backup og meta

ตั้งครรภ์1เดือน อาการเป็นอย่างไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    ตั้งครรภ์1เดือน อาการเป็นอย่างไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

    ในช่วง ตั้งครรภ์1เดือน คุณแม่ควรใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์กำลังสร้างอวัยวะสำคัญและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นช่วงที่เสี่ยงสูญเสียทารกในครรภ์ได้ง่ายกว่าช่วงอายุครรภ์อื่น ๆ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนยังอาจทำให้คุณแม่มีอาการของคนตั้งครรภ์ เช่น หน้าอกคัดตึง อารมณ์แปรปรวน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น คุณแม่จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงไปฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์และไปพบคุณหมอตามนัดหมายตรวจครรภ์ทุกครั้ง

    ตั้งครรภ์1เดือน อาการ เป็นอย่างไร

    อาการที่พบได้บ่อยในช่วง ตั้งครรภ์1เดือน อาจมีดังนี้

    • หน้าอกคัดตึง ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ อาจทำให้หน้าอกไวต่อความรู้สึกมากขึ้น ต่อมน้ำนมขยายใหญ่ขึ้น หน้าอกจึงขยายตัว เจ็บคัด หรือปวดเต้า แต่โดยทั่วไปแล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อร่างกายปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนได้แล้ว
    • อาการแพ้ท้อง ในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก หรือตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4-5 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่บางรายอาจเริ่มมีอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มักจะเป็นมากในช่วงเช้า ส่วนใหญ่มักจะมีอาการมากในช่วงตั้งแต่สัปดาห์ที่ 9 เป็นต้นไป อาการแพ้ท้องอาจทุเลาลงหลังผ่านไตรมาสที่ 1 หรือช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ไปแล้ว
    • ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ขณะตั้งครรภ์ร่างกายจะผลิตเลือดมากขึ้นเพื่อใช้ในการหมุนเวียนเลือดไปยังบริเวณกระดูกอุ้งเชิงกรานและมดลูก และส่งสารอาหารและออกซิเจนให้กับทารกในครรภ์ ไตจึงต้องกรองของเสียจากเลือดและผลิตของเหลวมากขึ้น ทำให้กระเพาะปัสสาวะเต็มเร็ว ส่งผลให้คุณแม่จำเป็นต้องถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น ไม่ว่าคุณแม่จะ ตั้งครรภ์1เดือน หรืออยู่ในระยะครรภ์อื่น ๆ ก็ควรรีบไปเข้าห้องน้ำทันทีที่ปวดปัสสาวะ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเด็ดขาด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
    • อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายที่พุ่งสูงขึ้นอาจส่งผลให้คุณแม่อ่อนเพลียง่ายขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนชนิดนี้เป็นฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ระงับประสาทอ่อน ๆ ช่วยให้คุณแม่พักผ่อนได้มากขึ้นขณะตั้งครรภ์
    • อาการกรดไหลย้อน ฮอร์โมนที่หลั่งขณะตั้งครรภ์อาจทำให้หูรูดที่กั้นระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหารคลายตัว จนทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารจนเกิดกรดไหลย้อนได้ แต่โดยส่วนใหญ่จะมีอาการเป็นมากในไตรมาสที่3เป็นต้นไป เนื่องจากมดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเริ่มไปกดเบียดกระเพาะอาหารมากขึ้น
    • อาการท้องผูก ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์อาจทำให้อาหารเคลื่อนที่ในระบบย่อยอาหารได้ช้าลง ส่งผลให้อาหารค้างอยู่ในลำไส้นานกว่าปกติ จนร่างกายดูดน้ำในอุจจาระกลับสู่ร่างกายมากเกินไป ทำให้อุจจาระแข็งตัว คุณแม่ตั้งครรภ์จึงอาจขับถ่ายยากขึ้น
    • อารมณ์แปรปรวน ฮอร์โมนที่พุ่งสูงขึ้นเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์อาจส่งผลต่ออารมณ์ของคุณแม่ โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก จนคุณแม่มีอาการคล้ายกับอาการก่อนมีประจำเดือนหรือพีเอ็มเอส (PMS) เช่น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ปวดศีรษะ ปวดหลัง เป็นตะคริว

    พัฒนาการของทารกขณะ ตั้งครรภ์1เดือน

    ในช่วงตั้งครรภ์1เดือนแรก หลังไข่ผสมกับอสุจิที่บริเวณท่อนำไข่ส่วนต้นหรือที่เรียกว่าปฏิสนธิ ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วหรือไซโกต (Zygote) จะใช้เวลาประมาณ 3-4 วันในการเคลื่อนตัวไปถึงภายในมดลูกและในระหว่างนั้นก็จะแบ่งเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ไปด้วย จนกลายเป็นกลุ่มเซลล์ที่เรียกว่า ตัวอ่อนหรือเอ็มบริโอ (Embryo) ซึ่งจะเคลื่อนที่ไปตามท่อนำไข่แล้วฝังตัวกับผนังมดลูก โดยปกติจะเกิดขึ้นหลังปฏิสนธิประมาณ 6 วัน และตัวอ่อนจะใช้เวลาประมาณ 3-4 วันในการฝังตัวจนเสร็จสมบูรณ์ จากนั้นจะมีถุงน้ำคร่ำเจริญเติบโตขึ้นรอบ ๆ ตัวอ่อนเพื่อคอยป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนบาดเจ็บ และช่วยควบคุมอุณหภูมิให้ตัวอ่อน ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตขึ้นและเปลี่ยนแปลงรูปร่างเรื่อย ๆ จนมีอวัยวะหลัก ๆ ครบถ้วน เมื่อตัวอ่อนมีอายุครบ 8 สัปดาห์จะเรียกว่า ทารกในครรภ์หรือฟีตัส (Fetus) ในช่วงแรกทารกในครรภ์จะมีถุงไข่แดงขนาดเล็กคอยทำหน้าที่ให้สารอาหารที่จำเป็นแก่ทารก หลังจากนั้นรกจะก่อตัวและเจริญเติบโตมาเป็นอวัยวะรูปทรงรีแบน ๆ ที่ช่วยลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนจากคุณแม่มายังทารก และช่วยลำเลียงและถ่ายของเสียออกไปจากตัวทารก

    ช่วงตั้งครรภ์1เดือนแรก (อายุครรภ์ 5-8 สัปดาห์) ทารกจะมีพัฒนาการของใบหน้า ปาก หู ขากรรไกรล่าง ลำคอ และมีวงคล้ำขนาดใหญ่ 2 ข้างที่จะพัฒนาเป็นดวงตา เซลล์เม็ดเลือดก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างและระบบไหลเวียนเลือดเริ่มทำงาน ท่อประสาทก่อตัว หัวใจเริ่มเต้นเป็นจังหวะ ระบบร่างกายและอวัยวะสำคัญเริ่มก่อตัว ทารกในครรภ์ระยะแรกเริ่มจะมีลักษณะคล้ายลูกอ๊อด ก่อนที่กระดูกอ่อนจะก่อตัวและพัฒนาไปเป็นแขนและขา เมื่อสิ้นสุดเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะมีขนาดประมาณ 6-7 มิลลิเมตร

    การดูแลตัวเองเมื่อตั้งครรภ์1เดือน

    การดูแลตัวเองเมื่อตั้งครรภ์1เดือน อาจทำได้ดังนี้

    • ไปฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ และไปตามนัดตรวจครรภ์ทุกครั้งเพื่อคัดกรองโรคและความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่และทารกในครรภ์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
    • ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษในบุหรี่และควันบุหรี่อาจส่งผลเสียไปยังทารกในครรภ์ได้ และควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกกำลังก่อร่างสร้างอวัยวะสำคัญ การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ทารกเจริญเติบโตช้า มีพัฒนาการผิดปกติ หรืออาจทำให้แท้งได้
    • รับประทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ โดยเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น ธัญพืชเต็มเมล็ด ผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว ไข่ ผลไม้ นม โยเกิร์ตไขมันต่ำ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เพื่อให้คุณแม่และทารกได้รับสารอาหารที่ร่างกายต้องการครบถ้วน ทารกจะได้มีพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรงได้ตลอดการตั้งครรภ์ โดยคุณแม่อาจแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ 5-6 มื้อ/วัน เพื่อป้องกันอาการกรดไหลย้อนหรือคลื่นไส้อาเจียน
    • รับประทานอาหารเสริม เช่น กรดโฟลิกประมาณ 0.4 มิลลิกรัม/วัน ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือนไปจนถึงอายุครรภ์ครบ 3 เดือน เพื่อช่วยให้ท่อประสาทของทารกพัฒนาอย่างสมบูรณ์ และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะพิการของทารก
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดินเล่นระยะสั้น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยานอากาศ เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และอาจช่วยลดอาการไม่สบายตัว ท้องอืด ปวดหลัง นอนไม่หลับ หรือท้องผูกะหว่างตั้งครรภ์ได้
    • นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนและซ่อมแซมตัวเอง ส่งผลดีต่อควบคุมระดับฮอร์โมนและน้ำหนักตัว และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา