backup og meta

หมอนคนท้อง มีแบบไหนบ้าง และวิธีการนอนที่เหมาะสมสำหรับคนท้อง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 18/09/2022

    หมอนคนท้อง มีแบบไหนบ้าง และวิธีการนอนที่เหมาะสมสำหรับคนท้อง

    หมอนคนท้อง เป็นหมอนที่ออกแบบมาเพื่อรองรับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคุณแม่ท้อง เช่น หน้าท้อง หลัง สะโพก คอ ขา เพื่อช่วยลดการกดทับของร่างกาย ช่วยให้พลิกตัวได้ง่ายขึ้น รวมถึงอาจช่วยลดอาการปวดเมื่อย ตะคริวที่ขา กระดูกเชิงกรานตึงในระหว่างการนอนหลับ ส่งผลให้นอนหลับสบายและยาวนานขึ้น

    หมอนคนท้อง มีประโยชน์อย่างไร

    หมอนคนท้องมีประโยชน์ต่อร่างกายใน 3 จุดหลัก ๆ คือ สะโพก ใต้ท้อง และระหว่างขา เนื่องจากเป็นจุดที่อาจเกิดการกดทับในระหว่างการนอนหลับมากเป็นพิเศษ เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและขนาดตัวของทารกในครรภ์ที่ขยายใหญ่ขึ้น โดยหมอนคนท้องอาจมีประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • ช่วยให้คนท้องสามารถพลิกตัวและปรับท่านอนได้ง่ายขึ้น
  • ช่วยให้คอ หลัง และสะโพกอยู่ในแนวเดียวกันขณะนอนหลับ จึงอาจช่วยลดอาการปวดเมื่อย
  • ช่วยปรับให้ขาทั้ง 2 ข้างขนานกัน จึงช่วยลดแรงกดบริเวณสะโพกและกระดูกหัวหน่าว
  • ช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของเลือดให้ไหลได้สะดวกขึ้น
  • ช่วยบรรเทาอาการตั้งครรภ์ เช่น หายใจลำบาก เสียดท้อง ตะคริวที่ขา ปวดเมื่อย กระดูกเชิงกรานตึง
  • ช่วยป้องกันการพลิกตัวโดยไม่ได้ตั้งใจขณะนอนหลับที่อาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บ
  • อย่างไรก็ตาม ควรเลือกรูปทรงของหมอนให้เหมาะกับสรีระของตัวเอง เพื่อช่วยรองรับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บขณะนอนหลับ

    ประเภทของหมอนคนท้อง

    หมอนคนท้องมีหลายรูปทรง ซึ่งแต่ละคนอาจเหมาะกับรูปทรงของหมอนที่แตกต่างกันไป โดยหมอนคนท้องอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

    • หมอนทรงตัวซี ช่วยรองรับหน้าท้องหรือหลัง ช่วยให้คอตั้งตรงอยู่ระนาบเดียวกับหลัง และช่วยให้ขากับสะโพกขนานกัน จึงช่วยให้นอนหลับสบายขึ้น
    • หมอนทรงตัวยู ช่วยรองรับทุกส่วนของร่างกายให้อยู่ในระนาบเดียวกัน และอยู่ในตำแหน่งที่เท่า ๆ กัน รวมถึงช่วยให้คอและหลังอยู่ในแนวเดียวกัน
    • หมอนทรงลาดเอียง ช่วยรองรับแต่ละส่วนของร่างกายตามที่ต้องการ เช่น ใต้ท้อง หลัง ระหว่างเข่า อาจช่วยป้องกันการพลิกตัวที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บในระหว่างการนอนหลับ และอาจทำให้นอนหลับได้สบายและอึดอัดน้อยกว่าหมอนรูปทรงอื่น

    เคล็ดลับการนอนสำหรับคนท้อง

    นอกจากการใช้หมอนคนท้องเพื่อช่วยให้นอนหลับได้สบายแล้ว การปฏิบัติตัวที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพการนอนหลับก็สำคัญเช่นกัน โดยวิธีการนอนที่เหมาะสมสำหรับคนท้อง อาจมีดังนี้

  • ใช้ท่านอนที่ดี คนท้องควรใช้ท่านอนตะแคง โดยแนะนำให้นอนตะแคงซ้ายในคุณแม่ที่อายุครรภ์เกิน 28 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากขนาดมดลูกที่ใหญ่ขึ้นจะไปกดเบียดเส้นเลือดดำใหญ่ในท้องที่วางตัวอยู่บริเวณด้านขวาของร่างกาย ทำให้เลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้น้อยลง ความดันลดลง ส่งผลให้เลือดไปเลือดมดลูกได้น้อยลงด้วย การนอนตะแคงซ้ายจะเป็นการเพิ่มเลือดไปเลี้ยงที่สดมลูกได้มากขึ้น แต่หากคูณแม่นอนตะแคงซ้ายเป็นเวลานานหากไม่รู้สึกสบายตัว สามารถขยับเปลี่ยนท่าไปท่าอื่นที่สบายตัวขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องนอนในท่าตพแคงซ้ายเสมอไป รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการนอนหงายราบหรือนอนคว่ำ เพราะอาจสร้างแรงกดต่อหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ในการส่งเลือดไปยังมดลูก ซึ่งอาจทำให้คลอดก่อนกำหนด และอาจทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ นอกจากนี้ อาจนอนยกศีรษะสูงขึ้นเล็กน้อยในคุณแม่ที่อายุครรภ์เกิน 28 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการที่มดลูกที่ใหญ่ขึ้นมาดันบริเวณกระเพาะอาการในระหว่างการนอน แลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น
  • จัดตารางการนอนหลับที่ดี โดยการจัดช่วงเวลาการนอนหลับให้สม่ำเสมอ และควรนอนอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง/คืน รวมถึงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีคาเฟอีน เพราะอาจรบกวนการนอนหลับ และควรเลือกกิจกรรมก่อนนอนที่ช่วยผ่อนคลายร่างกาย เช่น การนวด การฟังเพลงสบาย ๆ เพราะอาจช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
  • สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการนอนหลับ โดยควรจัดห้องให้มืดสนิท ไม่มีเสียงรบกวน และมีอุณภูมิที่เย็นสบาย เพราะอาจช่วยทำให้การนอนหลับดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อเย็นที่มากเกินไป ควรเว้นระยะการรับประทานอาหารก่อนนอนประมาณ 3-4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาการเสียดท้องในขณะนอนหลับ รวมถึงอาจรับประทานขนมปัง หรือผักและผลไม้ 2-3 ชิ้น เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้ในเวลานอน
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 18/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา