backup og meta

อาการคัดเต้า ไม่ได้ท้อง มีสาเหตุมาจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/02/2024

    อาการคัดเต้า ไม่ได้ท้อง มีสาเหตุมาจากอะไร

    อาการคัดเต้า ไม่ได้ท้อง เป็นอาการเจ็บปวด บวม กดแล้วเจ็บและไม่สบายตัวบริเวณเต้านม ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การผลิตน้ำนม และการเพิ่มขึ้นของปริมาณเลือดที่ไหลเวียนไปยังเต้านม ส่งผลให้มีอาการคัดเต้าแต่ไม่ได้ท้องเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งอาการคัดเต้าเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อาการคัดเต้ายังอาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพบางชนิดได้เช่นกัน

    อาการคัดเต้า ไม่ได้ท้อง เกิดจากอะไรได้บ้าง

    อาการคัดเต้า ไม่ได้ท้อง อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

    • อาการคัดเต้าก่อนมีประจำเดือน เป็นสัญญาณก่อนมีประจำเดือนที่เกิดจากระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เต้านมขยายใหญ่ คัดตึง และเจ็บปวดเมื่อสัมผัส โดยอาการคัดเต้าจะหายไปในวันที่ประจำเดือนมาวันแรก แต่หากตั้งครรภ์อาการคัดเต้าจะเกิดขึ้นประมาณสัปดาห์ที่ 1-2 ของการตั้งครรภ์ และจะเกิดขึ้นติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน
    • ซีสต์เต้านม (Fibrocystic Breast Disease) เกิดจากเนื้อเยื่อเต้านมเป็นพังผืดและถุงน้ำเต้านมเต็มไปด้วยของเหลวอาจเกิดขึ้นเพียงข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนเกิดเป็นก้อนเนื้อ ซึ่งมีปัจจัยมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะในช่วงก่อนมีประจำเดือน อาจทำให้มีอาการเจ็บ คัดเต้า บวม ไม่สบายเต้านมและใต้วงแขน มีก้อนที่เต้านมก่อนมีประจำเดือนในแต่ละครั้ง ซึ่งก้อนที่เกิดขึ้นจะหายไปเมื่อประจำเดือนมา
    • อาการคัดเต้าในผู้หญิงให้นมลูก เป็นสัญญาณเริ่มต้นของการผลิตน้ำนมมักเกิดขึ้นประมาณ 1-4 วันหลังคลอด โดยเลือดจะไหลเวียนไปยังเต้านมมากขึ้น ทำให้เต้านมมีน้ำนม เลือด และของเหลวอื่น ๆ ในปริมาณมาก ทำให้มีอาการคัดเต้า เต้านมแข็ง เจ็บหัวนม หน้าอกอุ่น นุ่ม เจ็บปวด และอาจมีไข้ต่ำ ๆ หากไม่ได้รับการกระตุ้นและบีบน้ำนมออกอย่างเหมาะสม
    • อาการคัดเต้าจากภาวะเต้านมอักเสบ มีสาเหตุมาจากน้ำนมที่ค้างอยู่ในเต้านม เนื่องจากท่อน้ำนมอุดตันจนนำไปสู่การติดเชื้อที่เต้านม หรืออาจมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียบนผิวหนังหรือจากปากทารกเข้าสู่ท่อน้ำนมผ่านรอยแตกของหัวนม ทำให้เกิดการติดเชื้อจนอักเสบขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีอาการคัดเต้า เจ็บปวด แสบร้อนตลอดเวลาหรือขณะให้นมลูก เต้านมบวมและอุ่น ผิวแดงและมีไข้

    วิธีบรรเทาอาการคัดเต้า ไม่ได้ท้อง

    วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านมแต่ไม่ได้ท้อง อาจทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับสาเหตุหลักของอาการ ดังนี้

    อาการคัดเต้าก่อนมีประจำเดือนและซีสต์เต้านม

  • สวมใส่เสื้อชั้นในที่มีขนาดพอดีกับเต้านม ไม่คับแน่เกินไป ซึ่งอาจช่วยพยุงเต้านมและบรรเทาอาการคัดตึงได้
  • รับประทานอาหารที่มีสารอาหารหลากหลาย ไขมันต่ำ น้ำตาลต่ำ และโปรตีนสูง เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล และอาจช่วยลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อได้
  • รับประทานอาหารเสริม เช่น แมกนีเซียม วิตามินอี วิตามินบี 6 อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด คัดตึงเต้านมและอาการอื่น ๆ ก่อนมีประจำเดือนได้
  • งดหรือหลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม กาแฟ ชา โกโก้ เนื่องจากคาเฟอีนอาจเกี่ยวข้องกับการหดเกร็งกล้ามเนื้อที่ทำให้มีอาการปวดได้
  • อาการคัดเต้าในผู้หญิงให้นมลูกและภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis)

    • ให้ลูกกินนมจากข้างที่มีอาการคัดตึงก่อน เพื่อช่วยระบายน้ำนมในเต้านม และควรให้นมลูกบ่อย ๆ ในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากคลอดทุก 2-3 ชั่วโมง และควรบีบน้ำนมออกให้เกลี้ยงเต้าทั้ง 2 ข้าง
    • ก่อนให้นมลูกควรกระตุ้นให้น้ำนมไหลด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น บิดหมาดประคบบนหน้าอก หรืออาบน้ำอุ่นประมาณ 10-20 นาที
    • นวดเต้านมทั้งก่อนและระหว่างการให้นม โดยนวดตั้งแต่ช่วงบนทรวงอกไปยังหัวนม
    • หากเต้านมแข็งให้บีบด้วยมือหรือที่ปั๊มนมเล็กน้อยก่อนให้นม จะช่วยให้เต้านมนิ่ม ทำให้ลูกดูดนมได้ง่าย และอาจช่วยให้สบายเต้านมมากขึ้น
    • สำหรับผู้ที่มีภาวะเต้านมอักเสบอาจรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะและยาแก้ปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/02/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา