การตรวจอัลตราซาวด์เป็นการตรวจที่เพิ่มความละเอียดมากยิ่งขึ้น สามารถเห็นภาพของลูกในครรภ์มีการพัฒนาการอย่างไร ซึ่งรวมไปถึงการตรวจภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น การตรวจอัลตราซาวด์ไตรมาส 2 มีเป้าหมายอื่น ๆ ร่วมด้วย และยังอาจช่วยคุณหมอในการประเมินภาวะของคุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2
[embed-health-tool-ovulation]
การตรวจอัลตราซาวด์ไตรมาส 2 ควรตรวจเมื่อใด
การตรวจอัลตราซาวนด์ในไตรมาสที่ 2 มักทำระหว่างการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 18 ถึง 22 แต่ส่วนใหญ่มักจะตรวจในช่วงสัปดาห์ที่ 20 เพื่อตรวจดูพัฒนาการทางร่างกายของลูกในครรภ์และตรวจสอบความผิดปกติของรก แม้คุณแม่จะได้รับการอัลตราซาวนด์ในไตรมาสที่ 1 แล้ว แต่การตรวจในไตรมาสที่ 2 มีความสำคัญหลายประการเหมือนกัน เนื่องจากสามารถให้ข้อมูลของลูกในครรภ์ได้มากยิ่งขึ้น
การตรวจอัลตราซาวด์ไตรมาสที่ 2 ให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับลูกในครรภ์
การตรวจอัลตราซาวด์ไตรมาสที่ 2 สามารถให้ข้อมูลที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับการตรวจอัลตราซาวด์ไตรมาส 1 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- เพื่อตรวจสอบวันคลอดที่แน่นอน ซึ่งมักไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปจากการตรวจในไตรมาสที่ 1
- เพื่อตรวจสอบจำนวนและขนาดของลูกในครรภ์
- ตรวจดูอวัยวะต่าง ๆ ที่เริ่มมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น เช่น สมอง กระดูกสันหลัง หัวใจ ตับ ไต รวมไปถึงตรวจดูความผิดปกติทางกายวิภาคของลูกน้อยในครรภ์
- สามารถตรวจดูเพศของลูกน้อย
- ตรวจดูการไหลเวียนโลหิตของเลือดที่มาเลี้ยงมดลูกและยังเชื่อมต่อมายังลูกน้อย
- ตรวจเช็คดูปริมาณน้ำคร่ำ
- ตรวจโครงสร้างและความผิดปกติของรก
- ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ
การเตรียมตัวก่อนตรวจอัลตราซาวด์ไตรมาส 2
ก่อนการตรวจอัลตราซาวด์ไตรมาส 2 คุณแม่ควรดื่มน้ำประมาณ 500ml เพื่อให้มีน้ำในกระเพาะปัสสาวะมากพอ ซึ่งจะช่วยเอื้ออำนวยในการเห็นภาพอวัยวะต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยคุณหมอจะทาเจลลงบนหน้าท้อง เพื่อช่วยในการส่งผ่านคลื่นเสียงจากหัวตรวจไปยังผิวหนังเข้าไปดูอวัยวะต่าง ๆ โดยจะฉายเป็นภาพ 2 มิติผ่านทางหน้าจอและการตรวจแต่ละครั้งจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 30 นาที
ความเสี่ยงจากการตรวจอัลตราซาวด์ไตรมาส 2
การตรวจอัลตราซาวด์นั้นไม่ค่อยมีความเสี่ยง นอกจากความรู้สึกไม่สบายเล็กน้อยจากแรงกดดันของตัวแปลงสัญญาณที่หน้าท้องหรือในช่องคลอด แต่ไม่ควรทำการตรวจอัลตราซาวด์บ่อยครั้งโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ
การตรวจอัลตราซาวด์ในแต่ละครั้ง คุณแม่ควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าควรตรวจหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับจากการตรวจ อาจส่งผลให้คุณแม่ต้องทำการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม หรือทำการตัดสินใจบางอย่าง เช่น คุณหมออาจให้คุณแม่ได้รับการตรวจเพิ่มเติมหากพบความเสี่ยงที่อาจทำให้แท้งได้ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]