backup og meta

ตรวจครรภ์ได้ตอนไหน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 13/04/2023

    ตรวจครรภ์ได้ตอนไหน

    ตรวจครรภ์ได้ตอนไหน เป็นคำถามที่ผู้หญิงหลายคนอาจสงสัย โดยปกติแล้ว ผู้หญิงที่ประจำเดือนไม่มา หรือประจำเดือนขาด และสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์หรือไม่ อาจทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองได้ ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ โดยสามารถปรึกษาเภสัชกรเกี่ยวกับประเภทของชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่เหมาะสม และระยะเวลาว่าตรวจครรภ์ได้ตอนไหน หรืออาจเข้ารับการตรวจครรภ์โดยคุณหมอที่สถานพยาบาล เพื่อให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำยิ่งขึ้น

    การตรวจครรภ์ คืออะไร 

    การตรวจครรภ์ เป็นการทดสอบว่าตั้งครรภ์หรือไม่ โดยการตรวจหาฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin หรือ hCG) หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนตั้งครรภ์ในเลือดหรือปัสสาวะ ฮอร์โมนนี้ถูกสร้างขึ้นจากรกหลังจากอสุจิปฏิสนธิกับไข่และเป็นตัวอ่อน โดยสามารถตรวจการตั้งครรภ์เองด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่มีจำหน่ายตามร้านขายยา ซึ่งมีความแม่นยำถึง 97-99% เมื่อใช้อย่างถูกวิธี หรืออาจเข้ารับการตรวจครรภ์ที่สถานพยาบาลก็ได้

    ตรวจครรภ์ได้ตอนไหน 

    หากมีเพศสัมพันธ์ แล้วสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากประจำเดือนขาด หรือประจำเดือนไม่มาตามปกติ สามารถตรวจการตั้งครรภ์ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจครรภ์โดยคุณหมอได้ตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนไม่มา หรือหากไม่แน่ใจว่าประจำเดือนควรมาวันไหน สามารถตรวจครรภ์ได้หลังจากมีประจำเดือน 21 วัน 

    หากตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ที่ผลิตออกมาจากรก หลังจากไข่และอสุจิปฏิสนธิกันเป็นตัวอ่อนได้ประมาณ 6 วัน และระดับฮอร์โมนนี้จะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในทุก ๆ 2-3 วัน 

    อาการบ่งชี้ที่ควรตรวจครรภ์ 

    อาการของการตั้งครรภ์อาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แต่อาการที่พบบ่อยที่สุดของการตั้งครรภ์ คือ ประจำเดือนไม่มา และสัญญาณอื่น ๆ ของการตั้งครรภ์ที่ควรได้รับการตรวจครรภ์ เช่น 

  • รู้สึกเหนื่อยล้าผิดปกติ 
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือที่เรียกว่าอาการแพ้ท้อง
  • หน้าอกบวม หรือขยายใหญ่ขึ้น อาจมีอการคัดตึงร่วมด้วย
  • ปัสสาวะบ่อย 
  • วิธีตรวจการตั้งครรภ์ 

    การตรวจการตั้งครรภ์มีหลายวิธี เช่น 

    • การเจาะเลือดตรวจการตั้งครรภ์ การตรวจหาฮอร์โมน hCG ในเลือดสามารถบ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ได้แม่นยำกว่าการตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ โดยสามารถเข้ารับการตรวจหลังการปฏิสนธิไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ การตรวจวัดฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) จะทำให้ทราบว่ามีการตั้งท้องหรือไม่ ถ้าค่าเกิน 25 U/ml แปลว่าตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากมีระดับฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ต่ำ และเมื่อวัดซ้ำที่ 48 ชั่วโมงแล้วขึ้นไม่ถึงเกณฑ์ค่าปกติ อาจหมายถึงการตั้งครรภ์นอกมดลูก 
    • การตรวจปัสสาวะในห้องปฏิบัติการ คล้ายกับการตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์แต่มีความละเอียดกว่า เพราะนอกจากจะทดสอบได้ว่าตั้งครรภ์หรือไม่ คุณหมอยังสามารถตรวจเช็กระดับโปรตีน กลูโคส และสัญญาณของการติดเชื้อได้ด้วย
    • การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจโดยใช้การส่งคลื่นเสียงความถี่สูง โดยเครื่องการตรวจอัลตราซาวด์มีตั้งแต่ 2 มิติ 3 มิติ และ 4 มิติ ซึ่งให้ความละเอียดของภาพแตกต่างกัน การตรวจนี้อาจช่วยให้คุณหมอเห็นความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ได้ 

    สำหรับการตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ สามารถแบ่งออกเป็นหลายชนิด เช่น

    • การทดสอบแบบจุ่ม เก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง แล้วนำแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ด้านที่มีลูกศรชี้ลง จุ่มลงในปัสสาวะประมาณ 3 วินาที ระวังอย่าให้ปัสสาวะเลยขีดที่กำหนด รออ่านผลประมาณ 5 นาที 
    • การทดสอบแบบหยด หรือแบบตลับ เก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง นำหลอดหยดดูดปัสสาวะ แล้วหยดลงในตลับตรวจครรภ์ประมาณ 3-4 หยด วางตลับทิ้งไว้ รออ่านผลประมาณ 5 นาที 
    • การทดสอบแบบปัสสาวะผ่าน ถอดฝาครอบแท่งทดสอบการตั้งครรภ์ออก ถือแท่งให้หัวลูกศรชี้ลงพื้น แล้วปัสสาวะให้น้ำปัสสาวะไหลผ่านปลายแท่ง หรือจุดที่ต่ำกว่าลูกศรประมาณ 5 วินาที รออ่านผลประมาณ 5 นาที

    วิธีอ่านผลการตรวจครรภ์ 

    การอ่านผลการตรวจครรภ์อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของชุดตรวจที่ใช้ 

    • ผลเป็นลบ หรือมีขีดขึ้นมา 1 ขีดตรงตัวอักษร C หมายความว่าไม่ตั้งครรภ์ หรืออาจตั้งครรภ์แต่ยังไม่สามารถตรวจพบได้ เนื่องจากอาจทดสอบเร็วเกินไป หรือปัสสาวะเจือจาง ประสิทธิภาพของชุดตรวจอาจหมดอายุ หรือเก็บในที่ชื้นจัดจนชุดตรวจครรภ์เสียหาย หรือใช้งานชุดตรวจผิดวิธี หากได้ผลลบ ควรรอประมาณ 1 สัปดาห์แล้วจึงทดสอบใหม่อีกครั้ง
    • ผลเป็นบวก หรือมีขีดขึ้นมา 2 ขีดตรงตัวอักษรทั้ง C และ T หมายความว่ากำลังตั้งครรภ์ 

    อย่างไรก็ตาม ผลทดสอบอาจออกมาเป็นผลบวกลวง คือ ไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่การทดสอบบอกว่าตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจมีเลือดหรือโปรตีนในปัสสาวะ หรืออาจเป็นผลจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยากันชัก ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 13/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา