backup og meta

อาการคนท้องไตรมาสที่สอง ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    อาการคนท้องไตรมาสที่สอง ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

    อาการคนท้องไตรมาสที่สอง เป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 13-27 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ สิ่งที่จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนคือขนาดท้องและขนาดหน้าอกที่ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้ในคนท้องบางรายอาจมีปัญหาผิวหนังแตกลาย รวมทั้งอาจมีผิวที่ดำคล้ำขึ้นเนื่องจากร่างกายถูกกระตุ้นให้สร้างเม็ดสีผิวเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาจเริ่มเป็นตะคริวที่ขาหรือเท้าเนื่องจากน้ำหนักตัวที่เริ่มมากขึ้น และอาการอื่น ๆ คนท้องควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอาการคนท้องไตรมาสที่สองเพื่อที่จะได้ไม่วิตกกังวลมากจนเกินไปหากร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง

    อาการคนท้องไตรมาสที่สอง

    ในช่วงไตรมาสที่สองอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายส่วน โดยอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนและพบได้บ่อย มีดังนี้

    หน้าท้องและหน้าอกใหญ่ขึ้น

    เนื่องจากมดลูกขยายใหญ่ขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับทารกในการเจริญเติบโตขึ้นขนาดหน้าท้องจึงใหญ่ขึ้นจนสังเกตเห็นได้ชัดเจน รวมไปถึงหน้าอกอาจเริ่มมีการขยายใหญ่ขึ้นตามไปด้วย ควรเริ่มมองหาชุดชั้นในเพื่อรองรับหน้าอกที่ใหญ่ขึ้น

    มดลูกบีบตัวหรือเรียกว่า “Braxton Hicks Contractions”

    อาจรู้สึกได้ถึงการบีบตัวของมดลูกซึ่งอาจเกิดขึ้นในบางช่วงเวลา เช่น ตอนบ่าย ตอนเย็น หลังออกกำลังกาย หลังจากมีเพศสัมพันธ์ หรือในบางคนอาจรู้สึกว่ามดลูกบีบตัวตลอดทั้งวัน หรือตลอดทุกการทำกิจกรรม หากรู้สึกไม่สบายตัว อาการบีบตัวเริ่มสม่ำเสมอทุก 5-10 นาที หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น มีมูกเลือด น้ำเดิน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อขอตรวจอาการมดลูกบีบตัว เพราะอาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด

    ผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลง

    การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์จะกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในคุณแม่บางคนอาจมีฝ้าเป็นจุดสีน้ำตาลขึ้นบนใบหน้า หรืออาจเกิดการแตกลายเป็นเส้นสีน้ำตาลที่หน้าท้อง เนื่องจาก การขยายตัวของหน้าท้อง การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังเหล่านี้จะจางลงหลังคลอด นอกจากนั้น แสงแดดอาจทำให้ฝ้ามีอาการแย่ลงได้ การทาครีมกันแดดก่อนออกไปอยู่กลางแจ้งอาจช่วยบรรเทาอาการได้ ส่วนรอยแตกลายที่อยู่บริเวณหน้าท้อง หน้าอก ก้น หรือต้นขาเหล่านี้ ไม่สามารถป้องกันแต่อาจใช้วิธีทาครีมบำรุงขณะตั้งครรภ์ และดูแลฟื้นฟูหลังจากการคลอด

    ปัญหาจมูก

    เมื่อระดับฮอร์โมนเพิ่มขึ้นและร่างกายมีการสร้างเลือดมากขึ้น อาจส่งผลทำให้เยื่อเมือกบวมและเลือดออกง่าย ทำให้เกิดอาการคัดจมูกและเลือดกำเดาไหล เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น การใช้น้ำเกลือสามารถช่วยลดอาการคัดจมูกได้ และดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวและทาปิโตเลียมเจลรอบจมูก เพื่อทำให้ผิวชุ่มชื้น

    ปัญหาช่องปาก

    การตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อความรู้สึกในระหว่างใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงสีฟัน ทำให้มีเลือดออกเล็กน้อย และการอาเจียนบ่อยครั้งอาจส่งผลต่อเคลือบฟันทำให้เสี่ยงต่อฟันผุ ดังนั้น จึงควรเปลี่ยนมาบ้วนปากด้วยน้ำเกลือและใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่มจะช่วยลดการระคายเคืองได้ และเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจช่องปากเป็นประจำ ในช่วงไตรมาส2 เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและขูดหินปูน

    อาการวิงเวียนศีรษะ

    การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว จึงควรดูแลตัวเองด้วยการดื่มน้ำมาก ๆ หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน และเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ แต่ถ้าหากมีอาการวิงเวียนศีรษะเพิ่มขึ้นให้นอนตะแคงอาจช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น

    ปวดขา

    เมื่อตั้งครรภ์อาจเกิดตะคริวที่ขาได้ โดยมักมีอาการในเวลากลางคืน และเพื่อป้องกันอาการปวดขาหรือเป็นตะคริว อาจลองใช้วิธียืดกล้ามเนื้อน่องก่อนนอน เคลื่อนไหวร่างกายและดื่มน้ำระหว่างวันให้มากขึ้น นอกจากนั้นอาจลองอาบน้ำอุ่น หรือนวดขาด้วยน้ำแข็งอาจช่วยบรรเทาอาการได้ รวมถึงรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและแม็กนีเซียมสูงจะช่วยลดการเกิดตะคริวได้

    ตกขาว

    เป็นเรื่องปกติเมื่อตั้งครรภ์อาจมีตกขาวเหนียว ใส มีสีขาว แต่ถ้าหากว่าตกขาวมีกลิ่นแรง สีผิดปกติ รู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรง หรือมีอาการคันบริเวณช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณว่กำลังติดเชื้อในช่องคลอด ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษาต่อไป

    ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

    การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยระหว่างตั้งครรภ์ อาจมีอาการปัสสาวะแรง ปวดเมื่อปัสสาวะ ปัสสาวะมีสีขุ่น กลิ่นเหม็น มีไข้ ปวดหลัง หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบพบคุณเหมอ เพราะอาจส่งผลให้เกิดคลอดก่อนกำหนด ถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนดได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา