backup og meta

เส้นสีดำบนท้อง ตอนตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    เส้นสีดำบนท้อง ตอนตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร

    เส้นสีดำบนท้อง ที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยรกอาจหลั่งฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นเซลล์ผิวหนังที่เรียกว่า เมลาโนไซต์ ให้ผลิตเม็ดสีมากขึ้น หรือทำให้ผิวหนังมีสีเข้มขึ้น เส้นสีดำที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะมีความกว้างประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร และมักจะเริ่มขึ้นจากบริเวณใกล้กระดูกหัวหน่าวไล่ขึ้นไปจนถึงสะดือ แต่คุณแม่ตั้งครรภ์บางรายก็อาจมีเส้นนี้ยาวไปจนถึงกระดูกสันอกได้เช่นกัน

    เส้นสีดำบนท้อง คืออะไร

    เส้นสีดำบนท้องที่เกิดขึ้นตอนตั้งครรภ์ เรียกว่าเส้นลีเนีย ไนกร้า (Linea Nigra) โดยคุณแม่ตั้งครรภ์กว่า 80% จะเกิดเส้นสีดำบนท้องนี้ตั้งแต่ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เส้นสีดำบนท้องส่วนใหญ่จะมีความกว้างประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร และมักจะเริ่มขึ้นจากบริเวณใกล้กระดูกหัวหน่าวไล่ขึ้นไปจนถึงสะดือ แต่คุณแม่ตั้งครรภ์บางรายก็อาจมีเส้นนี้ยาวไปจนถึงกระดูกสันอกได้เช่นกัน

    เส้นสีดำบนท้องนี้อาจเกิดขึ้นแบบฉับพลัน และระดับความเข้มของสีอาจแตกต่างกันไปในคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละราย โดยส่วนใหญ่สีจะเข้มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ไม่ว่าเส้นสีดำบนท้องที่เกิดขึ้นตอนตั้งครรภ์นี้จะมีขนาดหรือสีอย่างไร ก็ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด

    เส้นสีดำบนท้อง ตอนตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร

    ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เส้นสีดำบนท้องตอนตั้งครรภ์นี้เกิดจากสาเหตุใด แต่สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยรกอาจหลั่งฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นเซลล์ผิวหนังที่เรียกว่าเมลาโนไซต์ (Melanocyte) ให้ผลิตเม็ดสีมากขึ้น หรือทำให้ผิวหนังมีสีเข้มขึ้น ซึ่งการที่หัวนมของคุณแม่ตั้งครรภ์มีสีเข้มขึ้น ก็อาจจะเป็นเพราะสาเหตุนี้เช่นกัน

    หลายคนอาจเคยได้ยินความเชื่อว่า ถ้ามีเส้นสีดำบนท้องตอนตั้งครรภ์ นั่นหมายความว่าทารกในครรภ์เป็นเพศชาย หากไม่มีเส้นนี้ ทารกในครรภ์จะเป็นเพศหญิง แต่ข้อมูลนี้เป็นเพียงความเชื่อ ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยัน ไม่ว่าทารกในครรภ์จะเป็นเพศใด คุณแม่ตั้งครรภ์ก็สามารถมีเส้นสีดำบนท้องได้เช่นกัน

    ไม่อยากมีเส้นดำบนท้อง จะทำอย่างไรได้บ้าง

    เส้นสีดำบนท้องที่เกิดขึ้น อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์บางรายรู้สึกไม่มั่นใจ และพยายามหาวิธีที่อาจช่วยกำจัดเส้นนี้ออกไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการกินยา การทาโลชั่น การย้อมสีขน เป็นต้น แต่ผู้เชี่ยวชาญก็แนะนำว่า บางวิธี โดยเฉพาะการย้อมสีขน นอกจากจะไม่ได้ช่วยกำจัดเส้นสีดำบนท้องแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ด้วย

    แต่หากอยากลดเลือนเส้นสีดำบนท้องจริง ๆ แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอ เพื่อจะได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมที่สุดและปลอดภัยที่สุด สำหรับวิธีพรางเส้นสีดำบนท้องที่คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถทำได้เองก็คือ การใช้คอนซีลเลอร์หรือเครื่องสำอางทากลบให้เส้นสีดำดูจากลง และอีกข้อในการดูแลเส้นสีดำบนท้องและผิวหนังที่สำคัญมากสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ก็คือ การทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อต้องออกแดด และนอกจากทาครีมกันแดดแล้ว คุณแม่ก็ควรสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดบริเวณหน้าท้องของคุณอย่างมิดชิดด้วย เพราะแสงแดดอาจทำให้เส้นสีดำบนท้องมีสีเข้มขึ้นได้

    อีกหนึ่งวิธีที่อาจช่วยลดขนาดและความเข้มของเส้นสีดำบนท้องได้ คือ การกินวิตามินบำรุงครรภ์ และการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลต เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ ธัญพืช และอาหารเสริมกรดโฟลิก (Folic Acid) เพราะหากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับโฟเลตและกรดโฟลิกน้อยเกินไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะสีผิวผิดปกติ หรือเกิดจุดด่างดำ (Hyperpigmentation) ได้

    เส้นสีดำบนท้องจะหายไปตอนไหน

    โดยปกติแล้ว เส้นสีดำบนท้องจะค่อย ๆ จางหายไปเองหลังจากคลอดลูกประมาณ 2-3 เดือน หรือเมื่อระดับฮอร์โมนในร่างกายกลับสู่ภาวะปกติเหมือนตอนก่อนตั้งครรภ์ แต่สำหรับคุณแม่บางราย เส้นสีดำบนท้องอาจไม่หายไปทั้งหมด และอาจกลับมามีเส้นสีดำบนท้องได้อีก เมื่อตั้งครรภ์ครั้งต่อไป

    แม้เส้นสีดำบนท้องจะทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์บางรายรู้สึกไม่มั่นใจ แต่เส้นนี้ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่หรือทารกในครรภ์แต่อย่างใด และสามารถหายไปเองได้เมื่อคลอดลูกแล้ว แต่หากอยากให้เส้นนี้ดูจางลงจริง ๆ แนะนำให้ดูแลผิวให้ชุ่มชื่นมาก ๆ โดยการดื่มน้ำให้มาก กินผักผลไม้ ทาครีมหรือออยล์บำรุงผิว จะช่วยให้เกิดการผลัดผิวเร็วขึ้นทำให้รอยดำจางลงได้เร็วขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพราะการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาใช้เองอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา