backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

การดูแลสุขภาพคนท้องไตรมาสที่สาม มีเรื่องอะไรที่ต้องระวังเป็นพิเศษ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 17/09/2022

การดูแลสุขภาพคนท้องไตรมาสที่สาม มีเรื่องอะไรที่ต้องระวังเป็นพิเศษ

การดูแลสุขภาพคนท้องไตรมาสที่สาม หรือช่วงก่อนคลอด ถือเป็นส่วนสำคัญของการตั้งครรภ์ เพราะในช่วงนี้ คือ ช่วงสุดท้ายก่อนที่ทารกออกมาจะลืมตาดูโลก การกระทบกระเทือนของคุณแม่เพียงเล็กน้อยอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของครรภ์ได้ คุณแม่ควรดูแลตนเอง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงทั้งตัวคุณแม่เองและลูกน้อย

การดูแลสุขภาพคนท้องไตรมาสที่สาม

ช่วงไตรมาสที่สามนั้นเริ่มต้นสัปดาห์ที่ 28 ถึงสิ้นสุดการตั้งครรภ์ ทารกยังคงเติบโตและเริ่มขยับร่างกายมากขึ้น ภายใน 35-36 สัปดาห์ โดยส่วนมากทารกจะอยู่ในท่ากลับหัวเพื่อพร้อมคลอด การเข้าพบคุณหมอจึงเป็นเรื่องดีในการตรวจเช็คตำแหน่งที่ถูกต้องของทารก นอกจากนั้นแล้วยังควรตรวจสุขภาพด้านต่าง ๆ ดังนี้

ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

  • การตรวจสุขภาพครรภ์ในช่วงไตรมาสสามคุณหมอจะตรวจสอบสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ว่าเป็นอย่างไร รวมถึงการหดตัวของมดลูกและตรวจสอบว่ามีเลือดออกมาหรือไม่
  • ตรวจสอบความดันโลหิตและน้ำหนักตัว รวมไปถึงการเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหวของทารก
  • ตรวจอุ้งเชิงกรานเพื่อดูว่าปากมดลูกขยายตัวได้หรือไม่ ในกรณีที่มีอาการแสดงของการเจ็บครรภ์คลอด
  • คุณหมอจะแนะนำให้ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของทารกอยู่ตลอดในทุก ๆ วัน
  • ในบางรายคุณหมอจะแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในช่วง 27-36 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่และบาดทะยัก รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรคคอตีบและไอกรน เพื่อส่งต่อภูมิคุ้มกันไปยังลูกน้อยในครรภ์ได้

ตรวจคัดกรองกลุ่ม บี สเตรปโทคอกคัส (Group B Streptococcus หรือ GBS)

กลุ่ม บี สเตรปโทคอกคัส (Group B Streptococcus หรือ GBS) เป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในลำไส้หรืออวัยวะเพศซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใหญ่ แต่ทารกที่สัมผัสกับเชื้อดังกล่าวอาจป่วยหนักได้

ในบางโรงพยาบาล คุณหมอจะทำการตรวจป้ายสารรคัดหลั่งบริเวณช่องคลอดและทวารหนักเพื่อนำไปเพาะเชื้อ หากตรวจแล้วพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียคุณหมอจะสั่งยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำระหว่างคลอด เพราะยาปฏิชีวนะจะช่วยป้องกันทารกจากแบคทีเรียกลุ่ม บี สเตรปโทคอกคัส (Group B Streptococcus หรือ GBS)

ตรวจตำแหน่งทารก

เมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอดคุณหมอจะตรวจสอบเพื่อดูว่าทารกอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ โดยศีรษะของทารกจะต้องเป็นส่วนนำที่อยู่ต่ำที่สุดภายในมดลูก เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การคลอดตามธรรมชาติ แต่หากทารกอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ใช่ศรีษะอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำที่สุดภายในมดลูกหลังจาก 36 สัปดาห์ มีแนวโน้มว่าทารกจะไม่สามารถย้ายตำแหน่งเป็นศีรษะอยู่ในมดลูกได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น คุณหมออาจจะมีการพยายามใช้แรงกดที่หน้าท้อง เพื่อปรับท่าทางและตำแหน่งของทารกให้อยู่ในบริเวณที่เหมาะสม แต่ถ้าคุณหมอทำแล้วไม่เป็นผล คือ ทารกไม่เปลี่ยนตำแหน่ง คุณหมออาจวางแผนการคลอดด้วยการผ่าคลอด

อัลตร้าซาวด์

ในช่วงไตรมาสที่สาม การอัลตร้าซาวน์จะมีบทบาทหลักในการช่วยยืนยันตำแหน่งของทารกดังที่กล่าวไปแล้ว รวมทั้งประเมินตำแหน่งของรกว่าสามารถคลอดทางธรรมชาติได้หรือไม่ เพราะในกรณีที่มีภาวะรกเกาะต่ำจะต้องพิจารณาการคลอดเป็นการผ่าตัดคลอด และในคุณแม่บางรายจะมีการทำการตรวจอัลตร้าซาวน์เพิ่มเติมเพื่อประเมินการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ปริมาณน้ำคร่ำ โดยเฉพาะในกรณีที่คุณแม่มีความเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกใครรภ์ เช่น คุณแม่ที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัญหาสุขภาพเพิ่มเติมระหว่างตั้งครรภ์ เช่น มีโรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะเบาหวานจากการตั้งครรภ์

หากมีปัญหาเหล่านี้ควรปรึกษาคุณหมอ

  • รู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว มีไข้ หนาวสั่น ปวดแสบอวัยวะเพศเมื่อปัสสาวะ
  • ปวดศีรษะ จุนแน่นลิ้นปี่หรือชายโครงขวา ตาพร่ามัว ซึ่งอาจเป็นอาการแสดงของภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • มีมูกหรือเลือดออกจากช่องคลอด
  • อาการตกขาวมีกลิ่นเพิ่มขึ้น
  • น้ำคร่ำแตก คือ มีอาการของน้ำใส ๆ ไหลออกจากช่องคลอดแบบไม่สามารถกลั้นได้
  • มีอาการหดตัวของมดลูกบ่อยครั้งและเจ็บปวด
  • ทารกในครรภ์เคลื่อนไหวลดลง
  • มีอาการบวมน้ำและน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก
  • เจ็บหน้าอกและหายใจลำบาก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 17/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา