backup og meta

ท้อง 2 เดือน อัลตราซาวด์ ได้หรือไม่ อัลตราซาวด์บอกอะไรบ้าง

ท้อง 2 เดือน อัลตราซาวด์ ได้หรือไม่ อัลตราซาวด์บอกอะไรบ้าง

คนท้องอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการอัลตราซาวด์เพื่อตรวจสอบภาวะสุขภาพและพัฒนาการของเด็กในท้อง ว่าสามารถทำได้เร็วที่สุดตอนอายุครรภ์เท่าไหร่ ท้อง 2 เดือน อัลตราซาวด์ ได้หรือไม่ โดยทั่วไปแล้วคนท้องสามารถเข้ารับการอัลตราซาวด์ได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์หรือตอนท้องได้ 1 เดือนครึ่ง การอัลตราซาวด์ตอนท้อง 2 เดือนจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ปกติ แในปัจจุบันคุณหมอแนะนำให้คนท้องรับการตรวจอัลตราซาวด์ตามข้อบ่งชี้ในคนท้องแต่ละคนเพื่อตรวจสอบพัฒนาการของเด็กและตรวจวินิจฉัยความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์

[embed-health-tool-due-date]

การอัลตราซาวด์ คืออะไร

การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นวิธีตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์โดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อตรวจสอบโครงสร้างภายในร่างกาย คลื่นเสียงจะกระทบกับเนื้อเยื่อต่าง ๆ แล้วสะท้อนและดูดกลับ เพื่อแปลงผลเป็นภาพ 2 มิติหรือ 3 มิติบนจอมอนิเตอร์ การอัลตราซาวด์มักนำมาใช้ตรวจสุขภาพทั้งของคนท้องและคนทั่วไป ขณะอัลตราซาวด์อาจรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายตัวบ้างเล็กน้อย แต่จะไม่เป็นอันตรายต่อคุณแม่และเด็กในท้อง

โดยทั่วไปการอัลตราซาวด์ในคนท้องจะมี 2 แบบ ได้แก่

  • การอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด ใช้ในการตรวจครรภ์ ในคนท้องในช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากเป็นช่วงที่ตัวอ่อนยังมีขนาดเล็ก รวมทั้งขนาดมดลูกของคนท้องในช่วงไตรมาสแรกยังอยู่ในอุ้งเชิงกรานจึงอาจยังไม่สามารถมองเห็นผ่านการอัลตราซาวด์ทางหน้าท้องได้อย่างชัดเจน หรือในกรณีการตั้งครรภ์ในระยะแรกของคนท้องที่มีน้ำหนักตัวเยอะหรือมีหน้าท้องที่หนากว่าปกติ
  • การอัลตราซาวด์ทางหน้าท้อง ใช้ในการตรวจครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ขึ้นไป  เนื่องจากขนาดมดลูกมีการขยายขึ้นมาเหนือบริเวณอุ้งเชิงกรานแล้ว ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

คนท้องควรเข้ารับการฝากครรภ์และไปพบคุณหมอตามนัดหมายเพื่ออัลตราซาวด์และตรวจสุขภาพเป็นระยะ ซึ่งจะช่วยให้สามารถประเมินภาวะสุขภาพโดยรวม วัดความยาวของปากมดลูกในรายที่มีความเสี่ยง ตรวจสอบการเจริญเติบโต ขนาดตัว การเต้นของหัวใจ และพัฒนาการของเด็กในท้องในแต่ละไตรมาส และช่วยคัดกรองความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคดาวน์ซินโดรม ภาวะท้องลม ภาวะตั้งท้องนอกมดลูก หากคุณหมอตรวจพบความผิดปกติใด ๆ จะได้สามารถเฝ้าติดตามอาการและรักษาได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที

ท้อง 2 เดือน อัลตราซาวด์ ได้ไหม

โดยทั่วไปการอัลตราซาวด์สามารถทำได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์หรือตอนอายุครรภ์ 1 เดือนครึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถมองเห็นตัวอ่อนและพัฒนาการด้านร่างกายของตัวอ่อนได้ชัดเจนมากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะการบีบตัวของหัวใจ การอัลตราซาวด์ตอนท้อง 2 เดือนจึงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ในปัจจุบัน คุณหมออาจแนะนำให้คนท้องเข้ารับการอัลตราซาวด์อย่างน้อย 1 ครั้ง/ไตรมาส ทั้งนี้ คุณหมอที่ดูแลครรภ์อาจแนะนำให้คนท้องอัลตราซาวด์บ่อยกว่านั้นหากสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพของคนท้องและเด็กในท้อง หรือหากคนท้องมีโรคประจำตัว หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ที่เป็นอยู่เดิม หรือเป็นเบาหวานจากการตั้งครรภ์ ที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในท้องและปริมาณน้ำคร่ำที่อยู่รอบ ๆ ตัวเด็ก ก็จะมีการตรวจ ultrasoundที่ถี่มากขึ้น เพื่อติดตามอย่างใกล้ชิด

พัฒนาการของเด็กในท้อง 2 เดือน

พัฒนาการของเด็กในท้อง 2 เดือน หรือในสัปดาห์ที่ 7-8 ของการตั้งครรภ์ อาจมีดังนี้

  • มีขนาดตัวประมาณ 7-14 มิลลิเมตร
  • หัวใจพัฒนาระดับนึงที่สามารถเห็นการเต้นของหัวใจได้แล้ว เป็นการยืนยันถึงการมีชีวิตอยู่ของทารกในครรภ์ 
  • นิ้วมือและนิ้วเท้าเริ่มพัฒนา โดยจะมีลักษณะเป็นพังผืด
  • หูด้านนอก ตา เปลือกตา ริมฝีปากบน และอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ไต เริ่มก่อตัว
  • อวัยวะเพศเริ่มก่อตัวเป็นเพศที่ถูกกำหนด หากยีนกระตุ้นการพัฒนาของอัณฑะ ตัวอ่อนจะพัฒนาเป็นตัวอ่อนเพศชายโดยกำเนิด แต่หากไม่มียีนเพศชายกระตุ้น ตัวอ่อนจะพัฒนารังไข่และกลายเป็นตัวอ่อนเพศหญิง

ความสำคัญของการอัลตราซาวด์ในแต่ละไตรมาส

การอัลตราซาวด์ในแต่ละไตรมาส อาจช่วยให้คนท้องทราบถึงภาวะสุขภาพและพัฒนาการของเด็กในท้อง ช่วยให้คุณหมอตรวจพบความผิดปกติของเด็กในแต่ละไตรมาสได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม และช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับคนท้องและเด็กในท้องได้อย่างทันท่วงที

โดยทั่วไปการอัลตราซาวด์ในแต่ละไตรมาส อาจแบ่งได้ดังนี้

  • การอัลตราซาวด์ในไตรมาสที่ 1 (ช่วงสัปดาห์ที่ 6-14 หรือช่วงเดือนที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์) เป็นการอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อยืนยันจำนวนตัวอ่อนในครรภ์และตำแหน่งของตัวอ่อน ทั้งยังใช้เพื่อคำนวณอายุครรภ์และวันกำหนดคลอด หากพบว่าไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิและกลายเป็นตัวอ่อนแล้วไม่ได้ฝังตัวที่ผนังมดลูก แต่กลับไปฝังตัวที่บริเวณอื่น เช่น ท่อนำไข่ หรือที่เรียกว่าภาวะท้องนอกมดลูก คุณหมอจำเป็นต้องนำตัวอ่อนออกมาเนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพคนท้องได้
  • การอัลตราซาวด์ในไตรมาสที่ 2 (ช่วงสัปดาห์ที่ 18-22 หรือช่วงเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์) มักใช้วิธีอัลตราซาวด์ทางหน้าท้องเพื่อตรวจสอบพัฒนาการและโครงสร้างร่างกายของเด็กในท้อง เช่น กระดูกสันหลัง แขน ขา สมอง อวัยวะภายใน และใช้เพื่อตรวจขนาดและตำแหน่งของรก การอัลตราซาวด์ในระยะนี้ ยังใช้เพื่อตรวจสอบเพศของเด็กในท้องได้ด้วย
  • การอัลตราซาวด์ในไตรมาสที่ 3 (ช่วงสัปดาห์ที่ 28 หรือช่วงเดือนที่ 7-9 ของการตั้งครรภ์) มักใช้วิธีอัลตราซาวด์ทางหน้าท้องเพื่อตรวจสอบว่าเด็กในท้องมีพัฒนาการตามปกติและเหมาะสมตามอายุครรภ์หรือไม่ ทั้งยังใช้เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของรกเพื่อให้แน่ใจว่ารกอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและไม่ได้เกาะอยู่ส่วนล่างของมดลูกหรือที่เรียกว่าภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta Previa)  รวมถึงประเมินท่าของเด็ก เพื่อพิจารณาวางแผนสำหรับการคลอดต่อไป

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ultrasound in Pregnancy. https://my.clevelandclinic.org/health/diagnostics/9704-ultrasound-in-pregnancy. Accessed November 17, 2022

Pregnancy tests – ultrasound. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/pregnancy-tests-ultrasound. Accessed November 17, 2022

Ultrasound scans during pregnancy. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/ultrasound-scan. Accessed November 17, 2022

What to Expect From Your First Pregnancy Ultrasound. https://www.webmd.com/parenting/baby/features/first-pregnancy-ultrasound. Accessed November 17, 2022

What happens in the second month of pregnancy?. https://www.plannedparenthood.org/learn/pregnancy/pregnancy-month-by-month/what-happens-second-month-pregnancy. Accessed November 17, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

พัฒนาการทารกในครรภ์ 3 เดือน และความเปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก

อายุ ครรภ์ 8 สัปดาห์ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา