backup og meta

อาการคนท้องเริ่มเมื่อไหร่ และการดูแลตัวเองเมื่อรู้ว่าท้อง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 22/03/2022

    อาการคนท้องเริ่มเมื่อไหร่ และการดูแลตัวเองเมื่อรู้ว่าท้อง

    อาการคนท้องเริ่มเมื่อไหร่ หนึ่งในคำถามของผู้ที่ต้องการมีลูก และผู้ที่กังวลว่าจะตั้งครรภ์ อาการคนท้องอาจเริ่มมีอาการแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล ส่วนใหญ่จะมีอาการในช่วงอายุครรภ์ 6-12 สัปดาห์ โดยอาจมีอาการแพ้ท้อง เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย อารมณ์แปรปรวน ในขณะที่บางคนอาจมีอาการแพ้ท้องนานกว่านั้น อย่างไรก็ตาม หากไม่แน่ใจควรซื้อที่ตรวจครรภ์ในร้านขายยามาทดสอบ หรือไปหาคุณหมอ เพื่อความแน่ชัดว่าตั้งท้องหรือไม่

    อาการคนท้องเริ่มเมื่อไหร่ มีอะไรบ้าง

    อาการของคนท้องอาจแสดงให้เห็นผ่านทางการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์ ในช่วงอายุครรภ์ 6-12 สัปดาห์ ดังต่อไปนี้ 

    การเปลี่ยนทางด้านอารมณ์

    อาจเกิดอาการอารมณ์แปรปรวน เนื่องจากความเหนื่อยล้า และฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง เมื่อตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในเลือดจะเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยในการเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับมีบุตร อย่างไรก็ตาม ฮอร์โมนสามารถส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ทำให้รู้สึกอ่อนไหว มีความสุข หรือเศร้า รวมถึงความวิตกกังวล  ควรดูแลรักษาสุขภาพจิตให้ดีเพื่อป้องกันการเป็นโรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์

    การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย 

    สัญญาณแรกของการตั้งท้องอาจเป็นประจำเดือนขาด อย่างไรก็ตาม อาจมีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ 

    • ประจำเดือนขาด สำหรับผู้ที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ  หากประจำเดือนมาช้ากว่าเวลาที่คาดว่าจะมา 1 สัปดาห์ขึ้นไป อาจเป็นสัญญาณว่ากำลังตั้งครรภ์ แต่ความเครียดและความวิตกกังวลก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาคลาดเคลื่อนได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีรอบเดือนผิดปกติอาจเข้าใจผิดได้
    • เลือดออกจากช่องคลอด มีลักษณะกะปริบกะปรอยเหมือนเวลาประจำเดือนใกล้หมด แต่ไม่ใช่ประจำเดือน คนทั่วไปอาจจะเรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าตัวอ่อนที่ปฏิสนธิฝังตัวอยู่ในมดลูกแล้ว แต่ถ้ามีอาการเลือดออกร่วมกับปวดท้องน้อย หรือปริมาณเลือดที่ออกมากเกินไป ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
    • เวียนศีรษะ จากการที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนต่างๆส่งผลให้ความดันเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลายได้
    • เหนื่อยล้า ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้น อาจทำให้รู้สึกง่วงนอน เพลียง่ายกว่าปกติ 
    • เต้านมและหัวนมมีการเปลี่ยนแปลง เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เริ่มเพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้เกิดอาการคัดเต้านม เต้านมขยายใหญ่ขึ้น ลานหัวนมและหัวนมสีเข้มขึ้น และทำให้อาจรู้สึกเจ็บหรือไวต่อการสัมผัส อาการอาจลดลงหลังจากผ่านไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ ในช่วงหลัง 2-3 เดือนแรก หากมีการนวดบริเวณหัวนมอาจมีน้ำนมเหลือง (colostrum) ออกมาได้เล็กน้อย
    • แพ้ท้อง เกิดจากฮอร์โมนที่สร้างขึ้นขณะตั้งครรภ์ไปรบกวนระบบทางเดินอาหาร รู้สึกไวต่อกลิ่น การรับรู้กลิ่นเปลี่ยนแปลง กลิ่นที่เคยรู้สึกว่าปกติอาจกลายเป็นกลิ่นเหม็น รวมถึงความชอบของอาหารอาจเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมและอาเจียนได้ บางรายที่อาการรุนแรงมากอาจจะรับประทานอาหารไม่ได้เลย คุณหมออาจต้องให้น้ำเกลือผสมวิตามินเป็นการทดแทน โดยอาการแพ้ท้องส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเช้า (Morning sickness) แต่ก็ขึ้นอยู่กับระดับความเครียดด้วย หญิงตั้งครรภ์หลายรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากในช่วงบ่ายและเย็น หรือบางคนหากมีอาการมากก็อาจคลื่นไส้อาเจียนตลอดทั้งวันจนรับประทานอะไรไม่ได้เลย
    • ปัสสาวะบ่อย เป็นอีกหนึ่งอาการเริ่มแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ร่างกายจะสร้างของเหลวขึ้นมามากขึ้น รวมถึงไตจะทำงานหนักมากกว่าปกติจากการกรองของเหลวส่วนเกินมากขึ้น ส่งผลให้ปัสสาวะบ่อย เพราะปริมาณเลือดในร่างกายมีเพิ่มขึ้นจากการที่มดลูกต้องการเลือดไปเลี้ยงมากกว่าปกติ เมื่อปริมาณเลือดเพิ่มมากขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น จะมีเลือดผ่านไตมากขึ้น จึงทำให้ไตกรองเอาปัสสาวะมามากขึ้น และมดลูกที่อยู่ติดกับด้านหลังของกระเพาะปัสสาวะก็มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงไปกดทับหรือเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้พื้นที่ความจุของปัสสาวะมีน้อยลง ส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์ปัสสาวะบ่อยมากขึ้น
    • ท้องผูก เป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของการตั้งครรภ์ และพบน้อยลงในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นผลจากการมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในระดับสูง จนอาจไปชะลอการเคลื่อนไหวของระบบย่อยอาหารและทำให้ท้องผูกได้ โดยที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ คือ การพักผ่อนน้อย การดื่มน้ำปริมาณไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์น้อย รวมถึงการรับประทานธาตุเหล็ก อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะทำให้ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรนสูงขึ้น เพิ่มการดูดกลับของน้ำที่ลำไส้ ส่งผลให้อุจจาระแข็งขึ้นด้วย
    • ตะคริว ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการตะคริวเล็กน้อยบริเวณมดลูกขณะตั้งครรภ์ 
    • คัดจมูก เนื่องจากปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นในร่างกายขณะตั้งท้อง อาจทำให้เยื่อให้โพรงจมูกบวม แห้ง ส่งผลให้อาจมีเลือดกำเดาไหลง่าย รวมถึงอาการคัดจมูกและน้ำมูกไหล 
    • ตกขาวมากขึ้น จากการที่เส้นเลือดมีการขยายตัวและมีการสร้างสารคัดหลั่งออกมาจากปากมดลูกมากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม อาการที่กล่าวมาข้างต้นอาจไม่ใช่อาการที่เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ที่ตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ผู้ที่ตั้งครรภ์ก็อาจจะไม่มีอาการเหล่านี้ปรากฏได้เช่นกัน หากสงสัยว่าตั้งครรภ์หรือไม่ สามารถลองซื้อที่ตรวจครรภ์ หรือไปพบคุณหมอตรวจเพื่อความแน่ชัด 

    การดูแลตนเอง เมื่อมีอาการคนท้อง 

    เมื่อมีอาการคนท้อง อาจสามารถดูแลตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 

    • อาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือแพ้ท้อง เพื่อช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือกลิ่นต่าง ๆ ที่ทำให้อาการคลื่นไส้แย่ลง อาจดื่มน้ำขิง หรือรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของขิง และผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เพราะขิงมีสรรพคุณในการช่วยย่อยอาหาร ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และยังช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และไม่ควรปล่อยให้ท้องว่าง เพราะความหิวอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้ โดยควรรับประทานอาหารปริมาณน้อย และแบ่งมื้ออาหารเป็นหลายมื้อแทน ในรายที่อาเจียนมาก ควรจิบน้ำทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และถ้ามีอาการมากจนรับประทานอะไรไม่ได้เลยควรไปพบคุณหมอเพื่อประเมินอาการ
    • อาการท้องผูก ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยและดื่มให้น้ำมาก ๆ อย่างน้อย 7-8 แก้วต่อวัน ซึ่งอาจจะดื่มน้ำผลไม้ได้ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม 
    • รับประทานอาหารที่มีกรดโฟลิก ในปริมาณ 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดความบกพร่องของระบบท่อประสาทในทารก
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
    • ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 30-45 นาทีต่อวัน เช่น เดิน โยคะ ว่ายน้ำ 
    • งดการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 22/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา