backup og meta

การตรวจคัดกรองไตรมาส 1 สำคัญอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 20/07/2022

    การตรวจคัดกรองไตรมาส 1 สำคัญอย่างไร

    ตรวจคัดกรองไตรมาส 1 ของคุณแม่ตั้งครรภ์ เป็นการตรวจสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ และทารกที่อยู่ในครรภ์ เพื่อตรวจคัดกรองข้อมูลเบื้องต้นและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นของตัวทารก ซึ่งรวมถึงข้อบกพร่องของโครโมโซม เช่น ดาวน์ซินโดรม เอ็ดเวิร์ดซินโดรม สามารถช่วยให้ติดตามและวางแผนดูแลคุณแม่และลูกน้อยได้อย่างใกล้ชิด ในกรณีที่ผลตรวจมีความผิดปกติ

    ตรวจคัดกรองไตรมาส 1 ควรการตรวจอะไรบ้าง

    ตรวจคัดกรองไตรมาส 1 นั้น แพทย์อาจจะทำการตรวจดังต่อไปนี้

    • การซักถามประวัติ และตรวจสุขภาพคุณแม่เบื้องต้น คุณแม่อาจจะตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพและประวัติโรคในครอบครัว เพื่อให้แพทย์รับรู้ข้อมูลว่ามีความเสี่ยงเฉพาะเจาะจงหรือไม่ เช่น โรคทางพันธุกรรมที่สามารถสืบทอดส่งต่อรุ่นสู่รุ่นได้
    • การตรวจอุ้งเชิงกรานและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear หรือ Pap Test) เพื่อตรวจสุขภาพของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน รวมไปถึงตรวจหามะเร็งปากมดลูกและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) บางชนิด
    • การตรวจเลือด เพื่อตรวจดูความเข้มข้นของเลือด กรุ๊ปเลือด ตรวจหาโรคเอดส์ กามโรค ไวรัสตับอักเสบบี และตรวจคัดกรองโรคเลือดธาลัสซีเมีย รวมไปถึงการวัดสารชีวเคมี 2 ชนิดที่พบในเลือดของคุณแม่ตั้งครรภ์ คือ  Pregnancy-associated plasma protein-A หรือPAPP-A โปรตีนนี้สร้างโดยรก และ Human chorionic gonadotropin หรือ hCG ฮอร์โมนตั้งครรภ์ที่ผลิตจากเซลล์ของรก หากมีระดับที่ผิดปกติอาจหมายถึงมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะโครโมโซมผิดปกติ
    • การตรวจปัสสาวะ เป็นการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ เพื่อให้แพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์สามารถตรวจหาสัญญาณของการติดเชื้อที่ไต กระเพาะปัสสาวะ และอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์แล้วอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์
    • การอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) เป็นการตรวจเพื่อยืนยันอายุครรภ์ โดยการวัดความยาวตั้งแต่ศีรษะถึงกระดูกก้นกบ และเพื่อดูด้านหลังคอของทารก โดยการวัดความหนาของของเหลวบริเวณต้นคอ ถ้ามีความหนาเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ อาจสามารถบ่งบอกความเสี่ยงในการมีโครโมโซมผิดปกติ หรือโครงสร้างหัวใจมีปัญหา
    • การตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์ (Noninvasive Prenatal Testing หรือ NIPT) สามารถตรวจคัดกรองความเสี่ยงของทารกในครรภ์ที่จะเกิดกลุ่มอาการดาวน์ หรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของจำนวนโครโมโซมอื่น ๆ ซึ่งการทดสอบนี้ไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ การทดสอบนี้ใช้ตัวอย่างจากเลือดคุณแม่

    หรืออาจมีการตรวจเพิ่มเติม โดยคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์ที่ฝากครรภ์ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ โดยการตรวจบางอย่างอาจจะต้องใช้เวลาในการประมวลผล และวินิจฉัย

    เมื่อไรที่ควรตรวจคัดกรองไตรมาส 1

    ตรวจคัดกรองไตรมาส 1 ของคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น อาจอยู่ในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 11-14 ของการตั้งครรภ์

    โดยการตรวจคัดกรองนั้น ผลจากการตรวจถือว่ายังไม่แม่นยำ 100% ดังนั้นจึงควรฝากครรภ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจติดตามสุขภาพของมารดาและทารก และเมื่อคลอดทารกแล้วควรได้รับการประเมินจากกุมารแพทย์อีกครั้ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 20/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา