backup og meta

ท้อง 37 สัปดาห์ อาการใกล้คลอด เป็นอย่างไร

ท้อง 37 สัปดาห์ อาการใกล้คลอด เป็นอย่างไร

การตั้งครรภ์ในช่วงเดือนที่ 9 หรือสัปดาห์ที่ 37 ถือว่าเข้าสู่ระยะใกล้คลอด ในระยะนี้ คุณแม่อาจมีอาการ เช่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง กรดไหลย้อน ท้องผูก นอนไม่หลับ จนรู้สึกไม่สบายตัว ซึ่งอาการเหล่านี้พบได้บ่อยในช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ สำหรับคุณแม่ที่กำลัง ท้อง 37 สัปดาห์ อาการใกล้คลอด ที่ควรสังเกต เช่น ปวดท้อง มีมูกเลือดออกจากช่องคลอด ปวดหลังอย่างรุนแรง ถุงน้ำคร่ำแตก หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบคุณหมอที่ดูแลครรภ์ให้เร็วที่สุดเพื่อรับการดูแลอย่างเหมาะสมและคลอดบุตรอย่างปลอดภัย

[embed-health-tool-due-date]

ท้อง 37 สัปดาห์ อาการใกล้คลอด เป็นอย่างไร

หากคุณแม่ท้อง 37 สัปดาห์มีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าใกล้คลอดดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

  • ปวดท้อง

ช่วงใกล้คลอดคุณแม่อาจมีอาการท้องแข็งและปวดท้องเนื่องจากการมดลูกหดรัดตัวบ่อยครั้ง หากลองเปลี่ยนท่าทางหรือทำกิจกรรม เช่น เดินเล่น ดื่มน้ำ เพื่อบรรเทาอาการปวดแล้ว แต่อาการปวดไม่หายไป ซ้ำยังปวดท้องถี่และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และมีอาการครั้งละไม่ต่ำกว่า 60 วินาที ทุก ๆ 5 นาที อาจเป็นสัญญาณว่าทารกในครรภ์เคลื่อนตัวมาที่ปากมดลูกและกำลังเข้าสู่ระยะคลอด

  • มีมูกเลือดไหลออกจากช่องคลอด

ขณะตั้งครรภ์ ร่างกายจะสร้างชั้นมูกเหนียว (Mucus plug) ปิดปากมดลูกไว้เพื่อป้องกันมดลูกและเด็กในครรภ์จากเชื้อโรคและการติดเชื้อจากภายนอก เมื่อเข้าสู่ระยะใกล้คลอด ปากมดลูกจะเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด มูกดังกล่าวจะไหลออกมาจากช่องคลอด ในลักษณะเป็นเส้นมูกเหนียวข้นคล้ายเสมหะยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร มักจะมีสีปนเลือด ไม่ใส

น้ำคร่ำแตกเป็นอีกสัญญาณของภาวะใกล้คลอด อาจเกิดขึ้นก่อนการคลอดหรือระหว่างการคลอดก็ได้ สาเหตุเกิดจากเนื้อเยื่ออ่อนแรงลงตามธรรมชาติ แรงหดตัวของมดลูก และแรงดันจากทารกในครรภ์ ทำให้ถุงน้ำคร่ำที่ห่อหุ้มตัวทารกไว้แตกออก ลักษณะของภาวะถุงน้ำคร่ำแตกในแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ที่พบได้บ่อย เช่น

  • น้ำคร่ำค่อย ๆ ไหลออกมาจากช่องคลอดอย่างต่อเนื่อง
  • น้ำคร่ำไหลออกมาเป็นหยด ๆ สามารถใช้ผ้าอนามัยรองรับไว้ได้ชั่วคราว
  • น้ำคร่ำพุ่งออกมารวดเร็วเหมือนปัสสาวะ
  • น้ำคร่ำไหลออกจากช่องคลอดแบบมา ๆ หยุด ๆ
  • ปวดหลัง

อาการปวดหลังอย่างรุนแรงเป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงใกล้คลอด เกิดจากทารกในครรภ์เคลื่อนตัวผ่านบริเวณกระดูกสันหลังของคุณแม่ไปยังช่องคลอด เมื่อศีรษะของทารกสัมผัสกับกระดูกก้นกบของคุณแม่ ก็จะทำให้คุรแม่ปวดหลังบริเวณบั้นเอวได้

  • อยากขับถ่ายบ่อยขึ้น

เมื่อทารกในครรภ์เคลื่อนตัวลงต่ำผ่านกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่อาจไปกดทับเส้นประสาทบริเวณนั้น ทำให้คุณแม่รู้สึกอยากขับถ่ายบ่อยขึ้น อีกทั้งในช่วงใกล้คลอดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ที่กระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว ส่งผลให้คุณแม่อาจขับถ่าย หรือมีอาการท้องเสียก่อนและขณะคลอดบุตร ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้

พัฒนาการของทารกในครรภ์ในช่วงสัปดาห์ที่ 37

ทารกในครรภ์อายุครรภ์ 37 สัปดาห์จะมีขนาดตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าประมาณ 48.6 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 2.9 กิโลกรัม ในช่วงนี้ ทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการทางร่างกายค่อนข้างสมบูรณ์และเตรียมพร้อมลืมตาดูโลกแล้ว ผิวหนังของทารกจะเป็นสีชมพูและเหี่ยวย่นน้อยลง ส่วนใหญ่ปอดจะพัฒนาเต็มที่ และมีแรงกำมือได้แล้ว อีกทั้งทารกยังเรียนรู้ที่จะทำสีหน้าได้หลากหลาย เช่น ขมวดคิ้ว ยิ้ม คุณแม่สามารถสัมผัสถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ได้อย่างชัดเจน ระบบย่อยอาหารและลำไส้ของทารกในครรภ์อายุครรภ์ 37 สัปดาห์จะผลิตขี้เทา (Meconium) ซึ่งเป็นของเสียในลำไส้ของทารก ลักษณะเป็นสารเหนียวสีเขียวที่จะกลายมาเป็นอุจจาระครั้งแรกเมื่อทารกลืมตาดูโลก บางครั้งขี้เทาอาจมีขนอ่อนที่ปกคลุมผิวหนังของทารกตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ผสมอยู่ด้วย

อาการของคนท้อง 37 สัปดาห์

อาการของคนท้อง 37 สัปดาห์ อาจมีดังนี้

  • ปวดศีรษะ อาจเกิดจากระดับฮอร์โมนและปริมาณเลือดในร่างกายที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การขาดคาเฟอีน การนอนหลับไม่เพียงพอ ความเครียดของร่างกายจากการแบกรับน้ำหนักของทารกในครรภ์
  • ปวดหลัง ในช่วงตั้งครรภ์ระยะสุดท้าย เส้นเอ็นในร่างกายของคุณแม่จะนุ่มและยืดหยุ่นขึ้นตามธรรมชาติเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ซึ่งอาจส่งผลให้ข้อต่อของหลังส่วนล่างและกระดูกเชิงกรานตึง และทำให้เกิดอาการปวดหลังได้
  • อาหารไม่ย่อยและกรดไหลย้อน ทารกในครรภ์ที่กำลังเติบโตจะกดทับบริเวณท้องจนอาจทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย อีกทั้งการคลายตัวของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารยังอาจทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาจนมีอาการแสบร้อนกลางอก ท้องอืด แน่นท้อง เป็นต้น
  • มีปัญหาด้านการนอนหรือนอนไม่หลับ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความกังวลเกี่ยวกับการคลอดที่ใกล้เข้ามา ทารกในครรภ์ขยับตัวบ่อยและคุณแม่สัมผัสแรงเตะของทารกได้ชัดเจนขึ้น ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป อาการปวดท้องและไม่สบายตัวเนื่องจากหน้าท้องขยายใหญ่เต็มที่
  • ท้องอืดและท้องผูก ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์นอกจากจะส่งผลให้มดลูกคลายตัวแล้ว ยังส่งผลต่อกล้ามเนื้อในระบบย่อยอาหาร ทำให้ย่อยอาหารได้ช้าลง จนทำให้เกิดอาการท้องอืด ซึ่งอาจนำไปสู่อาการท้องผูกได้ เนื่องจากมีอาหารค้างอยู่ในลำไส้นานกว่าปกติ
  • รู้สึกร้อน ช่วงตั้งครรภ์ ระบบไหลเวียนโลหิตจะทำงานหนักขึ้น และส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นตามไปด้วย จนอาจทำให้คุณแม่รู้สึกร้อนกว่าปกติได้
  • วิงเวียนศีรษะ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นจะไปกระตุ้นการไหลเวียนเลือดจากคุณแม่ไปยังทารกในครรภ์ ส่งผลให้ความดันโลหิตของคุณแม่ลดและเลือดไหลเวียนไปยังสมองของคุณแม่ได้น้อยลง จึงอาจทำให้คุณแม่รู้สึกวิงเวียนศีรษะบ่อยครั้ง
  • มือและเท้าบวม อาจเกิดจากมีน้ำส่วนเกินคั่งอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะร่างกายส่วนล่าง
  • อาการท้องแข็งเนื่องจากมดลูกบีบรัดตัว (Braxton Hick Contraction) หรือที่เรียกว่า อาการเจ็บท้องหลอก อาการนี้มักไม่รุนแรงและหายไปได้เอง เป็นอาการที่ไม่ใช่สัญญาณของการคลอดบุตร
  • อาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย อาจเริ่มมีอาการตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 2 หรือประมาณเดือนที่ 6 ของการตั้งครรภ์
  • ผิวแตกลาย การขยายตัวและหดตัวอย่างรวดเร็วและฉับพลันของผิวหนังบริเวณหน้าท้องมักทำให้เซลล์ผิวหนังแตกตัวและเส้นใยคอลลาเจนถูกทำลาย ผิวหนังบริเวณที่ยืดออกจะกลายเป็นลายเส้นสีชมพูอ่อน ๆ ที่อาจหนาขึ้นตามอายุครรภ์และขนาดของหน้าท้อง หากทิ้งไว้เป็นเวลานานรอยแตกอาจกลายเป็นร่องสีขาวถาวรได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

You and your baby at 37 weeks pregnant. https://www.nhs.uk/pregnancy/week-by-week/28-to-40-plus/37-weeks/. Accessed September 8, 2022

37 weeks pregnant. https://raisingchildren.net.au/pregnancy/week-by-week/third-trimester/37-weeks. Accessed September 8, 2022

37 Weeks Pregnant. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/week-by-week/37-weeks-pregnant/. Accessed September 8, 2022

Pregnancy at week 37. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/pregnancy-at-week-37. Accessed September 8, 2022

Your Pregnancy Week by Week: Weeks 35-40. https://www.webmd.com/baby/guide/your-pregnancy-week-by-week-weeks-35-40#. Accessed September 8, 2022

Week-by-week guide to pregnancy. https://www.nhs.uk/start4life/pregnancy/week-by-week/3rd-trimester/week-37/. Accessed September 8, 2022

What to Expect When Your Water Breaks. https://www.webmd.com/baby/fluid-leakage. Accessed September 8, 2022

Signs that labour has begun. https://www.nhs.uk/pregnancy/labour-and-birth/signs-of-labour/signs-that-labour-has-begun/. Accessed September 8, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/08/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการใกล้คลอด ปวดหน่วง เป็นอย่างไร ควรบรรเทาอาการอย่างไร

อาการคนท้องไตรมาสที่สาม กับข้อควรระวังก่อนใกล้คลอด


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 07/08/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา