backup og meta

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 24 ของการตั้งครรภ์

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 24 ของการตั้งครรภ์

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 24 นี้ ทารกในครรภ์อาจมีขนาดตัวเท่ากับแครอท โดยมีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 23 อีกประมาณ 113 กรัม ซึ่งทารกยังคงต้องรับออกซิเจนผ่านทางสายรก แต่เมื่อคลอดออกมา ปอดของทารกจะเริ่มสูดเอาออกซิเจนเข้าไปทันที และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ปอดของทารกอาจเริ่มผลิตสารลดแรงตึงผิวออกมา ซึ่งสารชนิดนี้จะช่วยเก็บถุงลมเอาไว้ในปอด โดยไม่ทำให้เกิดการรั่วไหล ทั้งยังช่วยให้หายใจได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 24

ทารกในครรภ์จะเติบโตอย่างไร

สำหรับพัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 24 นี้ ทารกในครรภ์อาจมีขนาดตัวเท่ากับแครอท โดยมีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 23 อีกประมาณ 113 กรัม 

ทารกยังคงต้องรับออกซิเจนผ่านทางสายรก แต่เมื่อคลอดออกมา ปอดของทารกจะเริ่มสูดเอาออกซิเจนเข้าไปทันที และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ปอดของทารกอาจเริ่มผลิตสารลดแรงตึงผิวออกมา ซึ่งสารชนิดนี้จะช่วยเก็บถุงลมเอาไว้ในปอด โดยไม่ทำให้เกิดการรั่วไหล ทั้งยังช่วยให้หายใจได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

หูชั้นในซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยควบคุมความสมดุลของร่างกายอาจพัฒนาเต็มที่แล้ว ทารกในครรภ์อาจเริ่มรับรู้ได้ว่า ตอนนี้ตัวเองกำลังลอยตัวอยู่ในน้ำคร่ำในท่าหัวทิ่มหรือหัวตั้ง

ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต

ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

โดยปกติแล้ว ในช่วงสัปดาห์ที่ 24 ถึง 28 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องเข้ารับการตรวจวัดระดับน้ำตาล ซึ่งจะช่วยให้คุณหมอทราบได้ว่า คุณแม่เป็นโรคเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์หรือไม่ หากคุณแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงให้คุณแม่ต้องคลอดด้วยการผ่าคลอด เนื่องจาก โรคนี้อาจทำให้ทารกมีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติ ทั้งยังอาจส่งผลให้ทารกแรกเกิดมีปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ 

หากคุณหมอตรวจพบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจต้องมีการทดสอบเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง และคุณหมออาจต้องเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์อาจควบคุมอาการของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ ด้วยการวางแผนรับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายเป็นประจำ รักษาด้วยการใช้ยา เช่น ฉีดอินซูลิน (Insulin) ทุกวัน

พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 24

ควรระมัดระวังอะไรบ้าง

เวลาที่หน้าท้องขยายใหญ่ขึ้น ผิวหนังจะสูญเสียความชุ่มชื้น อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์เกิดอาการคันพุงหรือหน้าท้อง หรือรู้สึกไม่สบายตัว แต่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องพยายามอย่าเกา เพราะยิ่งเกาก็จะยิ่งคัน และอาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง หรือเกิดแผล ทั้งยังเสี่ยงติดเชื้อได้อีกด้วย คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทาครีมบำรุงผิว หรือน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำ โดยเฉพาะที่บริเวณหน้าท้อง เพื่อให้ผิวชุ่มชื่นขึ้น และช่วยลดอาการคันได้ แต่หากลองบรรเทาอาการคันด้วยการทาครีมบำรุงผิวแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีผื่นขึ้นที่หน้าท้อง ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อจะได้ตรวจสอบอย่างละเอียด

การพบคุณหมอ

ควรปรึกษาคุณหมออย่างไรบ้าง

ในช่วงเวลานี้มดลูกจะเริ่มปรับตัวให้พร้อมสำหรับการคลอดลูก มดลูกอาจเริ่มมีการบีบตัว จึงอาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกเหมือนมีอะไรมากดอยู่ตรงยอดมดลูกหรือท้องน้อย การบีบรัดตัวของมดลูกอาจมีระยะเวลาและความรุนแรงแตกต่างกันไป ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจสับสนว่านี้คือ การเจ็บท้องหลอก หรือ เจ็บท้องจริงเนื่องจากใกล้คลอด

โดยความแตกต่างที่สามารถสังเกตได้ ก็คือ การเจ็บท้องหลอก ปากมดลูกจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น แต่หากเป็นการเจ็บท้องคลอดจริง ปากมดลูกจะเปิดออกพร้อมมีมูกไหลออกมาจากช่องคลอด และจะรู้สึกเจ็บปวดนานกว่าปกติ

ฉะนั้นหากไม่แน่ใจ หรือคิดว่าตัวเองเจ็บท้องใกล้คลอด ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

การทดสอบที่ควรรู้

การไปพบคุณหมอตามนัด ถือเป็นเรื่องปกติของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มาจนถึงสัปดาห์ที่ 24 โดยคุณหมออาจให้ตรวจร่างกายตามรายการต่าง ๆ ดังนี้

  • การชั่งน้ำหนักและวัดความดันโลหิต
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อหาระดับน้ำตาลและโปรตีน
  • การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ
  • การวัดขนาดมดลูก โดยการคลำจากภายนอก เพื่อดูว่าใกล้ถึงกำหนดคลอดหรือยัง
  • วัดความสูงของยอดมดลูก
  • การตรวจสอบอาการต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับ โดยเฉพาะอาการที่ผิดปกติ

คุณแม่ตั้งครรภ์บางรายอาจต้องมีการตรวจร่างกายนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใด ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในช่วงสัปดาห์ที่เหลือ หรือการคลอดบุตร ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนที่สุด

สุขภาพและความปลอดภัย

ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์

ปัญหาหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่อาจพบก็คือ ปัญหาท้องอืด อาหารไม่ย่อย ซึ่งอาจจัดการกับปัญหานี้ได้ด้วยการใช้ยาลดกรด โดยต้องใช้ยาตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด และต้องไม่รับประทานยาเกินขนาดที่ระบุไว้บนฉลาก แต่ไม่ควรกินยาลดกรดมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Poppy seed to pumpkin: How big is your baby?. http://www.babycenter.com/slideshow-baby-size. Accessed March 30, 2015

Pregnancy calendar week 24. http://kidshealth.org/parent/pregnancy_center/pregnancy_calendar/week17.html. Accessed March 30, 2015

Your pregnancy: 24 weeks. http://www.babycenter.com/6_your-pregnancy-17-weeks_1101.bc. Accessed March 30, 2015

เวอร์ชันปัจจุบัน

10/05/2022

เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

โยคะสำหรับคนท้อง มีประโยชน์ต่อสุขภาพคุณแม่และทารกอย่างไร

แม่กินถั่วตอนท้องทำให้ลูกเกิดมา แพ้ถั่ว ได้หรือเปล่า?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 10/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา