backup og meta

ท้องเดือนแรก อาการที่ควรรู้ และความเสี่ยงสุขภาพที่อาจพบ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 10/05/2022

    ท้องเดือนแรก อาการที่ควรรู้ และความเสี่ยงสุขภาพที่อาจพบ

    การท้องไตรมาสแรก โดยเฉพาะ ท้องเดือนแรก เป็นช่วงที่สำคัญ เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นของการปฏิสนธิและพัฒนาตัวอ่อนในท้อง คุณแม่จึงควรได้รับการดูแลและตรวจสุขภาพอย่างใกล้ชิดนอกจากนี้ ควรมีการปรับตัวและเรียนรู้ถึงความเสี่ยงของการท้องนอกมดลูก การแท้งบุตร ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้คุณแม่และทารกในท้องมีสุขภาพที่ดี

    ท้องเดือนแรก

    การท้องเดือนแรก ฮอร์โมนและร่างกายจะเริ่มเปลี่ยนแปลง และมีการพัฒนาของตัวอ่อนเกิดขึ้น ซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละสัปดาห์

    สัปดาห์ที่ 1-2

    เมื่อถึงช่วงตกไข่เยื่อบุมดลูกจะเริ่มหนาขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ บางคนอาจมีอาการตกขาวในช่วงวันตกไข่ ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิภายใน 24-72 ชั่วโมง จะเคลื่อนตัวจากท่อนำไข่เข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อทำการฝังตัวและพัฒนาเป็นตัวอ่อนต่อไป

    สัปดาห์ที่ 3

    ในช่วงสัปดาห์นี้ยังไม่มีอาการหรือสัญญาณการท้องเกิดขึ้น แต่ฮอร์โมนจะทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังร่างกายให้หยุดการมีประจำเดือน ตัวอ่อนในช่วงสัปดาห์นี้ยังมีขนาดเล็กมาก เป็นเพียงกลุ่มเซลล์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และเริ่มพัฒนาเป็นเอ็มบริโอ (Embryo) ที่อยู่ด้านใน ส่วนชั้นนอกจะพัฒนาเป็นรก ซึ่งโครงสร้างที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนสารอาหารและออกซิเจนจากคุณแม่สู่ทารก และแลกเปลี่ยนของเสียจากทารกสู่คุณแม่

    สัปดาห์ที่ 4

    คุณแม่อาจเริ่มมีอาการคัดตึงที่หน้าอก หน้าอกบวม หรืออาการอื่น ๆ และตัวอ่อนจะเริ่มฝั่งตัวอยู่ในมดลูก น้ำคร่ำเพิ่มมากขึ้น รกเริ่มพัฒนาเพื่อทำหน้าที่นำออกซิเจนและสารอาหารมาหล่อเลี้ยงทารก ในช่วงสัปดาห์นี้คุณแม่อาจสามารถทดสอบการตั้งครรภ์ได้เองที่บ้าน

    อาการคนท้องเดือนแรก

    คนท้องในช่วงไตรมาสแรกจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์และระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกาย ทำให้ คนท้องเดือนแรก อาจมีอาการ ดังนี้

    • ประจำเดือนไม่มา
    • อารมณ์แปรปรวน เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ
    • เต้านมบวมและไวต่อความรู้สึก
    • ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น หรือไม่ชอบอาหารบางชนิด
    • ปวดท้องหรือมีอาการแพ้ท้อง
    • ท้องผูก เสียดท้อง ปัสสาวะบ่อยขึ้น
    • น้ำหนักตัวไม่คงที่

    อาการเหล่านี้อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิต บางคนอาจต้องเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน เช่น การนอนเร็วขึ้น หรือการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปอาการสามารถหายไปได้เอง แต่ในคนท้องบางคนอาจไม่มีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น

    ความเสี่ยงช่วงท้องเดือนแรก

    ในช่วงท้องเดือนแรก บางคนอาจมีภาวะเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเหล่านี้

    • การท้องนอกมดลูก เป็นภาวะที่ไข่ได้รับการผสมกับอสุจิแล้วกลายเป็นตัวอ่อนฝังตัวอยู่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่ผนังมดลูก มักเกิดขึ้นบริเวณท่อนำไข่ ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปเป็นทารกได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจจะเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ คนไข้จะมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด ร่วมกับมีอาการปวดท้องน้อย ถ้ามีอาการตามนี้ควรรีบกลับมาพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว
    • แท้งบุตร หากเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกมักเกิดจากความผิดปกติของทารกในครรภ์ ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาโครโมโซม ปัญหาการพัฒนาของรก หรืออาจเกิดจากปัญหาด้านสุขภาพของคุณแม่

    เตรียมการตั้งครรภ์ช่วง ท้องเดือนแรก

    เพื่อเตรียมตัวก่อนการตั้งท้องคุณแม่ควรตรวจสุขภาพเพื่อหาความเสี่ยงของโรคที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพครรภ์และทารก เช่น โรคทางพันธุกรรม หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคประจำตัว รวมถึงเรียนรู้การปรับตัวเมื่อตั้งท้องเพื่อให้ท้องและทารกในท้องมีสุขภาพดี

    หากเริ่มมีสัญญาณของการตั้งครรภ์สามารถตรวจการตั้งครรภ์เบื้องต้นได้ที่บ้าน และหากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพครรภ์โดยรวมด้วย นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและทารก โดยควรรับประทานอาหารที่มีกรดโฟลิก (Folic acid) 0.4 มิลลิกรัม (400 ไมโครกรัม) ต่อวัน เพื่อช่วยในการสร้างตัวอ่อน และป้องกันความผิดปกติของระบบประสาทในทารก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 10/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา