backup og meta

อายุ ครรภ์ 8 สัปดาห์ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    อายุ ครรภ์ 8 สัปดาห์ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

    อายุ ครรภ์ 8 สัปดาห์ หรือตั้งครรภ์ประมาณ 2 เดือน เป็นช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและมีอาการแพ้ท้องเกิดขึ้น รวมถึงทารกในครรภ์อาจเริ่มมีพัฒนาการทางระบบประสาท สมอง และอาจมีพัฒนาการของอวัยวะร่างกายในส่วนต่าง ๆ เช่น ดวงตา จมูก หูชั้นใน ลิ้น เพดานปาก ดังนั้น คุณแม่จึงควรดูแลตัวเองอย่างสม่ำสมอเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเองและทารกในครรภ์

    การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่เมื่อ อายุ ครรภ์ 8 สัปดาห์

    เมื่ออายุ ครรภ์ 8 สัปดาห์ ร่างกายและสภาวะทางอารมณ์ของคุณแม่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

    • เต้านมอาจมีลักษณะบวม นุ่ม คัดตึง และอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น
    • อาการแพ้ท้อง เช่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน อารมณ์แปรปรวน เกิดความวิตกกังวล
    • ตกขาวเป็นสีครีม สีขาวและมีปริมาณมากขึ้น เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้น
    • ปวดหัว ซึ่งอาจมีปัจจัยมาจากการไหลเวียนของเลือดที่เพิ่มขึ้นและความเหนื่อยล้าในระหว่างตั้งครรภ์
    • อาจมีเลือดออกจากช่องคลอดเล็กน้อยในระหว่างตั้งครรภ์
    • อาจมีปัญหาเกี่ยวกับช่องปากและฟัน เนื่องจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงมาก อาจทำให้บางคนมีอาการเลือดออกตามไรฟัน

    อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ ทารกในครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

    ในช่วงอายุ ครรภ์ 8 สัปดาห์ ทารกในครรภ์อาจมีการพัฒนาการทางระบบประสาทและสมองอย่างต่อเนื่อง และมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากขึ้น โดยอาจมีความยาวตัวประมาณ 1.3 เซนติเมตร มีการพัฒนาของหัวใจที่สมบูร์ระดับนึงที่ทำให้เห็นการเต้นของหัวใจ เป็นการยืนยันการมีชีวิตอยู่ของทารกในครรภ์ และเริ่มมีรูปร่างหน้าตาที่ชัดเจนมากขึ้นทั้งดวงตา จมูก หูชั้นใน ลิ้น เพดานปาก กรามบน หัวไหล่ ข้อศอก และเริ่มมีการพัฒนาของกระดูกอ่อน ต้นแขน ต้นขา ส่วนนิ้วเท้าที่ยังคงมีลักษณะเป็นพังผืด นอกจากนี้ อวัยวะสืบพันธุ์ของทารกก็กำลังเริ่มพัฒนาเช่นกัน แต่ยังไม่สามารถระบุเพศได้

    วิธีดูแลตัวเองเมื่ออายุครรภ์ 8 สัปดาห์

    การตั้งครรภ์ในช่วงอายุ ครรภ์ 8 สัปดาห์ อาจมีความเสี่ยงในการแท้งบุตรได้ง่าย แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ดังนั้น การดูแลสุขภาพครรภ์ที่เหมาะสมอาจช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

    • ฝากครรภ์และตรวจสุขภาพครรภ์ตามนัดหมายอยู่เสมอ เพื่อตรวจสุขภาพของคุณแม่ ความเป็นปกติของทารกในครรภ์ และตรวจคัดกรองโรคที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคโลหิตจาง โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
    • ฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ หากยังไม่ได้ฉีดมาก่อนในรอบปีที่ผ่านมาเพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองและทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมกับแต่ละคนด้วย
    • งดการสูบบุหรี่ สูดดมควันบุหรี่มือสอง และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากสารนิโคติน คาร์บอนมอนอกไซด์ในควันบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองและทางร่างกายของทารกในครรภ์ ซึ่งอาจเสี่ยงทำให้ทารกมีภาวะพิการแต่กำเนิด
    • พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนอย่างน้อยวันละ 7-9 ชั่วโมง เพื่อช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้าขณะตั้งครรภ์ รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น โปรตีน แคลเซียม ผักและผลไม้ กรดโฟลิก (Folic Acid) ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายในขณะตั้งครรภ์ ที่อาจช่วยบำรุงสุขภาพคุณแม่และช่วยส่งเสริมสุขภาพของทารกในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบประสาท สมอง และการพัฒนาทางร่างกาย นอกจากนี้ ยังอาจช่วยป้องกันภาวะพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ได้อีกด้วย

    ออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที หรือประมาณ 30 นาที/วัน ด้วยการเดิน โยคะ ออกกำลังกายอุ้งเชิงกราน เพื่อช่วยสร้างความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในขณะตั้งครรภ์ รวมถึงยังอาจช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้า อาการปวดเมื่อย และอาจช่วยให้คลอดง่ายขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา