backup og meta

คนท้องเป็นตะคริว เกิดจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/04/2022

    คนท้องเป็นตะคริว เกิดจากอะไร

    คนท้องเป็นตะคริวเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นเพราะร่างกายขาดแคลเซียมและฟอสฟอรัสส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก โดยตะคริวอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวระหว่างตั้งครรภ์ และเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลใจ แต่หากเป็นตะคริวหรือมีอาการปวดท้องรุนแรงอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดจากสภาวะร่างกายและปัญหาขณะตั้งครรภ์ เช่น มดลูกหดตัว ท้องอืด แท้งบุตร ตั้งครรภ์นอกมดลูก คลอดก่อนกำหนด จึงอาจต้องสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย หากพบความผิดปกติ ควรเข้าพบคุณหมอทันที

    คนท้องเป็นตะคริว เกิดจากอะไรได้บ้าง

    คนท้องเป็นตะคริว เกิดจากร่างกายขาดแคลเซียมและฟอสฟอรัสในกระแสเลือด เนื่องจากทารกจำเป็นต้องดึงแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกายคุณแม่ไปสร้างกระดูกและพัฒนาการเจริญเติบโตของร่างกายทารก ทำให้แคลเซียมและฟอสฟอรัสในกระแสเลือดของคุณแม่ลดลงจนอาจเกิดเป็นตะคริวได้ รวมทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีน้ำหนักตัวมากขึ้นทำให้ขาและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ต้องแบกรับน้ำหนักที่มากขึ้น หรือการนั่งเป็นเวลานานก็อาจส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกเท่าที่ควรจนเลือดคั่งบริเวณน่องหรืออวัยวะส่วนต่าง ๆ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวและเกิดเป็นตะคริวขึ้น ส่วนใหญ่ตะคริวในคนท้องจะเกิดขึ้นในอายุครรภ์ประมาณ 21-24 สัปดาห์ เนื่องจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก

    นอกจากนี้ ตะคริวยังอาจเกิดขึ้นในมดลูกซึ่งอาจทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องหรือไม่สบาย อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนี้

    คนท้องเป็นตะคริวระหว่างตั้งครรภ์ระยะแรก

    คนท้องเป็นตะคริวในระยะแรกอาจเกิดจากปัญหาการตั้งครรภ์และการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ ดังนี้

    • ตะคริวที่เกิดขึ้นขณะไข่กำลังฝังตัวบริเวณโพรงมดลูก อาจมีอาการเกิดขึ้นในช่วง 6-12 วัน หลังการปฏิสนธิ อาจทำให้มีเลือดออกและเป็นตะคริวเล็กน้อย หรือเรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก และอาจมีอาการคลื่นไส้ เจ็บเต้านม ปวดหลังส่วนล่าง ปวดหัว อารมณ์แปรปรวน ซึ่งประมาณ 2-3 วันอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น
    • ตะคริวที่เกิดขึ้นจากอาการท้องอืด ท้องผูกและมีแก๊สในกระเพาะอาหาร เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในขณะตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นชะลอการทำงานของระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้ การขยายตัวของมดลูกจนกดทับบริเวณกระเพาะอาหาร ลำไส้ และทวารหนัก ยังอาจส่งผลให้คุณแม่มีอาการท้องอืด ท้องผูกและมีแก๊สในกระเพาะอาหาร จนอาจทำให้เป็นตะคริวหรือปวดท้องตามมาได้ หากคุณแม่มีอาการท้องเสียรุนแรง มีเมือกหรือเลือดปนออกมากับอุจจาระ ควรเข้าพบคุณหมอทันที
    • ตะคริวที่เกิดขึ้นจากการแท้งบุตร เป็นปัญหาที่พบบ่อยในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ อาจทำให้มีอาการเลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้อง เป็นตะคริวอย่างรุนแรง ปวดหลังส่วนล่างหรือบริเวณที่อุ้งเชิงกรานกดทับ รวมทั้งอาจมีเนื้อเยื่อเป็นก้อนหลุดออกมาจากช่องคลอด ดังนั้น หากเกิดภาวะแท้งบุตร ปวดท้องรุนแรง หรือมีเลือดออกมาก ควรเข้าพบคุณหมอทันที
    • ตะคริวที่เกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก เกิดขึ้นเมื่อไข่ปฏิสนธิและฝังตัวบริเวณท่อนำไข่ข้างใดข้างหนึ่ง หรือบริเวณอื่นนอกมดลูก ซึ่งอาจทำให้มีอาการตะคริวรุนแรง ปวดไหล่ ปวดท้องรุนแรง ปวดอุ้งเชิงกราน มีเลือดออก ความเจ็บปวดเพิ่มขึ้นเมื่อไอหรือจาม ปวดหลังส่วนล่าง อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม ดังนั้น ควรเข้ารับการรักษาทันทีเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
    • ตะคริวที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การตั้งครรภ์อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอ เนื่องจากร่างกายลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันลง เพื่อไม่ให้ไปทำร้ายตัวอ่อนในครรภ์ ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะง่ายขึ้น รวมไปถึงการติดเชื้อที่ไต โดยการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอาจทำให้มีอาการปวดและแสบร้อนเมื่อปัสสาวะ ปวดในช่องท้องบริเวณเหนือกระดูกหัวหน่าว ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นเหม็น มีหนองหรือปนเลือด มีไข้หนาวสั่น คลื่นไส้และอาเจียน

    คนท้องเป็นตะคริวระหว่างตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3

    คนท้องเป็นตะคริวในระยะนี้อาจเกิดจากปัจจัยเดียวกับในระยะแรกหรืออาจเป็นอาการใกล้คลอด ดังนี้

    • ตะคริวที่เกิดขึ้นจากอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหน่วงสั้น ๆ แปลบ ๆ เหมือนโดนกด จนเป็นตะคริว โดยเฉพาะเมื่อลุกจากเตียงหรือลุกจากการนั่งอย่างกะทันหัน อาการปวดอาจเกิดขึ้นบริเวณช่องท้องส่วนล่างข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง  เนื่องจาก เอ็นในมดลูกหนาขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของทารกในครรภ์
    • ตะคริวที่เกิดขึ้นจากการหดตัวของมดลูก อาจทำให้รู้สึกปวดแน่นมดลูกและเป็นตะคริวเพียงครั้งคราว แต่อาการมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อร่างกายขาดน้ำ ปัสสาวะเต็มกระเพาะระหว่างการออกกำลังกาย ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอดอาการตะคริวที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณเตือนของการคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ หากมีอาการปวดหลังส่วนล่าง มดลูกหดตัวเป็นระยะมากกว่า 6 ครั้ง/1 ชั่วโมง หรือลูกดิ้นน้อยลง ควรเข้าพบคุณหมอทันที
    • ตะคริวที่เกิดขึ้นจากรกลอกตัวก่อนกำหนด อาจทำให้มีอาการเลือดออกกะทันหัน ปวดหลังรุนแรง ตะคริว มดลูกหดตัวบ่อยครั้ง ทารกในครรภ์ไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยลง ควรพบคุณหมอทันที เพราะรกลอกตัวก่อนกำหนดเป็นภาวะที่ร้ายแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้
    • ตะคริวที่เกิดขึ้นจากการคลอดก่อนกำหนด มักเกิดขึ้นก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ อาจทำให้มีอาการตกขาวมากขึ้นหรือมีเลือดปน ปวดท้อง เป็นตะคริว มดลูกหดตัวมากขึ้น น้ำคร่ำแตก
    • ตะคริวที่เกิดขึ้นจากภาวะถุงน้ำรังไข่ แม้จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาขณะตั้งครรภ์ แต่หากรังไข่แตกหรือบิดอาจทำให้มีอาการเจ็บปวดรุนแรง ปวดท้องน้อย มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนแรง เป็นลม โดยรังไข่แตกหรือบิดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษาทันที

    วิธีบรรเทาอาการคนท้องเป็นตะคริว

    หากคนท้องเป็นตะคริว สามารถบรรเทาอาการได้หลายวิธี ดังนี้

    • อาบน้ำอุ่น อาจช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
    • ขยับร่างกาย เพื่อเปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ หรือออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดิน โยคะ ยืดกล้ามเนื้อ อาจช่วยบรรเทาอาการตะคริว แก๊สในกระเพาะอาหารและอาการท้องผูก
    • นอนยกขาสูง โดยการใช้หมอนรองขาให้สูงขึ้นเล็กน้อยประมาณ 10 เซนติเมตร ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการคนท้องเป็นตะคริวขณะนอนหลับได้
    • ยืดกล้ามเนื้อ หากอาการตะคริวเกิดขึ้น ให้คุณแม่ยืดกล้ามเนื้อไปตามแนวยาวปกติ เช่น หากเป็นตะคริวที่ขาให้ยืดขาออกจนสุด จากนั้นค้างไว้ประมาณ 1-2 นาที จนกล้ามเนื้อหายเกร็ง แต่หากกล้ามเนื้อยังเกร็งอยู่ให้ยืดต่อไปเรื่อย ๆ จนหายเกร็ง
    • ดื่มนมและรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงให้มากขึ้น เช่น ปลาตัวเล็ก ผักใบเขียว เมล็ดพืช อาจช่วยลดอาการตะคริวในตอนกลางคืนได้
    • นอนราบหรือนอนตะแคง อาจบรรเทาอาการตะคริวหรืออาการปวดที่เกิดจากการหดตัวของมดลูก
    • รับประทานยาพาราเซตามอล เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด แต่ควรปรึกษาคุณหมอในการรับประทานยาขณะตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของทารกในครรภ์

    เมื่อไหร่ควรพบคุณหมอเมื่อคนท้องเป็นตะคริว

    หากมีอาการตะคริวรุนแรงหรือมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยควรพบคุณหมอทันที

    • อาการตะคริวรุนแรงขึ้นเป็นเวลานานและไม่หายไป
    • อาการตะคริวเกิดขึ้นพร้อมกับอาการปวดไหล่หรือคอ
    • มดลูกหดตัวอย่างรุนแรงพร้อมกับอาการปวดท้องน้อย
    • มีเลือดออก มีมูกไหลออกจากช่องคลอด และวิงเวียนศีรษะ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา