backup og meta

ขูดมดลูกพักฟื้นกี่วัน และควรดูแลตัวเองหลังขูดมดลูกอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 07/06/2023

    ขูดมดลูกพักฟื้นกี่วัน และควรดูแลตัวเองหลังขูดมดลูกอย่างไร

    สำหรับผู้ที่กำลังจะเข้ารับการขูดมดลูกหรือหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจมีคำถามว่า ขูดมดลูกพักฟื้นกี่วัน และควรดูแลตัวเองอย่างไรหลังรับการขูดมดลูก โดยทั่วไป หลังขูดมดลูกและพักฟื้นประมาณ 1-2 วันก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติหรือกลับไปทำงานได้แล้ว ทั้งนี้ ผู้ที่รับการขูดมดลูกควรหลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด การยกของหนัก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใส่ผ้าอนามัยแบบสอด และการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่และกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

    ขูดมดลูก ใช้ในกรณีใดบ้าง

    การขูดมดลูก (Dilatation and curettage หรือ D&C) เป็นหัตถการทางการแพทย์เพื่อนำเนื้อเยื่อภายในโพรงมดลูกออกมาผ่านทางช่องคลอดโดยการใช้เครื่องมือ ใช้สำหรับจุดประสงค์ต่อไปนี้

    • การวินิจฉัยหาความผิดปกติ

    เป็นการนำเนื้อเยื่อมดลูกเพียงบางส่วนออกไปตรวจเพื่อวินิจฉัยภาวะสุขภาพต่าง ๆ เช่น เนื้องอก ติ่งเนื้อ ความไม่สมดุลของฮอร์โมน อาการเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน สงสัยโรคมะเร็งโพรงมดลูก โดยคุณหมอจะส่งตัวอย่างเนื้อเยื่อมดลูกไปให้ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกด้วยกล้องจุลทรรศน์

    • การรักษาภาวะสุขภาพ

    เป็นการนำเนื้อเยื่อภายในมดลูกบางส่วนออกไป เพื่อจุดประสงค์ดังต่อไปนี้

    • ป้องกันการติดเชื้อหรือการตกเลือดหลังแท้งบุตรหรือหลังทำแท้ง
    • รักษาภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy) ซึ่งเป็นภาวะที่มีเนื้องอกลักษณะเป็นถุงน้ำเจริญเติบโตขึ้นภายในมดลูกแทนที่จะเป็นตัวอ่อนและรกตามปกติ
    • รักษาอาการเลือดออกมากผิดปกติหลังคลอด โดยการนำชิ้นส่วนของรกที่ค้างอยู่ในมดลูกออก
    • กำจัดติ่งเนื้อบริเวณปากมดลูกหรือภายในมดลูก

    ภาวะแทรกซ้อนจากการขูดมดลูก

    การขูดมดลูกอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงดังอไปนี้ แต่อาจพบได้ไม่บ่อยนัก

    • มดลูกทะลุ (Uterus Perforation) เกิดขึ้นเมื่อเครื่องมือทางการแพทย์เจาะมดลูกจนเป็นรูขณะขูดมดลูก มักพบในผู้หญิงที่เพิ่งตั้งครรภ์หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ส่วนใหญ่แล้วอาการมดลูกทะลุจะหายได้เอง แต่อาจต้องรักษาเพิ่มเติมในกรณีที่หลอดเลือดเสียหาย หรือพบว่ามีเลือดออกในช่องท้องร่วมด้วย
    • ปากมดลูกเสียหาย หากปากมดลูกเสียหายขณะขูดมดลูก คุณหมออาจกดหรือใช้ยาเพื่อห้ามเลือด หรือใช้เข็มเย็บปิดแผล ภาวะนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ยาทำให้ปากมดลูกนิ่มก่อนเริ่มขูดมดลูก
    • แผลเป็นบริเวณผนังมดลูก การขูดมดลูกอาจนำไปสู่การเกิดแผลเป็นหรือพังผืดภายในโพรงมดลูก หรือที่เรียกว่ากลุ่มอาการอาเชอร์แมน (Asherman’s syndrome) ซึ่งทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น ประจำเดือนมาผิดปกติ ภาวะมีบุตรยาก โดยกลุ่มอาการนี้มักเกิดหลังการแท้งบุตรหรือคลอดบุตร ทั้งนี้ เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก
    • การติดเชื้อ อาจทำให้ผู้ที่เข้ารับการขูดมดลูกมีอาการของการติดเชื้อ เช่น เป็นไข้ ตกขาวส่งกลิ่นเหม็น ปวดแผลหนักและอาการแย่ลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้ เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก

    ขูดมดลูกพักฟื้นกี่วัน

    หลังจากการขูดมดลูกแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องการทราบว่า ขูดมดลูกพักฟื้นกี่วัน จึงจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ โดยทั่วไป อาจต้องใช้เวลาพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 ชั่วโมงเพื่อดูอาการ หากไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ก็สามารถให้ผู้ดูแลพากลับบ้านได้ และอาจต้องพักฟื้นที่บ้านอีกประมาณ 1-2 วัน เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟู จากนั้นก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามเดิม

    วิธีดูแลตัวเองหลังขูดมดลูก

    วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นหลังขูดมดลูก อาจทำได้ดังนี้

    • หลังขูดมดลูกอาจมีเลือดออกประมาณ 10-14 วัน ให้ใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นรองรับเลือด และเปลี่ยนผ้าอนามัยแผ่นใหม่ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมงหรือบ่อยกว่านั้นหายมีเลือดออกมาก หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเพราะอาจทำให้ระคายเคืองและเสี่ยงติดเชื้อ
    • ไม่ควรขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังขูดมดลูก
    • กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการปวดแผลขูดมดลูก
    • ใช้แผ่นประคบร้อนวางบนท้องเพื่อลดอาการไม่สบายตัว อาการปวด หรือตะคริว
    • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหักโหมหรือยกของหนักหลังขูดมดลูก
    • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด
    • งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงในการตกเลือดหรือติดเชื้อ

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    ผู้ป่วยอาจต้องไปพบคุณหมอเพื่อติดตามผลอีกครั้งใน 1-2 สัปดาห์หลังขูดมดลูก แต่หากมีอาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณภาวะผิดปกติที่ควรไปพบคุณหมอทันที ไม่จำเป็นต้องรอถึงวันนัดหมาย เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติมและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    • มีเลือดออกในปริมาณมาก จนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 10-20 นาที
    • มีลิ่มเลือดเป็นก้อนออกมาจากช่องคลอด
    • มีไข้
    • ปวดหรือเป็นตะคริวนานกว่า 48 ชั่วโมงหรือ 2 วัน
    • มีอาการปวดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่หายไปแม้ว่าจะกินยาแก้ปวดแล้ว
    • มีตกขาวที่ส่งกลิ่นเหม็น หรือมีหนองไหลออกจากช่องคลอด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 07/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา