backup og meta

ริดสีดวง หลังคลอด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    ริดสีดวง หลังคลอด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

    ริดสีดวงเป็นภาวะสุขภาพที่พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือเดือนที่ 7-9 ของการตั้งครรภ์ แต่บางครั้ง แม้จะคลอดบุตรแล้ว ก็อาจเกิดภาวะ ริดสีดวง หลังคลอด ได้ภายใน 1 เดือนหลังคลอด ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การขยายตัวของมดลูกระหว่างตั้งครรภ์ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก อาการท้องผูก การคลอดตามธรรมชาติที่ต้องออกแรงเบ่ง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้เกิดก้อนนูนหรือติ่งเนื้อที่อาจยื่นออกมาขณะถ่ายอุจจาระ มีเลือดออกภายหลังถ่ายอุจจาระ หรือเกิดอาการเจ็บและคันบริเวณทวารหนัก ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และการดูแลลูกหลังคลอด โดยทั่วไป อาการของริดสีดวงหลังคลอดมักหายไปเองภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอ

    สาเหตุที่ทำให้เกิด ริดสีดวง หลังคลอด

    ภาวะริดสีดวงหลังคลอด อาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้

    • การขยายตัวของมดลูก หญิงตั้งครรภ์มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและร่างกายทารกในครรภ์ขยายใหญ่ขึ้นจนเพิ่มแรงดันในช่องท้องและกระดูกอุ้งเชิงกราน ทำให้เลือดไหลเวียนจากบริเวณกระดูกอุ้งเชิงกรานได้ยากขึ้น ส่งผลให้เลือดคั่งค้างและก่อตัวเป็นริดสีดวงบริเวณทวารหนัก
    • อาการท้องผูก หญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในระยะใกล้คลอดอาจมีอาการท้องผูกเนื่องจากจากทารกในครรภ์ตัวใหญ่ขึ้น มดลูกขยายตัวและกดทับหน้าท้องและลำไส้ใหญ่ จนส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร ทำให้ต้องนั่งถ่ายอุจจาระนานและออกแรงเบ่งเยอะขณะขับถ่าย อาจทำให้เส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพอง จนเกิดเป็นริดสีดวงได้
    • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ในขณะตั้งครรภ์ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผนังเส้นเลือดคลายตัวและอาจบวมพองได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคริดสีดวง
    • ทารกตัวใหญ่ การออกแรงเบ่งคลอดและการคลอดทารกที่น้ำหนักมากกว่า 3.8 กิโลกรัม อาจเพิ่มแรงดันบริเวณทวารหนัก และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะริดสีดวงหลังคลอดได้
    • การใช้เวลาคลอดนาน การใช้เวลาคลอดบุตรนานกว่า 12 ชั่วโมง จะทำให้ร่างกายส่วนล่างได้รับแรงดันอย่างต่อเนื่อง จนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดริดสีดวงหลังคลอดได้
    • รับประทานอาหารเสริมมากไป อาหารเสริม เช่น อาหารเสริมธาตุเหล็ก อาจระคายเคืองกระเพาะอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก และทำให้เกิดริดสีดวงได้
    • การคลอดธรรมชาติ การคลอดธรรมชาติที่ต้องออกแรงเบ่งบริเวณช่องคลอด และการคลอดทางช่องคลอดโดยอาศัยเครื่องมือ (Instrumental vaginal delivery) อาจเพิ่มความดันให้กับหลอดเลือดบริเวณทวารหนักจนโป่งพอง เกิดเป็นริดสีดวงหลังคลอดได้

    อาการของริดสีดวงหลังคลอดเป็นอย่างไร

    อาการของริดสีดวงหลังคลอด อาจมีดังนี้

    • มีก้อนเนื้อรอบปากทวารหนัก
    • เจ็บปวดตอนถ่ายอุจจาระ
    • เจ็บทวารหนัก และทวารหนักบวม
    • อาการคันบริเวณทวารหนัก
    • มีเลือดปนในอุจจาระ
    • รู้สึกเหมือนถ่ายอุจจาระไม่สุดทั้งที่เพิ่งถ่ายเสร็จ
    • มีเมือกติดอยู่ที่กางเกงชั้นในหรือกระดาษชำระที่ใช้เช็ดบริเวณทวารหนัก

    วิธีรักษาริดสีดวงหลังคลอด

    วิธีรักษาริดสีดวงหลังคลอด อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวดที่ทวารหนัก
    • รับประทานยาระบายที่ออกฤทธิ์ทำให้อุจจาระนิ่ม (Stool softener laxatives) อาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูกและลดอาการระคายเคืองเมื่อถ่ายอุจจาระขณะเป็นริดสีดวงหลังคลอดได้ ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
    • แช่น้ำอุ่นวันละ 2-3 ครั้ง ๆ ละประมาณ 15 นาที 2-3 ครั้ง อาจช่วยให้ริดสีดวงทวารหดตัวลงได้
    • ใช้แผ่นเจลเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณทวารหนักวันละ 2-3 ครั้ง ๆ ละประมาณ 20-30 นาที เพื่อบรรเทาอาการปวด โดยควรระวังไม่ให้แผ่นเจลหรือห่อน้ำแข็งสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง

    หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ทุเลา หรือมีอาการก้อนที่ยื่นทางทวารหนักยื่นโผล่ค้าง เจ็บปวดมาก แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอ

    การดูแลตัวเองเมื่อเป็น ริดสีดวง หลังคลอด

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นริดสีดวงหลังคลอด สามารถทำได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่ไฟเบอร์สูง เช่น ผักใบเขียวอย่างบรอกโคลี คะน้า กะหล่ำปลี ชะอม ผลไม้อย่างอะโวคาโด ลูกพรุน ฝรั่ง พืชตระกูลถั่วอย่างถั่วลันเตา ถั่วดำ ถั่วเขียว ธัญพืชเต็มเมล็ดอย่างข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีต เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขยายใหญ่ขึ้น สามารถขับถ่ายออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น
    • ดื่มน้ำเยอะ ๆ เนื่องจากน้ำจะช่วยลำเลียงสารอาหารไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและช่วยในการขับถ่าย ลดอาการท้องผูกที่อาจทำให้เกิดริดสีดวงได้ ผู้หญิงที่ให้นมบุตรควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายเสียไปในการผลิตน้ำนม
    • หลีกเลี่ยงการนั่งอยู่กับที่นานเกินไป เพราะอาจเพิ่มความดันให้กับหลอดเลือดบริเวณทวารหนัก อาจเปลี่ยนท่าทางเป็นนอนตะแคงเมื่อถึงเวลาให้นม
    • ออกกำลังกายหรือขยับร่างกายเท่าที่ทำได้ เช่น เดินเล่นในระยะทางสั้น ว่ายน้ำ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการท้องผูกได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา