backup og meta

ลูกหลุดเกิดจากอะไร สามารถป้องกันได้หรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

    ลูกหลุดเกิดจากอะไร สามารถป้องกันได้หรือไม่

    ผู้ที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ในระยะแรกซึ่งเป็นช่วงที่เสี่ยงได้ง่าย อาจกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูก และมีข้อสงสัยว่า ลูกหลุดเกิดจากอะไร สามารถป้องกันได้หรือไม่ ทั้งนี้ ภาวะแท้งลูก หรือที่อาจเรียกว่า ลูกหลุด มักเกิดขึ้นเนื่องจากทารกไม่สามารถพัฒนาและเจริญเติบได้อย่างเหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากความผิดปกติของโครโมโซมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ พัฒนาของอวัยวะของตัวอ่อนที่ผิดปกติ อาจไม่มีสาเหตุจากส่วนอื่นแน่ชัด ทำให้ไม่มีวิธีป้องกันที่แน่นอน อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และสัมผัสฝุ่นควันที่เป็นพิษ นอนหลับให้เพียงพอ อาจลดความเสี่ยงของการแท้งหรือลูกหลุดได้

    ลูกหลุดเกิดจากอะไร

    การแท้งลูก หรือที่เรียกว่า ลูกหลุด (Miscarriage) คือ การสูญเสียทารกในครรภ์ในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์หรือในช่วงไตรมาสแรก มักแต่พบได้บ่อยในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ เกิดจากตัวอ่อนในครรภ์มีโครโมโซมผิดปกติ หรือเกิดจากกระบวนการแบ่งตัวของไซโกต (Zygote) ซึ่งเป็นเซลล์เริ่มต้นของตัวอ่อนผิดปกติ การพัฒนาของโครงสร้างร่างกายหลักมีความผิดปกติ ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตหรือมีพัฒนาการไปเป็นทารกอย่างสมบูรณ์ได้ ร่างกายของคุณแม่จึงขับทารกในครรภ์ออกมาเอง โดยอาการที่พบได้บ่อยที่สุดเมื่อลูกหลุด คือ การมีเลือดออกจากช่องคลอด ซึ่งอาจมีตั้งแต่จุดเลือดออกสีแดงออกชมพูหรือสีน้ำตาล ไปจนถึงเลือดออกในปริมาณมาก อาจพบมีชิ้นเนื้อหลุดออกมาด้วยได้  ร่วมกับมีอาการปวดท้องส่วนล่างคล้ายลักษณะการปวดประจำเดือน หากอายุครรภ์ยังน้อยหลายคนอาจคิดว่าเป็นเพียงเลือดประจำเดือนเท่านั้น

    คุณแม่ตั้งครรภ์หลายท่านอาจเกิดภาวะลูกหลุดโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากยังมีอายุครรภ์อ่อนเกินไปจึงยังไม่มีอาการตั้งครรภ์ที่ชัดเจน

    ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ หรือสาเหตุที่ทำให้ลูกหลุด อาจมีดังนี้

    • การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส
    • การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีรังสีหรือสารเคมีที่เป็นพิษในระดับสูง
    • การมีฮอร์โมนแปรปรวนหรือการที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ช่วยพยุงการตั้งครรภ์ในช่วงแรก
    • ภาวะที่ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วฝังตัวที่ผนังมดลูกอย่างไม่เหมาะสม
    • อายุของคุณแม่มากกว่า 35 ปี
    • ความผิดปกติของมดลูก
    • ภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท (Cervical incompetence) โดยภาวะนี้มักทำให้เกิดการแท้งในช่วงไตรมาสที่2
    • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ การใช้ยาเสพติด การดื่มแอลกอฮอล์
    • ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคลูปัสที่ทำลายเนื้อเยื่อในร่างกายของตัวเอง
    • โรคไตเรื้อรัง
    • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)
    • โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ จนทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์
    • โรคต่อมไทรอยด์
    • การฉายรังสี
    • การใช้ยาบางชนิด เช่น ไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) ที่ใช้รักษาสิว
    • ภาวะทุพโภชนาการอย่างรุนแรง
    • การติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปบี (Group B beta strep)

    ลูกหลุด อาการ เป็นอย่างไร

    อาการที่เป็นสัญญาณว่าลูกหลุด อาจมีดังนี้

  • ปวดท้องคล้ายกับปวดประจำเดือน
  • ปวดหลังในระดับตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง อาจปวดมากกว่าตอนที่ปวดประจำเดือน
  • มีเลือดออกจากช่องคลอด
  • มีชิ้นเนื้อหลุดจากช่องคลอด
  • มีมูกสีขาวอมชมพูออกมาจากช่องคลอด
  • มีเนื้อเยื่อที่จับกันเป็นก้อนหรือลิ่มเลือดออกมาจากช่องคลอด
  • มีของเหลวไหลออกจากช่องคลอด
  • อาการตั้งครรภ์หายไป เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เนื่องจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ลดลงหลังลูกหลุด
  • น้ำหนักลด
  • หลังลูกหลุด ควรทำอย่างไร

    โดยทั่วไป หากผู้ที่มีอายุครรภ์อ่อนมากเกิดภาวะลูกหลุด ร่างกายมักขับเนื้อเยื่อของการตั้งครรภ์ เช่น ชิ้นส่วนทารก รก ออกมาทั้งหมด จึงไม่จำเป็นต้องรับการรักษาทางการแพทย์ แต่ก็อาจต้องได้รับการดูแลจากคุณหมอเพื่อป้องกันการตกเลือดและการติดเชื้อ และอาจต้องอัลตราซาวด์เพื่อยืนยันว่าไม่มีเนื้อเยื่อต่าง ๆ หลงเหลืออยู่ในมดลูก

    แต่หากร่างกายของคุณแม่ไม่ได้ขับเนื้อเยื่อออกมาทั้งหมด คุณหมออาจต้องขูดมดลูก (Dilation And Curettage) หรือดูดมดลูก (Manual Vacuum Aspiration) เพื่อนำเนื้อเยื่อที่ยังหลงเหลืออยู่ในมดลูกออกมาให้หมด และอาจต้องให้ยาเพื่อให้เลือดหยุดไหลหลังขูดมดลูก และคุณแม่อาจต้องสังเกตอาการของตัวเองอีกระยะหนึ่งแม้จะกลับไปพักผ่อนที่บ้านแล้วก็ตาม หากพบว่ามีอาการเลือดออกมากขึ้น หนาวสั่น เป็นไข้ ควรไปพบคุณหมอโดยเร็ว

    ลูกหลุดสามารถป้องกันได้หรือไม่

    ลูกหลุดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติและไม่สามารถป้องกันได้ 100% ขึ้นกับสาเหตุดังกล่าวข้างต้น แต่การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมด้วยวิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และลดความเสี่ยงในการสูญเสียทารกในครรภ์ได้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลาย เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน โดยเลือกวัตถุดิบที่สดสะอาด จากแหล่งที่มีสารปนเปื้อนน้อย
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่อาจทำให้ท้องเสียหรือติดเชื้อ เช่น อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารหมักดอง ส้มตำปลาร้า
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเลบางชนิด เช่น ฉลาม ปลาอินทรี ปลากระโทงดาบ ปลาไทล์ เนื่องจากเสี่ยงมีสารปรอทปนเปื้อนสูง และอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • รับประทานกรดโฟลิกในปริมาณ 0.4 มิลลิกรัม ตั้งแต่ช่วงก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือนไปจนถึงขณะตั้งครรภ์ 3 เดือน เพื่อช่วยในการแบ่งเซลล์ของตัวอ่อนและช่วยลดความผิดปกติในการพัฒนาของระบบประสาทส่วนกลางของทารกด้วย
  • นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง/วัน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตามค่าดัชนีมวลกาย (BMI)
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด เพราะทำให้เสี่ยงแท้งและส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา