backup og meta

คุณแม่ตั้งครรภ์กินน้ำตาลเยอะเกินไป ส่งผลอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 10/02/2022

    คุณแม่ตั้งครรภ์กินน้ำตาลเยอะเกินไป ส่งผลอย่างไรบ้าง

    ปกติแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลได้ แต่ควรจำกัดปริมาณให้เหมาะสมหรือกินให้น้อยที่สุด แต่หากเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจยิ่งต้องระวังปริมาณในการบริโภคน้ำตาล และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพราะหาก คุณแม่ตั้งครรภ์ กินน้ำตาล มากเกินไป อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

    คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรกินน้ำตาลในปริมาณเท่าใด

    อาจยังไม่มีคำแนะนำที่เป็นมาตรฐานสำหรับปริมาณในการบริโภคน้ำตาลที่เหมาะสมในช่วงตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำตาลที่ควรได้รับต่อวัน อาจขึ้นอยู่กับการระดับเผาผลาญของร่างกาย ระดับน้ำตาลในเลือด และน้ำหนักตัว โดยปกติแล้ว ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 25 กรัม

    นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระวังการกินผลไม้รสหวานหรือผลไม้น้ำตาลสูง เช่น กล้วยหอม มะม่วงสุก แตงโม องุ่น หากต้องการกินผลไม้เหล่านี้ ควรกินแบบผลไม้สดในปริมาณจำกัด หลีกเลี่ยงรูปแบบแปรรูป เช่น แยม น้ำผลไม้ เพราะอาจมีการเติมน้ำตาล อย่างไรก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลที่แนะนำต่อวันที่เหมาะสมต่อสุขภาพ และปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ได้

    คุณแม่ตั้งครรภ์ กินน้ำตาล ในปริมาณมาก จะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

    การกินน้ำตาลมากเกินไป อาจส่งผลต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ดังนี้

    ทำให้อาการคนท้องแย่ลง

    ช่วงตั้งครรภ์ ผู้หญิงมักมีอาการที่เรียกว่า อาการคนท้อง เช่น อารมณ์แปรปรวน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด กรดไหลย้อน ปัสสาวะบ่อย หากคุณแม่ตั้งครรภ์กินน้ำตาลมากเกินไป อาจส่งผลให้อาการเหล่านี้แย่ลงได้

    รู้สึกอ่อนเพลีย

    อาหารน้ำตาลสูงบางประเภทมีน้ำตาลซูโครส (Sucrose) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า น้ำตาลทราย ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดแปรปรวน คือมีน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นและลดลงอย่างฉับพลัน ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกง่วงนอนและอ่อนเพลีย

    อาจทำให้น้ำหนักขึ้น

    คุณแม่ตั้งครรภ์มักมีน้ำหนักขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว ยิ่งหากกินน้ำตาลมากเกินไป ก็อาจยิ่งทำให้น้ำหนักขึ้น จนน้ำหนักเกิน หรือเสี่ยงเกิดโรคอ้วน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการคลอดลูกและพัฒนาการของทารก เช่น ทำให้คลอดก่อนกำหนด ทารกตายคลอด (Stillbirth) ทารกพิการแต่กำเนิด

    เสี่ยงเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

    การกินน้ำตาลมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Clinical Nutrition เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคน้ำตาลในช่วงตั้งครรภ์และความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษในกลุ่มตัวอย่างหญิงชาวนอร์เวย์ที่ตั้งครรภ์ท้องแรก โดยการให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 32,933 คนตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไปและพฤติกรรมในการบริโภคในช่วงตั้งครรภ์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษบริโภคน้ำตาลมากกว่ากลุ่มที่สุขภาพดี อาหารที่อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่ อาหารน้ำตาลสูง เครื่องดื่มรสหวานทั้งชนิดอัดลมและไม่อัดลม และการกินอาหารที่มีน้ำตาลตามธรรมชาติ เช่น ผลไม้สด ผลไม้แห้ง อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้

    อาจส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์

    การกินน้ำตาลมากเกินไป ในช่วงตั้งครรภ์ นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่แล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ด้วย โดยเฉพาะหากกินน้ำตาลมากจนมีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไป อาจไปขัดขวางพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกมีภาวะพิการแต่กำเนิด เช่น หัวใจพิการ สมองพิการ กระดูกสันหลังพิการ นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลต่อการคลอด คือ ทำให้ทารกคลอดก่อนกำเนิด มีน้ำหนักตัวแรกคลอดเยอะเกินไป หรือมีน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นต้น

    นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of the American Thoracic Society เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคน้ำตาลฟรักโทส หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลฟรักโทสในปริมาณมากในช่วงที่เป็นทารกในครรภ์และช่วงวัยเด็ก กับความเสี่ยงในการเกิดโรคหอบหืดเมื่อเป็นเด็กวัยเรียน พบว่า เด็กที่ได้รับน้ำตาลฟรักโทสในปริมาณมากตอนอยู่ในครรภ์และตอนเป็นเด็กเล็ก เสี่ยงเกิดโรคหอบหืดในเด็กได้มากกว่า อีกทั้งนักวิจัยในโครงการนี้ยังแนะนำว่า การหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มรสหวานในช่วงตั้งครรภ์ อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหอบหืดในเด็กของทารกในครรภ์ได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 10/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา