backup og meta

ลูกดิ้นบ่อย เป็นเรื่องปกติหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/05/2022

    ลูกดิ้นบ่อย เป็นเรื่องปกติหรือไม่

    ลูกดิ้นบ่อย เป็นเรื่องปกติหรือไม่ อาจเป็นคำถามที่คุณแม่หลายคนสงสัย อย่างไรก็ตาม การดิ้นของลูกในท้อง แสดงถึงการเจริญเติบโตของลูกน้อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่จะเริ่มสัมผัสได้ถึงความเคลื่อนไหวของลูก อาจจะสามารถรู้สึกได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์ และยังสามารถรู้สึกถึงแรงดิ้นที่ชัดเจนขึ้นในสัปดาห์ที่ 20 ทั้งนี้ คุณแม่ควรศึกษาความถี่ของการดิ้นของลูกว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติหรือไม่ หากพบความผิดปกติจะได้ปรึกษาคุณหมอได้ทันท่วงที

    ลูกดิ้นบ่อย เพราะอะไร

    ลูกดิ้นบ่อย ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการตั้งครรภ์ แสดงว่าลูกมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตตามปกติ คุณแม่จะเริ่มสัมผัสได้ว่าลูกดิ้นเบา ๆ อย่างไม่ชัดเจนนักในตอนเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ แต่จะชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 (ประมาณสัปดาห์ที่ 20 ขึ้นไป)  ลูกจะเริ่มดิ้นมากขึ้นและมีความถี่เพิ่มขึ้น และเมื่อมาถึงไตรมาสที่ 3  (ประมาณสัปดาห์ที่ 28) จะรู้สึกว่าลูกดิ้นบ่อยประมาณ 30 ครั้ง/ชั่วโมง ซึ่งการดิ้นของลูกสามารถบอกถึงสุขภาพของลูกได้ หากแข็งแรงพอก็จะมีความเคลื่อนไหวอยู่ในท้องให้คุณแม่รู้สึกได้อย่างสม่ำเสมอ

    ทำไมคุณแม่ถึงสัมผัสว่าลูกดิ้น

    สาเหตุที่ทำให้คุณแม่รู้สึกถึงการขยับตัวของลูก มีดังนี้

  • เมื่อคุณแม่มีความกังวลหรือตื่นเต้น ความรู้สึกของคุณแม่สามารถส่งต่อไปยังลูกน้อยได้ โดยอะดรีนาลีน (Adrenaline) ที่ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นหรือกังวล และไปเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจของคุณแม่ซึ่งอาจจะทำให้ลูกรู้สึกตื่นตัวตามไปด้วย
  • เมื่อลูกตื่นและขยับตัวไปมา โดยส่วนใหญ่คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นบ่อยในช่วงกลางคืน เนื่องจากเป็นเวลาที่ลูกตื่นนอนและเป็นช่วงเวลาที่เงียบสงบ คุณแม่มีเวลาอยู่กับตัวเอง จึงสัมผัสการเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้นและชัดเจนมากขึ้นนั่นเอง
  • เมื่อลูกมีอาการสะอึก การสะอึกเป็นเรื่องปกติของลูกในท้อง ที่เกิดขึ้นเมื่อลูกพยายามฝึกการหายใจอยู่ในถุงน้ำคร่ำ จึงทำให้สะอึกอยู่บ่อยครั้ง ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 24 สัปดาห์ บางครั้งอาจจะเกิดขึ้นเป็นชั่วโมง และอาจจะรู้สึกได้ถึงการสะอึกของลูกตลอดการตั้งครรภ์
  • เมื่อคุณแม่รับประทานของหวาน ระดับน้ำตาลในร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานให้กับลูกในท้อง ส่งผลให้ลูกกระตือรือร้นและทำให้ลูกดิ้นบ่อยขึ้น
  • ลูกดิ้นบ่อยแค่ไหนถึงปกติ

    การที่ลูกดิ้นบ่อยหรือไม่ ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่ปกติ เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีการขยับร่างกายที่ไม่เหมือนกัน สิ่งสำคัญอยู่ที่ลูกดิ้นบ่อยอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้คุณแม่สามารถคาดคะเนเรื่องความบ่อยของการขยับตัวของลูกจากจำนวนสัปดาห์ที่ตั้งครรภ์ได้ ดังนี้

    • ช่วงสัปดาห์ที่ 18-22 เป็นช่วงเริ่มต้นที่จะสัมผัสได้ว่าลูกดิ้นในท้อง ความรู้สึกจะเหมือนมีอะไรขยับเบา ๆ คล้ายมีผีเสื้อกระพือปีกอยู่ในท้อง จนทำให้รู้สึกได้บ้าง แต่จะไม่ชัดเจนนัก
    • ช่วงสัปดาห์ที่ 20-24 ช่วงนี้ลูกดิ้นบ่อยมากขึ้น คุณแม่จะรู้สึกกระตุกในท้องเบา ๆ เมื่อลูกในท้องมีอาการสะอึก ลูกมักจะขยับตัวเป็นเวลาในช่วงที่ลูกตื่น โดยเฉพาะในเวลากลางคืน แต่ลูกจะหลับในเวลากลางวัน ทำให้บางครั้งในตอนที่คุณแม่กำลังยุ่งหรือไม่ได้สังเกตก็อาจจะไม่ทราบเลยว่าลูกกำลังขยับตัว ส่วนใหญ่แล้วลูกจะไม่ขยับตัวในขณะที่กำลังหลับ โดยปกติทารกที่ยังไม่คลอดมักจะใช้เวลานอนประมาณ 20-40 นาที/ครั้ง (บางครั้งอาจจะนานถึง 90 นาที)
    • ช่วงหลังสัปดาห์ที่ 30-32 จะสัมผัสได้ว่าลูกดิ้นหลายครั้งในแต่ละวัน เมื่อลูกเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และมีพัฒนาการที่มากขึ้น ลักษณะการขยับร่างกายก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย ในช่วงท้ายของไตรมาสที่ 3 คุณแม่จะรู้สึกว่าการดิ้นในช่วงนี้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจจะมีการเตะท้องคุณแม่บ่อยขึ้น และจะหมุนตัวน้อยลง เนื่องจากลูกตัวโตขึ้นและมีพื้นที่ให้ขยับได้ไม่เยอะเท่าเดิมแล้ว

     ลูกดิ้นแบบไหนที่อาจผิดปกติ และควรปรึกษาคุณหมอ

    หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นและอาจทำให้คุณแม่กังวลต่อสุขภาพของตนเองและลูกน้อยในท้อง อาจจะติดต่อคุณหมอที่ดูแลครรภ์เพื่อรับคำปรึกษา หรือเข้ารับการตรวจการเต้นของหัวใจลูกเพื่อดูสุขภาพของทารกในครรภ์ต่อไป

    • คุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นหรือขยับตัวน้อยกว่าปกติที่เป็นในทุกวัน หรือน้อยกว่า 10 ครั้งใน 4 ชั่วโมง แนะนำให้ตรวจในเวลาเช้า 8.00-12.00
    • ในช่วงสัปดาห์ที่ 24 ยังไม่รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของลูก
    • ลูกหยุดขยับและคุณแม่ไม่รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของลูกในท้องอีกต่อไป
    • การขยับตัวของลูกในท้องเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา