backup og meta

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือครอบครัวที่เตรียมมีลูก เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องอยากรู้แน่นอนก็คือ พัฒนาการของทารกในครรภ์ในแต่ละช่วงเวลา นี่คือสิ่งที่คุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับ พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 16

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 16

ลูกจะเติบโตอย่างไร

สำหรับพัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 16 สัปดาห์นี้ทารกในครรภ์จะมีขนาดตัวเท่าผลอะโวคาโด โดยมีหนักประมาณ 100 กรัม และสูงประมาณ 12 เซนติเมตร โดยวัดจากศีรษะถึงปลายเท้า

กระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อเล็ก ๆ บนแผ่นหลังของลูกน้อยกำลังแข็งแรงขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้ลูกน้อยสามารถยกศีรษะขึ้นตั้งตรงได้ นอกจากนี้ กล้ามเนื้อบนใบหน้าของลูกน้อยก็กำลังแข็งแรงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งก็หมายความว่า ลูกน้อยสามารถแสดงอารมณ์บนใบหน้าได้มากขึ้น เช่น หรี่ตา ขมวดคิ้ว ยิ้ม

ผิวหนังของลูกน้อยจะมีลักษณะโปร่งใส มีเส้นเลือดเล็ก ๆ วางทอดอยู่ใต้ผิวหนังบาง ๆ ตอนนี้ทารกน้อยยังไม่มีไขมันสะสมในร่างกาย เนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาอัยวะที่สำคัญอื่นๆ อยู่

ตอนนี้หูของทารกเริ่มพัฒนา จึงอาจได้ยินเสียงต่าง ๆ รวมไปถึงเสียงของคุณแม่ได้แล้ว นี่จึงเป็นโอกาสอันดีในการเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่กับลูกน้อย ไม่ว่าจะด้วยการร้องเพลง พูดคุย ถึงแม้ว่าตอนนี้ทารกในครรภ์จะยังไม่เข้าใจว่าพูดอะไร แต่เสียงอาจช่วยทำให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลายได้

ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต

ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ในช่วงสัปดาห์นี้ คุณแม่อาจรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวในช่องท้อง ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเพราะการย่อยอาหาร หรือเกิดแก๊สขึ้นในกระเพาะ แต่จริง ๆ แล้ว ลูกน้อยกำลังถีบท้อง โดยการเคลื่อนไหวนี้จะชัดเจนขึ้นตามระยะเวลาของการตั้งครรภ์

หน้าท้องจะเริ่มยื่นออกมามากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ใส่เสื้อผ้าชุดเดิมไม่ได้ และต้องหาเสื้อผ้าใหม่มาใส่ แต่คุณแม่ตั้งครรภ์ก็ไม่จำเป็นต้องสวมชุดคลุมท้องเสมอไป โดยอาจสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ เช่น ชุดเดรสยาวลายสวย ๆ แทนได้ นอกจากจะสวยกว่าแล้ว ยังสามารถใส่หลังคลอดได้ด้วย

คุณแม่ควรเลือกสวมเสื้อผ้าที่เนื้อผ้าใส่สบาย เช่น ผ้าคอตตอน ผ้าฝ้าย เพราะนอกจากระบายอากาศได้ดีแล้ว ยังไม่ทำให้ผิวเกิดอาการระคายเคืองด้วย คุณแม่ตั้งครรภ์ควรยอมรับรูปร่างใหม่ของตัวเองให้ได้ อย่าคิดลดน้ำหนักด้วยการอดอาหาร เพราะจะส่งผลเสียกับทั้งตัวเองและทารกในครรภ์ 

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 16

ควรระมัดระวังอะไรบ้าง

บางครั้งอาจรู้สึกหายใจลำบากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ โดยอาการนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ สาเหตุของอาการหายใจลำบากมาจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่ไปกระตุ้นสมองให้สูดออกซิเจนเข้าไปมากขึ้นเพื่อไปเลี้ยงดูทารกในครรภ์ ทำให้อาจรู้สึกเหมือนหายใจไม่ทัน

หรืออีกสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์หายใจลำบาก คือ ทารกที่กำลังเติบโตอาจกำลังทับกระบังลมอยู่ โดยกระบังลมคือกล้ามเนื้อที่แยกหน้าอกออกจากหน้าท้อง ในช่วงเดือนท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ ทารกในครภ์จะมีขนาดใหญ่ขึ้น จึงทำให้หายใจได้ลำบาก

การพบคุณหมอ

ควรปรึกษาคุณหมออย่างไรบ้าง

คุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าตัวเองกินของหวานมากขึ้น และวิตกกังวลว่าอาจทำให้มีค่าน้ำตาลในปัสสาวะสูงกว่าปกติ จึงควรบอกคุณหมอในสิ่งที่กังวล

นอกจากนี้ หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ก็ควรแจ้งให้คุณหมอทราบ แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ ในการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ก็ไม่ควรกังวลเกินเหตุ บางครั้งปริมาณของน้ำตาลก็จะถูกขับออกมาทางไต และสามารถตรวจพบในปัสสาวะได้ แต่อาการนี้จะเกิดแค่ชั่วคราวเท่านั้น การดูแลร่างกายให้ดี กินอาหารที่ถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสม การตรวจปัสสาวะในครั้งต่อไปก็จะเป็นปกติ ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง

การทดสอบที่ควรรู้

ในช่วงเดือนนี้จะมีการแค่การตรวจร่างกายตามปกติ เพื่อให้แน่ใจว่ามีสุขภาพการตั้งครรภ์ที่ดี ซึ่งการตรวจร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงนี้ ได้แก่

  • การชั่งน้ำหนัก
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อหาค่าระดับน้ำตาลและโปรตีน
  • การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ
  • การวัดขนาดมดลูก โดยคุณหมอจะใช้มือคลำจากภายนอก
  • การวัดความสูงของมดลูกส่วนบน
  • การตรวจสอบอาการบวมของมือ เท้า และขา

การตรวจสอบเหล่านี้ใช้เพื่อประเมินความคืบหน้าของการตั้งครรภ์ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ หากมีข้อสงสัยหรือความกังวลเกี่ยวกับการตรวจใด ๆ ควรปรึกษาคุณหมอทันที

สุขภาพและความปลอดภัย

ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์

นี่คือสิ่งที่คุณแม่อาจเป็นกังวลเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยของตัวเองและลูกน้อย

  • การว่ายน้ำ

การว่ายน้ำเป็นวิธีออกกำลังกายที่ดี ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อบริเวรเชิงกราน โดยปกติแล้วคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือนสามารถว่ายน้ำได้ เว้นเสียแต่ว่ามีภาวะหรือปัญหาสุขภาพที่คุณหมอสั่งห้ามไม่ให้ว่ายน้ำ

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเริ่มจากว่ายน้ำช้า ๆ แล้วจึงค่อยเพิ่มความเข้มข้นขึ้นโดยต้องยังอยู่ในระดับที่รู้สึกสบาย ไม่หักโหมเกินไป หากรู้สึกเหนื่อยหอบ ควรว่ายน้ำให้ช้าลง หรือพักก่อน อย่าฝืนตัวเอง

ช่วงตั้งครรภ์ ภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอลง อาจติดเชื้อได้ง่ายขึ้น หากใช้บริการสระว่ายน้ำสาธารณะควรใช้ความระมัดระวังเวลาที่ว่ายน้ำในสระว่ายน้ำสาธารณะ เนื่องจากต้องใช้สระร่วมกันคนอีกเป็นจำนวนมาก

ทางที่ดี หากคุณแม่ตั้งครรภ์อยากออกกำลังกายในน้ำ หรือว่ายน้ำ ควรเลือกสระที่ดูสะอาด ปลอดภัย เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้

  • โรคอีสุกอีใส

ในช่วงตั้งครรภ์ ภูมิคุ้มกันในร่างกายของคุณแม่จะอ่อนแอลง ร่างกายไม่แข็งแรงพอจะต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ จึงควรอยู่ให้ห่างจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีสุกอีใส

เนื่องจากโรคอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อไวรัส ที่อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ และทำให้เกิดอาการพิการแต่กำเนิดได้ เช่น อาการศีรษะเล็ก แขนขาพิการ คุณแม่ตั้งครรภ์และสมาชิกในครอบครัวจึงควรล้างมือ หรือใช้เจลทำความสะอาดแบบไม่ต้องล้างออกเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

แล้วมาดูกันว่า ในสัปดาห์ต่อไป คุณแม่ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Poppy seed to pumpkin: How big is your baby?. http://www.babycenter.com/slideshow-baby-size. Accessed March 30, 2015

Pregnancy calendar week 16. http://kidshealth.org/parent/pregnancy_center/pregnancy_calendar/week16.html. Accessed March 30, 2015

Your pregnancy: 16 weeks. http://www.babycenter.com/6_your-pregnancy-16-weeks_1101.bc. Accessed March 30, 2015

Pregnancy calendar – Week 16. https://www.cgbabyclub.co.uk/pregnancy/weeks/16-weeks-pregnant.html. Accessed August 22, 2022

Pregnancy at week 16. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/pregnancy-at-week-16. Accessed August 22, 2022

Pregnancy Week 16: Your developing baby. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/week-by-week/16-weeks-pregnant/. Accessed August 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

22/08/2022

เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตรวจเบาหวานคนท้อง เพื่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในท้อง

คนท้องนอนไม่หลับ อาการในแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 22/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา