อาการเตือน คนเริ่มท้อง ที่สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ส่วนใหญ่คืออาการประจำเดือนขาด คลื่นไส้ อาเจียน และอาการแพ้ท้องอื่น ๆ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้ก็อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นได้ ดังนั้น จึงควรตรวจครรภ์เพื่อให้แน่ใจ
[embed-health-tool-due-date]
อาการเตือน คนเริ่มท้อง
อาการเตือน คนเริ่มท้อง สามารถสังเกตได้จากอาการ ดังต่อไปนี้
- ประจำเดือนขาด หากประจำเดือนไม่มานานเกิน 1 สัปดาห์ขึ้นไป จากเดิมที่เคยมาเป็นประจำตามปกติ อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้การตั้งท้อง แต่สำหรับผู้ที่มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอก็อาจเข้าใจผิดได้
- คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการแพ้ท้อง สามารถเกิดอาการได้ทุกเวลา อาการแพ้ท้องนี้มักเกิดขึ้นหลังจากที่ตัวอ่อนปฏิสนธิได้ 1 เดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย แต่อาการแพ้ท้องขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางคนอาจมีอาการรุนแรง บางคนอาจไม่พบอาการ
- หน้าอกบวม เนื่องจากอาจมีเลือดไปเลี้ยงบริเวณหน้าอกมากขึ้น ทำให้รู้สึกเจ็บ ไวต่อสัมผัส อาจมีอาการคัดเต้านมคล้าย ๆ กับอาการก่อนมีประจำเดือน อาการอาจบรรเทาลงภายใน 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากร่างกายมีการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- เหนื่อยล้า เกิดจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้รู้สึกง่วงนอน นอกจากนี้ ความเหนื่อยล้าขณะตั้งท้องอาจมีสาเหตุมาจากโรคโลหิตจาง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กจึงอาจช่วยป้องกันโรคโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็กได้
- อารมณ์เเปรปรวน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกายคุณแม่ตั้งท้อง ทำให้รู้สึกหงุดหงิดง่าย โมโหง่าย อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ แต่ถ้าหากรู้สึกหดหู่ระหว่างตั้งท้อง ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นซึมเศร้าระหว่างตั้งท้อง
- ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายปรับตัวเพื่อให้คุณแม่มีสารอาหารสะสมเพียงพอสำหรับลูกที่อยู่ในท้อง ดังนั้น คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเพิ่มปริมาณอาหารให้เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้พลังงานและแร่ธาตุอย่างแคลเซียมอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ บางคนอาจรู้สึกไวต่อกลิ่นบางอย่างมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารนั้น ๆ ได้
- ปัสสาวะบ่อย การตั้งท้องอาจทำให้ระดับของเหลวในร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้ไตขับของเสียในรูปของปัสสาวะมากขึ้น ทำให้อาจไปรบกวนการนอนหลับพักผ่อนได้
- อาการท้องผูก ในระหว่างตั้งท้อง ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น อาจทำการบีบตัวของลำไส้ลดลง รวมถึงมดลูกอาจไปทับลำไส้ใหญ่ ส่งผลอาจทำให้ท้องผูกได้ เพื่อบรรเทาอาการ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ 7-8 แก้วต่อวัน กินอาหารที่มีเส้นใยสูง และออกกำลังกาย
- ตกขาวผิดปกติ เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีการสร้างมูกบริเวณปากมดลูกมากขึ้น และออกมาเป็นตกขาว ไม่มีกลิ่น
นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น เวียนหัว ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ร่วมด้วย
เมื่อรู้ว่ากำลังท้อง ควรทำอย่างไร
เมื่อรู้ว่ากำลังท้อง สิ่งที่ควรปฏิบัติสำหรับคุณแม่มือใหม่ อาจมีดังต่อไปนี้
- ไปพบคุณหมอ เพื่อทำการทดสอบการตั้งครรภ์ให้แน่ชัด และเมื่อรู้ว่าท้อง คุณหมอจะแนะนำให้เข้าสู่ขั้นตอนการฝากครรภ์ นอกจากนี้ หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีปัญหาสุขภาพจิต หรือปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ควรปรึกษาคุณหมอ
- รับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์ โดยเฉพาะกรดโฟลิก วิตามินที่สามารถพบได้ในผักใบเขียว เช่น กะหล่ำ คะน้า บร็อคโคลี่ รวมถึงผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว เพื่อช่วยเสริมสร้างและแบ่งเซลล์ตัวอ่อนในครรภ์ให้สมบูรณ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานกรดโฟลิกประมาณ 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นประจำ วันละประมาณ 30-45 นาที เช่น โยคะ ว่ายน้ำ อาจช่วยให้คุณแม่ตั้งท้องมีสุขภาพที่แข็งแรง
- หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น เนื้อดิบ ปลาดิบ ไข่ที่ปรุงไม่สุก เพราะอาจทำให้คุณแม่ หรือเด็กในท้องเจ็บป่วยได้ เนื่องจากอาหารที่ปรุงไม่สุกอาจมีเชื้อแบคทีเรีย และพยาธิเจือปน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากสารบางอย่างในบุหรี่ เช่น นิโคติน สารหนู หรือในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เอทานอล อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการเด็กในท้องได้