backup og meta

ออทิสติก ป้องกันได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จริงหรือ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 06/12/2021

    ออทิสติก ป้องกันได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จริงหรือ

    ออทิสติก (Autistic Disorder) หรือ ออทิสซึม (Autism) เกิดจากพัฒนาทางสมองที่ผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของเด็กในหลายๆ ด้าน เช่น ทักษะทางภาษา ความสามารถในการเรียนรู้ ทักษะในการเข้าสังคม แม้ในปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อกันว่า ออทิสติกนี้น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา แต่ที่น่าสนใจคือมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นภาวะที่อาจป้องกันได้

    ออทิสติก กับการชะงักงันของพัฒนาการทางสมอง

    ในวงการแพทย์ มีการตั้งข้อสงสัยกันมานานแล้วว่า หากพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ถูกรบกวน จนเกิดการชะงักงัน อาจส่งผลให้ทารกเกิดออทิสติก หรือออทิสซึมได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และปัญหาดังกล่าวอาจเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนปฏิสนธิเลยก็ได้ และเพิ่งมีการยอมรับกันเมื่อไม่นานมานี้ว่า เปลือกสมองชั้นนอกของเด็กที่เป็นออทิสติกนั้น มีส่วนของเซลล์ที่ทำงานไม่สอดประสานกัน ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะดังกล่าว

    ออทิซึมสามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างตั้งครรภ์

    จากการศึกษาเด็กที่มีภาวะออทิสติกหลังจากเสียชีวิต พบว่า สมองชั้นนอกบางส่วนของเด็กที่เป็นออทิสติกนั้นหยุดการเจริญเติบโต ซึ่งเนื้อเยื่อของสมองที่หยุดการเจริญเติบโตนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนคลอด ดังนั้น จึงเป็นไปได้สูงมากที่ออทิสติกอาจเกิดขึ้นในช่วงของการตั้งครรภ์  โดยส่วนของสมองที่หยุดการเจริญเติบโตนี้ ปรากฎอยู่ในเนื้อเยื่อสมอง และปราศจากลักษณะทางพันธุกรรมบางประการ ยิ่งไปกว่านั้น สมองส่วนดังกล่าว มักจะอยู่ในบริเวณที่มีความสำคัญต่อการทำงานของสมองเป็นอย่างมากด้วย

    ออทิสติกอาจดีขึ้นได้หากได้รับการรักษาเร็ว

    ความผิดปกตินี้เกิดขึ้นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ และไม่ได้กลายเป็นความผิดปกติในวงกว้าง ดังนั้น การรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่นๆ คือไม่เกินช่วงวัยเตาะแตะ จึงอาจช่วยให้เด็กมีอาการดีขึ้นได้ เนื่องจากสมองมีวิธีการบางอย่างในการจัดระบบ และเอาชนะความผิดพลาดดังกล่าวนี้ได้ นักวิจัยเชื่อว่า ยิ่งเด็กได้รับการรักษาเร็วเท่าไร การรักษาก็จะยิ่งได้ผลดีขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันในวงการแพทย์ ยังมีการค้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการตรวจหาออทิสติกให้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการตั้งครรภ์

    สาเหตุที่เป็นไปได้ของออทิซึม

    อย่างไรก็ตาม ยังไม่หลักฐานยืนยันว่า ออทิสติกเริ่มเกิดขึ้นในการตั้งครรภ์ระยะใด ที่สำคัญยังไม่มีการค้นพบสาเหตุที่ทำให้พัฒนาการทางสมองถูกขัดขวางในระยะเริ่มแรก

    แต่ในเบื้องต้นอาจสรุปได้ว่า ออทิสติกนั้นเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ในบางครั้ง อาจเกิดจากสาเหตุทั้งสองประการก็ได้ สำหรับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมนั้น ได้แก่ การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน การขาดวิตามินดีและโฟเลต และการสัมผัสกับเชื้อไวรัส

    วิธีที่อาจช่วยป้องกันลูกเป็นออทิสติก

    แม้แพทย์จะไม่สามารถตรวจหาออทิสติกได้ตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์ และภาวะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตอาจช่วยป้องกันลูกน้อยจากออทิสติกได้

    หลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษ

    เชื่อกันว่า เด็กที่เกิดจากแม่ที่ได้รับมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงในการเป็นโรคออทิสติกถึงสองเท่า แต่คุณแม่อาจหลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากกรองฝุ่นละออง อยู่แต่ในบ้านหากสภาพอากาศแย่ ไม่ทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการออกกำลังกาย ในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด

    นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และงดคาเฟอีน หันไปใช้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค หรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ งดกินอาหารกระป๋อง น้ำบรรจุขวด รวมถึงงดใช้ยาฆ่าแมลง เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

    ได้รับสารอาหารครบถ้วน

    คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถลดความเสี่ยงอทิสติกในเด็กได้ ด้วยการกินอาหารให้หลากหลาย กินผักผลไม้หลายๆ สีเพราะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ควรได้รับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไร้ไขมัน เช่น เนื้อไก่ หรือถั่วต่างๆ อย่างน้อยวันละ 80 กรัม และควรลดข้าวขัดขาว แป้งขัดขาว น้ำตาลทรายขาว รวมถึงดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว จำกัดปริมาณสารปรอท และได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 โฟเลตและวิตามินดีอย่างเพียงพอ เพราะจะช่วยให้ระบบประสาทและสมองของทารกในครรภ์พัฒนาได้ดีขึ้น

    รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

    การเข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ไม่ควรละเลย เพราะปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์สามารถส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์ได้โดยตรง และการตรวจสุขภาพก็จะช่วยให้สามารถตรวจพบปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนหัดเยอรมันและวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วย เพราะมีผลการศึกษาที่พบว่า การติดเชื้อไวรัสนั้นส่งผลกระทบต่อเซลล์สมองและการเชื่อมของระบบประสาท อีกทั้ง คุณแม่ควรระวังอย่าให้เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และหากเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านซึมเศร้าด้วย

     

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 06/12/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา