สัตว์เลี้ยงเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ จริงหรือ อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงสัตว์ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว หรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ อาจมีแบคทีเรียอยู่ในอุจจาระ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หากต้องการเลี้ยงสัตว์ระหว่างตั้งครรภ์อาจต้องปรึกษาคุณหมอ ถึงการดูแลตัวเองและทารกในครรภ์ รวมถึงควรดูแลสัตว์เลี้ยงให้อยู่ในบริเวณที่กำหนด และควรรักษาความสะอาดของสัวต์เลี้ยงเพื่อป้องกันโรคติดต่อต่าง ๆ
[embed-health-tool-due-date]
สัตว์เลี้ยงเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หรือไม่
แม้จะตั้งครรภ์อยู่ แต่คุณแม่ตั้งครรภ์ก็อาจยังเลี้ยงสัตว์ได้ แต่เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสัตว์เลี้ยงจะไม่เป็นอุปสรรค และไม่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอ ในกรณีที่กังวลว่าสัตว์เลี้ยงจะส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ นอกจากนี้ สุนัข แมวและสัตว์ชนิดอื่น ๆ อาจมีแบคทีเรียอยู่ในอุจจาระ ซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรก ความเสี่ยงในการติดเชื้ออาจสูงขึ้น หากเลี้ยงสัตว์แบบปล่อยตามอิสระ อย่างไรตาม หากเลี้ยงสัตว์มาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ร่างกายอาจมีภูมิคุ้มกันต่อโรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) ซึ่งอาจเกิดจากการที่ร่างกายเคยได้รับเชื้อมาแล้ว ดังนั้น ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับการตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์แล้ว
ทั้งนี้ ในระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ควรอยู่ให้ห่างจากอุจจาระของสัตว์เลี้ยง ไม่ควรเก็บอุจจาระของสัตว์เลี้ยงเอง โดยอาจให้คนในบ้านเก็บหรือกำจัดอุจจาระของสัตว์เลี้ยงออกจากบ้านอย่างสม่ำเสมอ ควรรักษาความสะอาดของบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ให้ดี หากเป็นไปได้ อาจอยู่ให้ห่างจากสัตว์เลี้ยงในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในห้องนอน และอาจงดเว้นการเล่นกับสัตว์เลี้ยงเพื่อความปลอดภัย
อย่างไรก็ดี การเลี้ยงสัตว์ไม่ใช่ข้อห้าม เพราะสัตว์เลี้ยงช่วยให้คลายเครียดและทำให้อารมณ์แจ่มใส เพียงแต่ต้องรักษาความสะอาด และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงออกไปนอกบ้าน เพราะอาจมีโอกาสที่สัตว์เลี้ยงจะเอาเชื้อโรคกลับมาได้
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากสัตว์เลี้ยง
หากปล่อยให้สัตว์เลี้ยงออกไปนอกบ้าน สัตว์เลี้ยงอาจได้รับแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ โดยโรคติดต่อที่เกิดจากสัตว์เลี้ยงที่อาจพบได้บ่อยที่สุด ได้แก่
- โรคแมวข่วน (Cat Scratch Disease) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียบาร์โทเนลล่า เฮนเซลเล่ (Bartonella Henselae) ซึ่งทำให้แมวติดเชื้อ และอาจติดต่อจากแมวสู่คนได้จากการถูกแมวกัดหรือข่วน แมวที่ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการป่วยแต่อาจเป็นตัวแพร่โรคสู่คนได้ อาการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ มีรอยโรคบนผิวหนัง มีไข้ ในรายที่รุนแรงอาจเกิดการติดเชื้อทั่วร่างกาย โรคแมวข่วนสามารถส่งผลต่อสมอง ดวงตา หัวใจ และอวัยวะภายในอื่น ๆ ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ต้องได้รับการรักษาที่อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ โรคแมวข่วนอาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอของทารกในครรภ์ได้
- โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งมักติดต่อจากการกัดของสัตว์ที่เป็นโรคกลัวน้ำ ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาทส่วนกลางและสมอง อาการโรคพิษสุนัขบ้าอาจคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ หากร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต แม้จะติดเชื้อเพียง 2-3 วันก็ตาม
โดยทั่วไปแล้ว สัตว์ที่เลี้ยงอยู่ภายในบ้านส่วนใหญ่ มีความปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ อย่างไรตาม ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัยสำหรับตัวคุณแม่เองและทารกในครรภ์