backup og meta

วิธีเก็บนมแม่ เก็บอย่างไรให้ถูกวิธีและคงคุณค่าสารอาหาร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 05/10/2022

    วิธีเก็บนมแม่ เก็บอย่างไรให้ถูกวิธีและคงคุณค่าสารอาหาร

    วิธีเก็บนมแม่ สำหรับลูกน้อยเวลาที่คุณแม่ไม่อยู่บ้านนั้น ปัจจุบันนี้ สามารถทำได้สะดวกมากขึ้นเพราะมีอุปกรณ์ที่สามารถช่วยให้จัดเก็บนมแม่ได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม คุณแม่มือใหม่ควรศึกษาวิธีการเก็บนมแม่ให้ถูกต้อง เพื่อจะได้รักษาประโยชน์และคงคุณค่าสารอาหารของน้ำนมแม่ไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะหากเก็บรักษาไม่ถูกวิธีอาจลดทอนคุณค่าสารอาหารในน้ำนม

    นมแม่เก็บได้นานแค่ไหน

    เมื่อคุณแม่ปั๊มนมเสร็จแล้วอาจสงสัยว่า นมแม่นั้นสามารถเก็บไว้ได้นานเท่าไร ซึ่งการเก็บแต่ละวิธีนั้น อาจทำให้ระยะช่วงเวลาในการเก็บน้ำนมนั้นไม่เท่ากัน

    • เก็บนมแม่ไว้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บได้นาน 4-6 ชั่วโมงหลังจากปั๊มนม
    • เก็บในแพ็คคูลเลอร์มีฉนวนกันความร้อนพร้อมถุงน้ำแข็ง ซึ่งคุณแม่ใส่นมแม่ลงในถุงเก็บความเย็นสามารถเก็บได้นาน 24 ชั่วโมงหลังปั๊มนม
    • หากแช่ไว้ในตู้เย็น นมแม่สามารถอยู่ได้นาน 4 วัน
    • ตู้แช่แข็งแบบเฉพาะ เมื่อคุณแม่ปั๊มน้ำนมออกมาใหม่สามารถเก็บไว้ที่ตู้แช่แข็งได้นาน 12 เดือน แต่ควรใช้ให้หมดภายในหกเดือน เพราะถึงอย่างไร ก็ไม่ควรเก็บนมแม่ไว้นานจนเกินไป เพราะคุณประโยชน์จากนมแม่อาจน้อยลง

    อุปกรณ์สำหรับเก็บนมแม่

    คุณแม่สามารถใช้แก้วที่สะอาดหรือขวดพลาสติกแข็งปลอดสาร BPA ที่มีฝาปิดแน่น หรือสามารถใช้ถุงพลาสติกพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อเก็บน้ำนม ที่สำคัญไม่ควรใช้ที่เก็บนมแบบใช้แล้วทิ้งหรือถุงพลาสติกอื่น ๆ เพื่อเก็บน้ำนมแม่ เนื่องจากอาจสะอาดไม่พอ หากลูกน้อยดื่มเข้าไป อาจทำให้ป่วยได้

    วิธีเก็บนมแม่ ควรทำอย่างไร

    ควรเก็บนมแม่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อง่ายต่อการนำหยิบออกมาเทใส่ขวดให้ลูกน้อย ดังนี้

    • ติดฉลากขวดนมพร้อมเขียนกำกับแสดงวันที่อย่างชัดเจน เพื่อนำน้ำนมแม่ที่ปั๊มออกมาให้ลูกน้อยดื่มก่อน
    • ควรแช่แข็งน้ำนมในปริมาณเล็กน้อย (2 ถึง 4 ออนซ์ หรือ ¼ ถึง ½ ถ้วย) เท่านั้น เพื่อให้พอดีกับปริมาณที่ลูกน้อยควรดื่มในแต่ละครั้ง
    • ปิดปากถุง หรือปากขวดที่เก็บน้ำนมแม่ให้สนิท
    • ควรเก็บนมไว้ที่ช่องแช่แข็ง

    สิ่งที่ไม่ควรทำสำหรับ การเก็บน้ำนมแม่

    การเก็บน้ำนมแม่ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่อไปนี้

    • คุณแม่ไม่ควรบรรจุน้ำนมจนเกินปริมาตรที่กำหนด
    • ไม่ควรวางน้ำนมบริเวณชั้นวางตรงประตูภายในตู้เย็น เนื่องจากชั้นวางตรงข้างประตูภายในตู้เย็นมีอุณหภูมิไม่คงที่ไม่เหมาะสำหรับการเก็บน้ำนมแม่
    • ไม่ควรเติมน้ำนมแม่ที่ปั๊มได้ใหม่ลงในน้ำนมเก่า เพราะอาจทำให้นมเสียได้
    • ไม่ควรนำนมแม่ที่ละลายแล้วกลับมาแช่แข็งซ้ำ
    • ไม่ควรละลายนมแม่ด้วยการต้มหรือใช้ไมโครเวฟ เพราะจะทำให้นมแม่สูญเสียคุณค่าทางอาหาร

    วิธีละลายน้ำนม

    หลังปั๊มนมเก็บไว้ เมื่อนำออกมา ควรละลายน้ำนมด้วยวิธีต่อไปนี้

    • ละลายนมแม่ที่เก่าสุดก่อนเสมอ
    • ควรนำน้ำนมออกมาอยู่ในอุณหภูมิห้องก่อนเวลาที่ต้องการใช้เล็กน้อย
    • วางถุงเก็บน้ำนมลงในชามน้ำอุ่นหรือถือไว้ใต้น้ำอุ่น แต่ไม่ร้อนจนเกินไป หรือใช้น้ำไหลผ่านประมาณสองถึงสามนาที
    • เมื่อละลายน้ำนมแม่แล้ว ควรให้ลูกดื่มภายใน 2 ชั่วโมง

    วิธีปั๊มนม

    เพื่อให้ได้นมเก็บไว้สำหรับลูกน้อย คุณแม่อาจเลือกปั๊มนมด้วยวิธีต่อไปนี้

    • คุณแม่อาจปั๊มน้ำนมได้ด้วยมือเปล่า โดยการปั๊มมือหรือใช้เครื่องปั๊มนมไฟฟ้าเพื่อความสะดวกมากยิ่งขึ้น หากใช้เครื่องปั๊มนมไฟฟ้า ให้ตรวจสอบชุดปั๊มและท่อให้แน่ใจว่าสะอาด
    • การปั๊มนมแม่ด้วยมือ เมื่อคุณแม่เห็นน้ำนมออกมาจากเต้านมแล้วให้ใช้นิ้วกด บีบ คลาย และเปลี่ยนตำแหน่งนิ้วเป็นระยะ ๆ เพื่อให้น้ำนมไหลออกมาให้หมด หลังจากที่ระบายนมเสร็จแล้ว สามารถถ่ายโอนน้ำนมไปยังขวด หรือใส่ถุงเก็บ ซึ่งก่อนเก็บน้ำนม ควรบีบน้ำนมทิ้งก่อน 3 ครั้ง แล้วค่อยรองเก็บ
    • การปั๊มนม ควรรักษาความสะอาด โดยล้างมือและล้างภาชนะทั้งหมด รวมไปถึงการเก็บน้ำนมให้ถูกวิธี เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนมแม่ การเก็บนมแม่ในอุณหภูมิที่ต่างกัน อาจส่งผลต่อระยะเวลาในการเก็บน้ำนมตามที่กล่าวมาข้างต้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 05/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา