backup og meta

ลูกในครรภ์ พัฒนาการตลอด 9 เดือน เป็นอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    ลูกในครรภ์ พัฒนาการตลอด 9 เดือน เป็นอย่างไร

    การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่สร้างความตื่นเต้นให้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก เนื่องจาก ลูกในครรภ์ จะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 9 เดือนของการตั้งครรภ์ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจำเป็นต้องทราบถึงพัฒนาการของลูกในแต่ละเดือน เพื่อจะได้เห็นทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของลูกอย่างสมบูรณ์

    พัฒนาการของ ลูกในครรภ์ ตลอด 9 เดือน

    พัฒนาการของลูกในครรภ์จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อไข่ผสมกับอสุจิจนเกิดการปฏิสนธิต่อเนื่องไปจนถึง 9 เดือนของการตั้งครรภ์ ดังนี้

    ลูกในครรภ์เดือนที่ 1 สัปดาห์ที่ 1-4

    การตั้งครรภ์ในช่วงนี้เกิดขึ้นหลังจากไข่ผสมกับอสุจิจนเกิดการปฏิสนธิ และเข้าไปฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก จากนั้น เซลล์จะเริ่มแบ่งตัวเพื่อพัฒนาไปเป็นตัวอ่อน โดยถุงน้ำคร่ำจะเกิดขึ้นเพื่อเก็บน้ำคร่ำและป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนได้รับความกระทบกระเทือน รวมถึงรกก็จะเริ่มมีการพัฒนาเพื่อทำหน้าที่ในการห่อหุ้มตัวทารกและช่วยส่งอาหารจากแม่สู่ทารกในครรภ์

    ลูกในครรภ์เดือนที่ 2 สัปดาห์ที่ 5-8

    เมื่อการตั้งครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 2 ทารกจะมีขนาดยาวประมาณ 1 นิ้ว และอวัยวะส่วนต่าง ๆ เช่น ใบหน้า แขน ขา หูชั้นใน ตา จมูก หัวใจ สมอง อวัยวะรับความรู้สึก รูปร่าง ระบบไหลเวียนเลือด กระดูกอ่อน ปอด ลำไส้ จะเริ่มมีการพัฒนา

    เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 6 ตัวอ่อนจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์จะสามารถตรวจจับการเต้นของหัวใจได้ และเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 8 อวัยวะส่วนต่าง ๆ จะพัฒนามากขึ้น ตาจะเริ่มมีรูปร่างเหมือนไม้พาย นิ้วเริ่มก่อตัว หูขยายออก ริมฝีปากบนและล่างชัดขึ้น เริ่มมีรูจมูก ลำตัว และคอเริ่มยืดตรง

    ลูกในครรภ์เดือนที่ 3 สัปดาห์ที่ 9-13

    ช่วงเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ทารกอาจมีขนาดตัวยาวประมาณ 4 นิ้ว โดยอวัยวะในส่วนต่าง ๆ ยังคงพัฒนาต่อไป และทารกจะเริ่มมีเล็บมือ เล็บเท้า หูชั้นกลาง ตาเริ่มแยกออกจากกัน เซลล์เม็ดเลือดแดงเริ่มก่อตัว ฟันและอวัยวะเพศภายนอกทั้งคลิตอริสและองคชาตเริ่มพัฒนา ถึงแม้อวัยวะสืบพันธุ์จะพัฒนาขึ้นแต่ยังไม่สามารถแยกได้ว่าทารกเป็นเพศอะไร

    ลูกในครรภ์เดือนที่ 4 สัปดาห์ที่ 14-17

    ในช่วงเดือนนี้ทารกอาจมีขนาดตัวยาวประมาณ 6 นิ้ว โดยทารกจะเริ่มมีผม เปลือกตา ขนตา และเล็บ ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถได้ยินการเต้นของหัวใจได้อย่างชัดเจน ลำตัวเริ่มยืดออก ทารกอาจแสดงพฤติกรรมหาวและขยับใบหน้า เนื่องจากเป็นเดือนที่ระบบประสาทของทารกเริ่มพัฒนา นอกจากนี้ ในเดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์ คุณหมออาจตรวจและแยกเพศของทารกด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ได้แล้ว

    ลูกในครรภ์เดือนที่ 5 สัปดาห์ที่ 18-21

    เดือนที่ 5 ทารกอาจมีขนาดตัวยาวประมาณ 10 นิ้ว และคุณแม่อาจเริ่มรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของทารก ส่วนการเจริญเติบโตของร่างกายทั้งอวัยวะ ศีรษะ และเส้นผม ยังคงพัฒนาต่อไป โดยขนอ่อน ๆ จะเริ่มขึ้นตามร่างกายมากขึ้น ผิวของทารกจะถูกปกคลุมด้วยไขหุ้มทารก (Vernix Caseosa) ซึ่งมีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งมีหน้าที่เคลือบให้ความชุ่มชื้นและปกป้องผิวของทารกจากน้ำคร่ำ

    ลูกในครรภ์เดือนที่ 6 สัปดาห์ที่ 22-26

    เดือนที่ 6 ทารกอาจมีความยาวประมาณ 12 นิ้ว ผิวทารกยังคงบอบบางมากและโปร่งแสง มีสีแดงและเป็นรอยย่น เริ่มมีลายนิ้วมือและรอยเท้า เปลือกตาเริ่มแยกออกและเริ่มเปิดตาได้ ทารกจะเริ่มได้ยินเสียงชัดเจนขึ้นและเริ่มตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากขึ้นด้วยการเตะ ถีบ สะดุ้ง หรือชีพจรอาจเต้นเร็วเมื่อตกใจ

    ลูกในครรภ์เดือนที่ 7 สัปดาห์ที่ 27-30

    เดือนที่ 7 ทารกอาจมีความยาวประมาณ 14 นิ้ว โดยอวัยวะส่วนต่าง ๆ สมองและระบบประสาทยังคงพัฒนาต่อไป ชั้นไขมันจะเริ่มสะสมตามร่างกาย การได้ยินได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ สามารถได้ยินเสียงจากภายนอกร่างกายแม่ และสามารถตอบสนองต่อเสียง แสง และความเจ็บปวดได้ นอกจากนี้ ทารกอาจเริ่มเคลื่อนไหวและเปลี่ยนตำแหน่ง ในช่วงนี้น้ำคร่ำจะเริ่มลดลงเนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น

    ลูกในครรภ์เดือนที่ 8 สัปดาห์ที่ 31-35

    เดือนที่ 8 ทารกอาจมีขนาดตัวยาวประมาณ 18 นิ้ว การเจริญเติบโตยังคงพัฒนาต่อไป และอวัยวะส่วนใหญ่จะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ แต่ปอดอาจยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาต่อไป สมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีการสะสมของไขมันเพิ่มขึ้น ตาของทารกอาจมองเห็นได้ดีขึ้น เริ่มเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เตะ ถีบ บ่อยและแรงขึ้น

    ลูกในครรภ์เดือนที่ 9 สัปดาห์ที่ 36-40 ขึ้นไป

    เดือนที่ 9 เป็นเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ทารกอาจมีความยาวประมาณ 20 นิ้ว โดยปอดจะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่เพื่อเตรียมพร้อมในการคลอด การตอบสนองดีขึ้น และร่างกายมีการทำงานประสานกันอย่างสมบูรณ์มากขึ้น เช่น การได้ยินเสียง กระพริบตา การมองเห็น ขยับร่างกาย การจับ การหันศีรษะไปมา

    ในช่วงนี้ทารกจะเคลื่อนไหวน้อยลง เนื่องจากร่างกายมีขนาดใหญ่และทารกจะเคลื่อนตัวไปสู่ตำแหน่งพร้อมคลอด คือ หันศีรษะเข้าสู่อุ้งเชิงกรานใกล้กับช่องคลอด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา