซึ่งการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมอาจเป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้ดีที่สุด

    น้ำหนัก คน ท้อง เกินกว่าเกณฑ์ คือเท่าไหร่

    คนท้องส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 10-12.5 กิโลกรัม โดยน้ำหนักตัวของคนท้องแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ด้วย ดังนั้น หากต้องการทราบว่าน้ำหนักคนท้องเกินกว่าเกณฑ์คือเท่าไหร่อาจเปรียบเทียบค่าน้ำหนักได้ ดังนี้

    คนท้องลูกคนเดียว

    • น้ำหนักก่อนท้องต่ำกว่าเกณฑ์ มีค่า BMI น้อยกว่า 18.5 น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ควรเกิน 18 กิโลกรัม
    • น้ำหนักก่อนท้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีค่า BMI 18.5-24.9 น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ควรเกิน 16 กิโลกรัม
    • น้ำหนักก่อนท้องมากกว่าเกณฑ์ มีค่า BMI มากกว่า 25-29.9 น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ควรเกิน 11 กิโลกรัม
    • คนท้องเป็นโรคอ้วนก่อนตั้งท้อง มีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30.0 น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ควรเกิน 9 กิโลกรัม

    คนท้องลูกแฝด

    • น้ำหนักก่อนท้องต่ำกว่าเกณฑ์ มีค่า BMI น้อยกว่า 18.5 น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ควรเกิน 28 กิโลกรัม
    • น้ำหนักก่อนท้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีค่า BMI 18.5-24.9 น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ควรเกิน 24 กิโลกรัม
    • น้ำหนักก่อนท้องมากกว่าเกณฑ์ มีค่า BMI มากกว่า 25-29.9 น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ควรเกิน 22 กิโลกรัม
    • คนท้องเป็นโรคอ้วนก่อนตั้งท้อง มีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30.0 น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ควรเกิน 19 กิโลกรัม

    โดยคนท้องแต่ละไตรมาสอาจมีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก ดังนี้

    • ไตรมาสที่ 1 คนท้องอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 กิโลกรัม เพราะทารกในท้องยังตัวเล็กอยู่
    • ไตรมาสที่ 2 คนท้องอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6 กิโลกรัม เพราะเป็นช่วงที่ทารกมีการเจริญเติบโตของร่างกายมากขึ้น
    • ไตรมาสที่ 3 คนท้องอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5-4.5 กิโลกรัม เพราะเป็นช่วงสุดท้ายที่ทารกพร้อมคลอดน้ำหนักจึงจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก

    หากพบว่าตัวเองมีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ควรลดและควบคุมน้ำหนัก หรือเข้าพบคุณหมอเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลตัวเองที่จะช่วยควบคุมน้ำหนักในระหว่างตั้งท้อง

    น้ำหนัก คน ท้อง เกินกว่าเกณฑ์ ส่งผลกระทบอย่างไร

    คนท้องที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพและภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งท้องได้ ดังนี้

    • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ที่เป็นโรคอ้วน ทำให้คนท้องหยุดหายใจช่วงสั้น ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้า และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูง ภาวะครรภ์เป็นพิษ รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและปอด
    • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คนท้องที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้มากขึ้นกว่าคนทั่วไป โรคนี้ส่งผลเสียต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์หลายประการ อาจหายไปได้เองหลังคลอด แต่ก็อาจพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตได้ด้วย
    • ความดันโลหิตสูง คนท้องที่น้ำหนักเกินเกณฑ์จะเสี่ยงเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้มากกว่าคนท้องที่น้ำหนักตามเกณฑ์
    • ภาวะครรภ์เป็นพิษ เชื่อมโยงกับความดันโลหิตสูงขณะตั้งท้องซึ่งเป็นปัญหาร้ายแรงที่อาจทำให้ไตและตับล้มเหลว บางกรณีอาจเกิดอาการชัก หัวใจวาย และเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
    • การผ่าตัดคลอด คนท้องที่น้ำหนักตัวเกินกว่าเกณฑ์อาจเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพหลายชนิด รวมทั้งอาจทำให้ทารกในท้องตัวโตเกินไป ช่องคลอดเชิงกรานไม่เหมาะสมสำหรับการคลอด จนไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้ คุณหมอจึงอาจต้องพิจารณาผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัย

    คนท้องน้ำหนักเกินมีความเสี่ยงต่อทารกอย่างไร

    สำหรับคนท้องที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาจส่งผลกระทบต่อทารกในท้องได้ ดังนี้

    • ทารกพิการแต่กำเนิด คนท้องที่เป็นโรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงที่ทารกจะพิการแต่กำเนิด เช่น ความบกพร่องของหัวใจ ความบกพร่องของหลอดประสาท เนื่องจากการสะสมของไขมันในร่างกายที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สามารถส่งต่อไปสู่ทารกในท้อง
    • ทารกมีขนาดตัวใหญ่ เป็นภาวะที่ทารกมีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดความบาดเจ็บขณะคลอด และทารกอาจเสี่ยงเป็นโรคอ้วนในอนาคตได้
    • การคลอดก่อนกำหนด ปัญหาสุขภาพและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะตั้งท้อง อาจทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด หรือคุณหมอจำเป็นต้องทำคลอดก่อนกำหนดเพื่อป้องกันผลกระทบร้ายแรงทั้งต่อคุณแม่และทารกในท้อง ส่งผลให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพในระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มขึ้น
    • ทารกตายคลอด (Stillbirth) เป็นภาวะที่ทารกตายในท้องหรือคลอดออกมาแล้วตายทันที โดยยิ่งคนท้องมีน้ำหนักตัวมากขึ้นเท่าไหร่ อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในเกิดภาวะทารกตายคลอดมากขึ้นเท่านั้น

    การดูแลตัวเองเพื่อควบคุมน้ำหนักขณะท้อง

    การมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนในขณะตั้งท้อง อาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพและผลกระทบต่อทารกในท้องได้ ดังนั้น คนท้องจึงควรดูแลตัวเองเพื่อลดและควบคุมน้ำหนัก ดังนี้

    • เลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเน้นรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เมล็ดพืช เนื้อปลาและเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อการบำรุงร่างกายคุณแม่และทารกในท้อง
    • เลือกรับประทานไขมันดีในปริมาณที่พอเหมาะ เช่น อะโวคาโด เมล็ดพืช ถั่ว น้ำมันคาโนลา น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา ซึ่งไม่ควรรับประทานเกิน 70 กรัม/วัน
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิด โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนมไขมันสูง น้ำหวาน  นมหวาน น้ำอัดลม อาหารแปรรูป ขนมเบเกอรี่ เพราะอาหารเหล่านี้อาจเพิ่มการสะสมของไขมันส่วนเกินและระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจทำให้คนท้องมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจนเกินกว่าเกณฑ์ได้
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่ใส่เกลือและโซเดียมในปริมาณมาก เพราะอาจทำให้คนท้องมีอาการบวมน้ำและตัวบวมมากขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้
    • ปรุงอาหารด้วยวิธีที่ดีต่อสุขภาพ โดยปรุงอาหารด้วยการปิ้ง ย่าง นึ่ง หรืออบ และหลีกเลี่ยงการทอดหรือการผัดที่ต้องใช้น้ำมันปริมาณมาก เพราะอาจสะสมเป็นไขมันในร่างกายได้
    • ออกกำลังกายระหว่างตั้งท้องอย่างสม่ำเสมอเสมอ โดยเน้นออกกำลังกายความเข้มข้นปานกลางที่ไม่มีแรงกระแทก เช่น เดิน โยคะ เต้นแอโรบิกในน้ำ ออกกำลังกายอุ้งเชิงกราน เพื่อช่วยเผาผลาญแครอลี่ส่วนเกิน ช่วยลดและควบคุมน้ำหนัก รวมถึงยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ และอาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดร่างกายขณะตั้งท้องได้อีกด้วย

    อย่างไรก็ตาม คนท้องควรเข้าพบคุณหมอหากมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น

    • เกิดคำถามและต้องการทราบเป้าหมายในการเพิ่มน้ำหนักที่ดีขณะตั้งท้อง และต้องการคำปรึกษาในการวางแผนเมนูอาหารที่ดีเพื่อเพิ่มน้ำหนักที่ดีต่อสุขภาพ
    • คนท้องมีแนวโน้มน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรือกำลังวางแผนลดน้ำหนักในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือไตรมาสที่ 3
    • คนท้องมีความผิดปกติในการรับประทานอาหาร ที่อาจทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้
    • คนท้องน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษและความดันโลหิตสูงที่เป็นปัญหาสุขภาพร้ายแรง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา